ไอลอว์ ชำแหละ 5 ปี รัฐประหาร จาก “ขอเวลาอีกไม่นาน” สู่การสืบทอดอำนาจ

ไอลอว์ นำเสนอข้อมูล ครบ 5 ปี คสช. ทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ควมาว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ตำแหน่งขณะนั้น) ประกาศยึดอำนาจทำการรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

พร้อมกับคำมั่นสัญญาว่า ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ ทหารที่เข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐบาลจากการเลือกตั้งจะ “คืนอำนาจ” ให้กับประชาชน

จนเวลาล่วงเลยเข้าปีที่ 5 ของคณะรัฐประหาร แม้ว่า คสช. จะ ‘ยอม’ จัดให้มีการเลือกตั้งไปแล้ว ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 แต่ คสช. ก็ยังไม่ได้ “คืนอำนาจ” การปกครองตัวเองให้กับประชาชน

แต่กลับพยายามวางรากฐานอำนาจของตัวเองให้แน่นหนา ผ่านการกระจายตัวไปอยู่ในกลไกต่างๆ ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เขียนขึ้นเอง และกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญในสนามการเมือง ซึ่งจะส่งผลให้ คสช. ยังอยู่ในอำนาจต่ออีกอย่างน้อย 5 ปี

จากเครือข่ายคสช. สู่ พรรคพลังประชารัฐ

หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (กฎหมายพรรคการเมือง) มีผลบังคับใช้ และหัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตาม ‘มาตรา 44’ ออกคำสั่งที่ 53/2560 เปิดทางให้พรรคการเมืองหน้าใหม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้

สังคมไทยก็ได้รู้จักกับพรรค ‘พลังประชารัฐ’ พรรคการเมืองที่เอาชื่อมาจากนโยบาย ‘ประชารัฐ’ ของรัฐบาลคสช.

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อนในการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ มีชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม และ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีต สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นผู้จดจองชื่อ ก่อนจะมีกลุ่มการเมืองอีกสองกลุ่มใหญ่มาร่วม

กลุ่มการเมืองแรกที่มาร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ คือ ‘กลุ่มสาม ส.’ หรือ ‘สามมิตร’ ซึ่งมี ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน ส่วนมิตรที่สาม คือ ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลคสช.

ส่วนกลุ่มการเมืองที่สอง คือ สี่รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ได้แก่ อุตตม สาวนายน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, สุวิทย์ เมษินทรีย์ และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล

โดยรายชื่อสองคนแรกได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรคให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ซึ่งทั้งสี่คนมีความเชื่อมโยงกับ ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ ในฐานะลูกศิษย์หัวกะทิ

ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกลุ่มสามมิตรและสี่รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. พรรคพลังประชารัฐสามารถดึงดูดนักการเมืองจากพรรคต่างๆ มาได้ถึง 82 คน แบ่งเป็น อดีต รมต. 19 คน อดีต ส.ส. 62 คน และอดีต ส.ว. 1 คน เพื่อสู้ศึกการเลือกตั้ง

พร้อมประกาศว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” โดยเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. มาเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ

แม้พรรคพลังประชารัฐถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘เอาเปรียบ’ พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตเลือกตั้ง หรือกระแสการจัดโต๊ะจีนรับบริจาคเงินซึ่งปรากฎชื่อของหน่วยงานรัฐเป็นผู้ให้เงินบริจาค

รวมถึงการที่รัฐบาล คสช. “ลดแลกแจกแถม” เงินและนโยบายช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง

แต่การเลือกตั้งผลก็ปรากฎว่า พรรคพลังประชารัฐคว้าที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไปได้ถึง 115 ที่นั่ง เป็นพรรคใหญ่ลำดับที่สองในสภา และกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

จากแม่น้ำห้าสาย สู่ ส.ว. แต่งตั้ง

ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ ส.ว. ชุดแรกจำนวน 250 คน มาจากการคัดเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ 50 คน และการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาที่ คสช. เป็นคนแต่งตั้ง อีก 194 คน ซึ่งรายชื่อผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. จะมี คสช. เป็นคนคัดเลือกด่านสุดท้ายอีกครั้ง

อีก 6 คนที่เหลือ มาจากปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.), ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.), ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.), ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.), และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รวมเป็น 250 คน

จากรายชื่อผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 พบว่า มี ‘คนหน้าซ้ำ’ ที่ทำงานอยู่เครือข่ายของ คสช. อย่างน้อย 157 คน แบ่งเป็น เคยมีตำแหน่งใน คสช. 20 คน เคยมีตำแหน่งในครม. 18 คน เคยมีตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 89 คน

เคยมีตำแหน่งในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 26 คน เคยมีตำแหน่งในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) 35 คน เคยมีตำแหน่งในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558 จำนวน 5 คน

รวมถึงเคยมีตำแหน่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 25 คน และเคยมีตำแหน่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 26 คน หลายคนเคยมีหลายตำแหน่ง

นอกจากนี้ ในรายชื่อผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. ยังมี สถานะเกี่ยวข้องกับ คสช. ในฐานะญาติพี่น้องของบุคคลในรัฐบาล คสช. เช่น พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์, พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ ด้านความมั่นคง,

พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม น้องชายของ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย และ สม จาตุศรีพิทักษ์ พี่ชายของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ

หรือ มีสถานะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของบุคคลสำคัญในรัฐบาล คสช. เช่น เพื่อนร่วมรุ่น ตท.6 ของ พล.อ.ประวิตร ทั้งสิ้น 5 คน ที่ได้เป็น ส.ว. ได้แก่ พลเอก นพดล อินทปัญญา, พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์, พลเอก เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์, พลเอก ไพโรจน์ พานิชสมัย และ พลเอก อู้ด เบื้องบน เป็นต้น

รวมถึงยังมี ส.ว. ที่เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ เช่น จิรดา สงฆ์ประชา พี่สาวของมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส. เขต 2 จ.ชัยนาท พรรคพลังประชารัฐ, ภัทรา วรามิตร น้องสาวของ ชานุวัฒน์ วรามิตร ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 กาฬสินธุ์ พรรคพลังประชารัฐ,

สุรชัย ดนัยตั้งตระกูล พี่ชายของสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ผู้สมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 25 พรรคพลังประชารัฐ และอมร นิลเปรม พี่ชายของอดุลย์ นิลเปรม ผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 อุบลราชธานี พรรคพลังประชารัฐ

บทบาทของ ส.ว. แต่งตั้ง มีความสำคัญมากในความเป็นไปของการเมืองไทยอีกอย่างน้อย 5 ปีข้างหน้า เพราะ ส.ว. เป็นตัวแปรหลักเลือกนายกรัฐมนตรี

เปิดทาง ‘นายกคนนอก’ หรือ การเป็นองค์ประกอบสำคัญในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการตรวจสอบรัฐบาลให้เดินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และการรวบอำนาจออกกฎหมายเกี่ยวก้บการปฏิรูปประเทศด้วย

อ่านต้นฉบับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน