‘อับดุลรอซะ’ มอง ปัญหาไฟใต้ กับรัฐบาลประยุทธ์ วอนลงพื้นที่มากกว่าประชาสัมพันธ์

ปัญหาไฟใต้ / วันที่ 10 มิ.ย. ผศ.อับดุลรอซะ วรรณอาลี รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวถึง คณะรัฐมนตรีที่จะเข้ามาบริหารประเทศกับการแก้ปัญหาโดยรวมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาหลายมิติที่ผ่านมา แต่ที่เป็นปัญหาต้นทางที่สุดคือปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ความคาดหวังของประชาชนต่อรัฐบาลนี้ก็ยังอยากจะเห็นความต่อเนื่องในการแก้ปัญหา คิดว่าถ้านายกรัฐมนตรีของปัจจุบันน่าใช้ชุดเดิม เหตุผลที่อยากให้ใช้ชุดเดิมดำเนินการคือว่า จะได้ต่อเนื่องในหลายๆประเด็น เช่นการพูดคุยการเจราจา หรือแม้กระทั่งโครงการต่างๆที่รัฐได้ดำเนินการไปล่วงหน้าแล้วในการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพราะที่นี่คือจะอยู่กับยางพาราเป็นตัวหลัก ในเรื่องของเรื่องเศรษฐกิจถ้ารัฐบาลสามารถที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยการยกระดับสินค้าการเกษตรขึ้นมาเพราะนี้ถือว่ารายได้หลักของคนในพื้นที่ เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น

ความคาดหวังอีกประการหนึ่งคือ มีปรากฏการณ์เกิดขึ้นมาโดยตลอดคือปัญหาเรื่องการศึกษา จะเห็นได้ว่าคุณภาพการศึกษาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ถ้าเทียบจากโอเน็ต ก็อยู่ในอันดับท้ายของประเทศ เพราะฉะนั้นตรงนี้รัฐบาลใหม่นี้เอาใจใส่กับการแก้ปัญหา นั้นหมายถึงว่าภาคการศึกษาจะส่งผลต่อคุณภาพด้านอื่นๆในอนาคตคุณภาพการศึกษาที่ดีจะสามารถที่ผลิตประชากรที่ดี แล้วก็จะทำให้ทุกอย่างมันง่ายขึ้นในอนาคต

การเปลี่ยนตัวของชุดการแก้ปัญหาคงมองได้หลายๆระดับ ในระดับกำหนดนโยบายไม่แน่ใจว่ารัฐมนตรีที่มากำหนดนโยบายกำกับดูแลฝ่ายความมั่นคงยังเป็นคนเดิมหรือไม่ ถ้าไม่ใช่คนเดิมอาจต้องหยุดชะงักไปบ้าง ระดับปฏิบัติการในพื้นที่คือบุคคลที่มาทำงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ในงานความมั่นคง ถ้าเปลี่ยนไปก็ส่งผลกระทบไปเหมือนกัน

อยากจะให้ทบทวนนิดหนึ่งว่าสิ่งที่ทำไปแล้วจุดไหนที่เป็นจุดบกพร่องก็ปรับเปลี่ยนได้ แต่ทั้งหมดตนยังเห็นว่าการพัฒนาทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาอยู่ในมิติที่คิดว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้น ชุดพูดคุยต้องเข้าใจลักษณะของคนบ้านเราเหมือนกัน คนบ้านเราต้องเริ่มตั้งแต่สร้างความสนิทสนม ถ้าเปลี่ยนตัวคนใหม่ กว่าจะสร้างความสนิทสนม กว่าจะสร้างความไว้วางใจจะต้องใช้เวลาอีก

แน่นอนที่สุดถ้าเปลี่ยนแล้วเกิดหยุดชะงักแน่นอน ยกเว้นว่าคนที่มาใหม่จะมีฝีมือหรือได้รับการยอมรับจากอีกฝ่าย เพราะการเจรจาต้องยอมรับอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งกันและกันถึงจะไปต่อได้ จำเป็นอย่างที่สุดคือนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ต้องมาขับเคลื่อนในพื้นที่บ่อยๆขึ้น ไม่ใช่ว่าแค่มาตรวจราชการอย่างเดียว ต้องลงมากันบ่อยๆ

สิ่งที่ตนขอฝากคือ นโยบายที่ผ่านมาเป็นนโยบายที่ดีแต่ขาดซึ่งการนำไปปฏิบัติ อาจจะเป็นมิติงบประมาณ มิติเรื่องคน หรือมีข้อจำกัดทางอื่นๆ ก็จะต้องทลายกำแพงนี้ไปให้ได้ เช่นนโยบายมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นนโยบายที่ดี แต่ที่ผ่านมา 1 ปี ตนมองว่าอยู่ในระดับแค่ประชาสัมพันธ์ นโยบายมากกว่า โครงการต่างๆยังไม่เกิดผลเท่าใดนัก

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน