ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลิ่นอายบรรยากาศการเลือกตั้งยังคงคลุ้งอยู่ทุกอณูในสังคมไทย ที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือ การที่ ‘คนรุ่นใหม่’ หันมาสนใจการเมือง ทั้งยังแสดงความคิดเห็น และประกาศความต้องการของตัวเองออกมาอย่างชัดเจน ผ่านโลกออนไลน์นั้น ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์สั่นสะเทือนสังคม และอาจจะสร้างความตื่นตระหนกตกใจให้กับฝ่ายผู้มีอำนาจ ที่มองว่าการตื่นตัว และหันมาวิพากษ์รัฐบาลอย่างไม่เกรงกลัวนั้น กำลังสร้างความ ‘ไม่สงบ’ ที่จะทำให้เกิด ‘ความไม่มั่นคง’ แก่ประเทศชาติ

บทสนทนาครั้งนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่อง ‘คนรุ่นใหม่และการเมือง’ กับ ‘รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์’ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ซึ่งเพิ่งมี ‘ทวิตเตอร์’ เป็นของตัวเองเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังลูกชายที่ชื่อว่า ‘จอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์’ ได้สมัครแอคเคาท์ให้

ไม่นานหลังจากก้าวเข้าสู่สนาม ‘ทวีตภพ’ อาจารย์โกวิท ก็กลายเป็นที่สนใจของโลกโซเชียล ชนิดที่เรียกว่า มาทีหลังดังกว่า (ลูกชาย)

ย่างเท้าเข้าสู่โลกออนไลน์เต็มตัว

พวกลูกสาวลูกชายบอกกับผมว่า หากอยากตามโลกให้ทัน ต้องใช้ทวิตเตอร์ เพราะมันเร็วกว่ามาก เร็วที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด แพร่ขยายได้เร็วที่สุด จริงๆ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 7 เม.ย. มันก็พิสูจน์แล้วพอสมควรสำหรับตัวผมเอง

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. จอห์นเขามาสอนผมเล่นทวิตเตอร์ ผมก็เล่นตั้งแต่นั้นมา ไอ้ทวิตเตอร์ที่จริงมันก็สะดวกดี เพราะมันพูดสั้นๆ พูดมากไปมันก็ไม่ให้พิมพ์แล้ว (หัวเราะ)

การเมืองยุคดิจิตอล

ก็คือผู้คนรับทราบข้อมูลที่หลากหลาย ทำให้คนสามารถวินิจฉัยตัดสินใจได้มีเหตุมีผล มันสะดวกยิ่งขึ้น แทนที่จะรับแต่ข้อมูลฝ่ายเดียวจากรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาก็เห็นๆ กันอยู่ว่าความสำคัญของการสื่อสารกับประชาชนเริ่มจากวิทยุ พอเริ่มมีวิทยุขึ้นมาก็เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดของรัฐบาล เวลาจะยึดอำนาจกันครั้งใด สิ่งแรกที่ต้องทำ คลาสสิกเลย ต้องยึดสถานีวิทยุ แต่ยิ่งพอเข้ามาสมัยดิจิตอล ควบคุมมันก็ควบคุมไม่ได้

คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่

ความจริงมันเป็นจุดเริ่มต้นทางด้านธุรกิจที่จะจัดคนว่า เป็นแบบลักษณะประจำวัยก็คือหมายความว่า มองดูกว้างๆ ว่า คนเกิดในช่วงนี้ อายุขนาดนี้ ความคิดความอ่านแล้วก็ลักษณะนิสัยใจคอเป็นทางไหน ที่มันมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันพอที่จะทำนายได้ ก็แบ่งเป็นว่า เริ่มต้นเป็นเบบี้บูม ก็คือเด็กที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็พวกผมนี่แหละ มันก็มีเยอะที่สุด เสร็จแล้วต่อมามันก็เรียกว่าเจเนอร์เรชั่น B ต่อมาก็เป็น เจเนอร์เรชั่น X ซึ่งก็คือลูกของพวกนี้ นิสัยใจคอ รสนิยมอะไรต่างๆ มันก็ไม่เหมือนกัน เพราะว่าโลกมันเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยน และพอจากลูกของพวกเจเนอร์เรชั่น X ก็เป็นพวกของเจเนอร์เรชั่น Y มันก็มี B X และ Y ต่อมาก็เป็น Z

แล้วตอนหลังก็เป็นพวกปี 2000 อีก ตอนนี้ก็อายุ 19 แล้ว อย่าลืมว่า 18 เลือกตั้งได้ คนรุ่นใหม่ผมคิดว่าก็เป็นพวก Y Z และ Millennial ถ้าเผื่อจะพูดแบบคร่าวๆ นะ ก็สัก 45 ถึง 90 ไปละกัน ก็เป็นพวกรุ่นเก่า

แล้วคนที่มีอายุเยอะ แต่เปิดใจรับฟังการเปลี่ยนแปลงได้ อาจารย์คิดว่าอย่างไร?

อันนั้นแหละผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ ก็น่าจะเป็นตัวอย่าง และตัวบ่งชี้ที่ชัดกว่า เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงยอมรับได้หรือเปล่า คุณก็ทราบธรรมชาติของโลกอยู่แล้ว มันก็เปลี่ยนตลอดเวลานั่นแหละ เราก็นับถือพระพุทธศาสนาด้วย หลักไตรลักษณ์ คือ มันเปลี่ยนอยู่ตลอด ตอนนี้พวกรุ่นเก่าที่สบาย เขามีอำนาจอยู่ เขาก็ไม่อยากให้มันเปลี่ยน ก็เท่านั้นเอง

นักศึกษารุ่นเก่า กับนักศึกษารุ่นใหม่ที่อาจารย์สอนมามีความแตกต่างไหม?

ต่างกันเยอะ ช่วงที่ผมสอนมันก็ 40 กว่าปีนะ ก็เห็นความเปลี่ยนแปลง พูดง่ายๆ ก็คือว่า ส่วนใหญ่เราก็ถูกบังคับให้ต้องเรียบร้อยอยู่แล้วใช่ไหมครับ ถ้าเผื่อพวกที่เป็น Activist สมัยก่อนจะก้าวร้าว เขาจะเถียง เขาจะปากกล้า ก็ดี ก็สนุกไปอีกอย่าง แต่ว่าสำหรับรุ่นหลังๆ ก่อนที่ผมจะเกษียณ ผมก็ตั้งข้อสังเกตว่า เด็กมันเรียบร้อยเกินไป ไม่เถียงเลย ทำเป็นเฉยๆ ไปเรื่อยๆ เขามีความคิดของเขา เขารู้เรื่องของเขา แล้วผมก็สงสัยว่ามันอาจจะรู้เรื่องดีกว่าผมอีก

เวลาตัดสินใจเขาก็ทำของเขาไปเลย ซึ่งผมก็สงสัยอยู่พอสมควร ผมก็มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่หลายคนที่ไปเป็นอาจารย์ ก็คุยกันว่าเป็นไงบ้างว่ะ สอนหนังสือสอนหนังหาเป็นอย่างไรบ้าง เขาก็บอกว่า เด็กมันรู้ดีกว่าเราอีก เพราะว่าข้อมูลจากในมือถือเขาเนี่ย

ผมก็เลยมาสรุปว่า ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง สงสัยว่ามันจะมีอะไรถล่มทลายขึ้นมาจริงๆ รู้สึกว่าผมไปพูดในคืนเลือกตั้ง ว่าน่าจะถึง 80 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่เนี่ย น่าจะถึง ผมจำได้ว่าพูดอยู่ ซึ่งคนก็ไม่ค่อยจะเชื่อเท่าไรหรอก

ความเป็นห่วงที่คนรุ่นเก่ามีต่อคนรุ่นใหม่ กังวลเหลือเกินว่า ‘เด็กๆ’ เหล่านี้ยังไม่พร้อมจะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง หรือแสดงความคิดเห็น เพราะเรื่องการเมือง มันเป็นเรื่องสำคัญ และสลับซับซ้อน ‘เกินไป’

ผมว่าเขาก็มีสิทธิที่จะเป็นห่วงนะ แต่คราวนี้เมื่อหวนกลับไปคิดถึงตอนที่เขาเริ่มมันก็เหมือนกันแหละ!!
ใครมันจะมีประสบการณ์มาตั้งแต่แรกใช่ไหมครับ มันก็ learning by doing ทั้งนั้นแหละ

มันก็เป็นปกติธรรมดานะ มันก็มีอยู่เรื่อย แล้วไอ้คำพูดอย่างนี้ ‘ความเป็นห่วง’ อย่างนี้ก็เห็นพูดกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ไม่ใช่ของใหม่อะไรเลย

คนไทยไม่พร้อมกับประชาธิปไตย ‘แบบโลกตะวันตก’

(หัวเราะ) ก็พูดกันตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว มันก็เปลี่ยนมาเรื่อย ไม่พร้อมอะไร แล้วเมื่อไหร่จะให้พร้อม มีลูกศิษย์มาปรึกษาผม หลายคนบอกว่า อยากจะแต่งงาน ก็แต่งสิ มันยังไม่พร้อม ต้องมีรถ มีบ้าน มีอะไรให้พร้อมก่อน ก็เออ ก็คอยไปสิ สัก 60 ค่อยแต่งนะ

สิ่งที่นักการเมืองรุ่นเก่าไม่มีในการเมืองปัจจุบัน

ถ้าพูดตามความจริงมันก็จะเป็น ‘อุปกิเลส 16’ ละมั้ง ข้อที่ว่า มานะ เรื่องความถือตัวว่า ฉันแก่กว่า มีประสบการณ์มากกว่า มีความรู้มากกว่า ฉันเก่งกว่า ฉันไม่อยากยุ่งกับแก ก็เท่านั้นครับ คำว่า มานะ เนี่ย มันเป็นอุปกิเลส เป็นนิสัยที่ไม่ดี แต่เรามาแปลกันว่า เป็น ‘ความพยายาม’ เป็นความบากบั่น ผมก็แปลกใจอยู่นะ

พูดถึง ‘จอห์น วิญญู’

อันนี้ผมว่าถ้าเกิดมองกันยาวๆ นะครับ ถ้าผมจำไม่ผิดก็คือ ตั้งแต่ปี 2550 เป็น 10 ปีแล้ว เขาทำกับพี่สาวคนโตของเขา ต่อมาก็มีพี่เขยมาร่วมแจมที่เป็น พ่อหมอ ซึ่งข้อมูลที่เขานำมามันก็เป็นข้อมูลเปิดทั้งนั้น มาจากข่าวมีที่อ้างอิงอะไรต่ออะไรแล้วเรื่องไม่ชอบมาพากลอะไรต่างๆ ไม่ว่ารัฐบาลไหนเขาก็โจมตีอยู่ตลอด แล้วความไม่ชอบมาพากลมันก็เป็นสิ่งที่เห็นๆ กันอยู่ ก็เห็นเล่นกันอยู่ทุกรัฐบาลนะครับ

ที่ผมเชื่อ และมั่นใจก็คือว่า เขามีแหล่งอ้างอิง เขาไม่ได้เต้าข่าวขึ้นมาเอง หลายๆ ครั้งข้อมูลก็มาจากฝ่ายรัฐบาลนั่นแหละ

เขาว่ามีอาจารย์เป็นแบ็กให้!!

โอ่โถ่! ผมมีอะไร!! (สวนขึ้นมากลางปล้อง) ผมไม่มีอะไรเลย จริงๆ ปัดโถ่ จริงๆ (ยืนยันอีกรอบ)
ผมก็เป็นอาจารย์สอนหนังสือเท่านั้นเอง แล้วก็สอนอยู่ที่เดียว ตั้งแต่ปี 2515 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วก็เกษียณที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญมาก

คือรัฐธรรมนูญ 2540 จัดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ในความเห็นของผม พอเริ่มมีรัฐธรรมนูญ 2540 ผมก็เริ่มให้มีการคัด ไม่ใช่แต่ลูก ลูกศิษย์ก็โดนหมด คัดรัฐธรรมนูญมันไม่ใช่เรื่องสนุกนะครับ มันมีตั้ง 300 กว่ามาตรา คัดกันเป็นเล่ม บางคนเดือดร้อนทั้งครอบครัวก็มี ก็คือทั้งลูก ทั้งสามี ใครต่อใครก็ต้องมาช่วยกันคัด บางเล่มที่ทำส่งก็ลายมือต่างๆ กันเยอะ (หัวเราะสนุก)

แต่อย่างที่ว่าถ้าเรียนรัฐศาสตร์แล้วไม่เคยเห็น ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญ ผมว่ามันตลก

ผมสะกิดใจว่า เราอาจจะมองข้ามเบสิกกันเกินไป เรารู้แต่คำศัพท์ แต่ถามแล้วแปลว่าอะไร ความหมายตอบไม่ได้ อย่างคำว่า ‘ยุทธศาสตร์’ ผมพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกนะ แล้วก็รำคาญจริงๆ มีใครพูดว่า ยุทธศาสตร์ๆ กันอยู่ ไม่ได้พูดสักหน่อยท้องมันจะขึ้นหรือยังไง (อารมณ์ของอาจารย์ก็ขึ้นไปด้วย) เพราะรู้สึกว่าพูดแล้วมันเก๋อ่ะ พอถามว่ามันคืออะไรถามจริงๆ แปลว่าอะไร อ้ำๆ อึ้งๆ

หรือไม่ก็อย่างนี้ ‘รัฐชาติ’ รักเหลือเกิน ‘ชาติ’ คืออะไร ก็เสร็จใช่ไหม ผมสนใจเบสิก สนใจพื้นฐานมากกว่า เพราะรู้สึกว่าพื้นฐานของเราไม่ค่อยจะมี เราจะไปจำคำศัพท์ มาโชว์คำศัพท์กัน เอาวาทกรรมมาฟาดกัน ใช้คำศัพท์ไปๆ มาๆ โดยที่จริงๆ ก็ไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร

คนที่รักชาติต้องเป็นแบบไหน?

ประเด็นเรื่อง ‘ชาติ’ ผมยืนยันนะครับว่า สำหรับประเทศไทย เริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนหน้านี้ไม่มีนะครับ แต่ก็ไปทึกทักมาเองว่ามีตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ชาติ ก็คือต้องมีการปลูกฝัง เป็นต้นว่า เรามีรัฐแล้ว ก็คือมีอาณาเขตที่แน่นอน มีประชากร เพราะฉะนั้นต้องปลูกฝังความรู้สึกความเป็นพวกเดียวกันขึ้นมา ชาติเนี่ย ถ้าแปลตามภาษาแขก ภาษาบาลีมันแปลว่า ‘เกิด’ คือ ‘ชาตะ’ ความจริงแล้วเราเอามาจากของฝรั่ง ที่ว่า ‘Nations’ มันเป็นความรู้สึก นามธรรม ยกตัวอย่างง่ายๆ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีตั้งกี่เชื้อชาติ ขาว ดำ เหลือง เยอะแยะไปหมด แต่ว่าเขาก็มีความรู้สึกว่าเขาเป็นคนอเมริกัน เป็นพวกเดียวกัน มีความภาคภูมิใจที่จะเป็นอเมริกัน มันต้องสร้าง ถ้าไม่สร้าง มันไม่เกิดนะครับ

เรื่องชาติคือการพยายามทำให้รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน แล้วคนไหนที่พยายามทำให้มันแตก อันนั้นแหละ ‘ขายชาติ’ ที่มาแบ่งใส่เสื้อสีกัน เป็นสงครามสี

ผมก็แปลกใจ ของเรารูปร่างหน้าตาก็คล้ายๆ กันนะ แต่อุตส่าห์หาเสื้อใส่เพื่อจะตีกันให้ได้ มันเรื่องอะไร บรรพบุรุษของเราก็พยายามที่จะสร้างชาติ สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สร้างความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน มาโดยตลอด กลับมีไอ้คนรุ่นผมนี่แหละ ที่จะมาแบ่งแยก ทำไมมันเป็นอย่างนั้นครับ

คือถ้าเกิดเรารู้คำแปล คำจำกัดความที่แน่ชัด แล้วก็ยอมรับด้วยกันได้ ผมว่ามันก็หมดเรื่องหมดราว ทุกวันนี้เราไม่รู้ครับ ชาติคืออะไรก็ไม่รู้

เมื่อรัฐธรรมนูญเขียนยาว และเข้าใจยาก

คนไทยทุกคนควรต้องรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ แต่คราวนี้ผมถามจริงๆ แค่อ่านคำปรารภก็ตายแล้ว เจอ “ศุภมัสดุ” “สมพัตสร” เข้า คือรัฐธรรมนูญที่ดีไม่ควรยาว แต่ของเรานี่มันยาวขึ้นๆ ๆ ทุกทีๆ ของอเมริกาประมาณสัก 4 หน้าเท่านั้นเองมั้ง คำปรารภเขาก็ 3-4 บรรทัด ของเรามันอะไรกัน เขียนมันซะยาว (น้ำเสียงหงุดหงิดเล็กน้อย)

ผลที่สุดก็คือ ไม่มีใครอ่าน แล้วจะว่าเขาก็ไม่ได้เพราะอ่านไม่รู้เรื่อง ผมท้าเลยว่าไปอ่านคำปรารภมา 5-6 บรรทัดแรก แล้วรู้เรื่องมาเหยียบผมเลยเอา

เป็นหลักการอยู่แล้ว เป็นหลักการข้อ 1 ที่ว่ารัฐธรรมนูญที่ดีไม่ควรจะยาวเกินไป ของเรามันยาวเกินกว่าเหตุ แพ้รัฐธรรมนูญอินเดียหน่อยหนึ่งเท่านั้นแหละครับ

ทวีตเรื่อง ศีล 5 อันดุเดือด!!

ทวิตเตอร์คุณก็รู้ใช่ไหมว่า มันมีจำกัด เขียนยาวไม่ได้ ในฐานะที่ผมเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ท่านได้ทรงก่อตั้งขึ้น แล้วท่านก็เคยเขียนพระราชนิพนธ์ เรื่องพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร แล้วผมก็จำได้ ผมอ่านตั้งแต่เด็กว่า หัวใจของพระพุทธศาสนาก็คือ มี 3 ข้อ คือ ละเว้นความชั่ว ทำความดี และทำใจให้บริสุทธิ์

ศีล 5 มันก็คือ ละเว้นความชั่ว ไม่ๆๆๆๆๆ ไม่ทำอะไรๆๆๆ ก็ละเว้นก็ดีแล้ว แต่ว่าถ้าจะเป็นคนดีก็ต้องทำความดีด้วย เมื่อก่อนเขาสอน ทั้งศีล ทั้งธรรม เบญจศีล เบญจธรรม คู่กัน เมื่อละเว้นความชั่วแล้วก็ต้องทำความดี เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงว่า ละเว้นความชั่วเฉยๆ นั่งเฉยๆ ก็ไม่ทำอะไรอยู่แล้วไม่ใช่หรอ ประเด็นของผมก็คือ ต้องควบคู่กันไปด้วย

การเมืองหลังเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาล

ผมก็มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่า คุณประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ ผมว่ามันก็แน่นอนอยู่แล้ว มันจะเป็นอย่างอื่นได้ยังไง ก็เขาล้อมไว้หมดแล้ว 250 ส.ว. มันเยอะที่สุดแล้วนะครับ จะไปสู้ได้ยังไง ไม่มีทาง
แต่ว่าจะอยู่ได้นานสักเท่าไร อันนั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องเป็นนายกฯ ไม่ต้องสงสัยเลย ตั้งแต่ประชามติผ่านมาแล้ว ผมก็เออ! ก็อย่างงั้นแหละว่ะ แต่ผมก็เชื่อนะว่า มันคงบังคับปิดหูปิดตาประชาชนได้ไม่นาน

สิ่งที่เผด็จการรัฐบาลคสช. กลัวที่สุด

ผมว่าเขากลัวข้อมูลข่าวสารที่เป็นความจริง นั่นแหละสำคัญมากที่สุด (พูดสั้นๆ)

การพยายามควบคุมก็ไม่สามารถทำได้ เพราะมันไปไกลเต็มทีแล้ว มันจะคุมยังไง ไม่ได้ ก็ควรจะต้องยอมรับความจริง แล้วการจะอยู่กันนานๆ ถึงขนาด 5 ปี นี่มันไม่น่าเชื่อนะ ผมไม่นึกเลย แล้วตั้งแต่ปี 2557 ลากได้ยังไงตั้ง 5 ปี ผมว่ามันเกินเวลาไปนานมาก

ถึงเวลาหรือยังที่รัฐประหารจะหมดไปจากประเทศไทย

ความจริงผมคิดว่ารัฐประหารจะหมดไปตั้งแต่ปี 2535 แล้วนะ ช่วงพฤษภาทมิฬ ผมก็ผิด ตอนนั้นทหารก็กลับเข้ากรม เข้ากอง ดีเป็นบ้าเป็นหลัง จนตอนหลัง ‘พวกรักชาติ’ ทั้งหลายก็เรียกทหารมา ไปอ้อนวอนให้ออกมาไม่ใช่หรอ ตั้งแต่ปี 2549 และก็ปี 2557 พิลึกนะ ตอนปี 2516 ทหาร ตำรวจแทบไม่มีใครกล้าแต่งเครื่องแบบออกไปไหนมาไหนเลยนะ มันตกต่ำมากขนาดนั้น

เลิกเกณฑ์ทหารได้แล้ว

แต่ว่าการปฏิรูปมันไปไม่สุด มันเป็นเพียงผิวเผิน เขาก็กลับเข้ากรมกองตามปกติ แต่ว่ากฎหมายที่ให้อภิสิทธิ์ทหารมันเยอะ ซึ่งมันเริ่มต้นจากปี 2490 ทหารก็ออกกฎหมายซ้ำกฎหมายซ้อน ทำให้เป็นลักษณะ ‘อภิสิทธิ์’ เป็นอภิข้าราชการ กระทรวงกลาโหมแตะไม่ได้ แล้วก็เลือกกันเอง แล้วตั้งแต่ทำให้ทหารเกณฑ์ได้เงินเดือนหมื่นห้า ก็อยากจะถามว่าคุณจะเอากำลังพลสักเท่าไหร่ครับ มันล้นแล้ว แค่เปิดรับอาสาสมัคร มันเกินอยู่แล้ว แล้วจะเกณฑ์ไปอีกทำไม (ย้ำเสียงสูง)

ผมไม่เข้าใจ มันควรจะเลิกเกณฑ์ไปตั้งนานแล้ว ถามจริง จบม.6 ได้เงินเดือนหมื่นห้า หาที่ไหนได้ แต่เกณฑ์แล้วมันดีมันได้เยอะ ก็ได้เยอะนะครับ (ใครได้เยอะ) ก็ทราบกันอยู่แล้ว เลิกเกณฑ์ได้แล้ว เงินเดือนขนาดนี้อาสาสมัครล้นแล้ว แล้วเข้าไปทำอะไร “ซ้ายหัน ขวาหัน” แค่นั้นหรอ


สุนันทา บวบมี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน