ทีมกฎหมาย พรรคพลังประชารัฐ รุดตรวจสำนวน 27 ส.ส. โดนร้องถือหุ้นสื่อ จ่อยื่นขอศาลรธน. คุ้มครองชั่วคราวไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ อ้างกระทบงานสภาฯ –รัฐบาล ยันไม่ใช่ 2 มาตรฐาน อย่าเทียบคดีธนาธร

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายทศพล เพ็งส้ม หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อของ 27 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เข้าตรวจสำนวนคำร้องที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า 41 ส.ส.พรรครัฐบาลที่ถือครองหุ้นสื่อ เข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งส.ส.หรือไม่

โดยนายทศพล กล่าวว่า มาตรวจสำนวนเพื่อจะได้รู้ว่าสภาฯ ส่งเอกสารอะไรมาบ้าง จะได้วางแผนการต่อสู้ถูก ก่อนหน้านี้เราได้แบ่งกลุ่มคดี เป็นกลุ่มคดีที่มีความเสี่ยง กลุ่มคดีกลางๆ และกลุ่มคดีที่มีความคาบเกี่ยวกัน เพราะวิธีการต่อสู้ในแต่ละกลุ่มคดีไม่เหมือนกัน ขณะเดียวกันทางพรรคได้หารือกับพรรคร่วมถึงวิธีการต่อสู้คดีในกรณีส.ส.ของพรรคนั้นถูกยื่นร้องด้วย รวมถึงจะมีการยื่นร้องส.ส.ของ 7 พรรคที่มีการถือหุ้นสื่อ โดยจะมีอีกทีมงานหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการ

นายทศพล กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่กลัวเมื่อศาลรับคำร้องแล้วจะสั่งให้ส.ส.ที่ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่คณะทำงานต้องหาเหตุผลว่า 27 ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐไม่เหมือนกับกรณีอื่น จึงไม่ควรที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก็จะมีการเอาข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสิทธินายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัครส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.สกลนคร และนายคมสัน ศรีวนิชย์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาชาติ จ.อ่างทอง ที่มีความแตกต่างกัน มาพิจารณาดูว่าข้อเท็จจริงในคดีมีประเด็นใดบ้างที่ศาลรับฟังและไม่รับฟัง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

อย่างในเรื่องของการจดทะเบียนวัตถุประสงค์ปริษัท ที่หลายคนต่อสู้ว่าใช้แบบฟอร์มสำเร็จรูปของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถ้าเป็นแบบฟอร์มของกระทรวงพาณิชย์จริง ก็ควรเป็นแบบพิมพ์มาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ในแบบฟอร์มข้อที่ระบุว่าทำสื่อกลับอยู่ในลำดับที่แตกต่างกัน ซึ่งรายละเอียดแบบนี้ยากมากในการต่อสู้ เพราะส.ส.พรรคพลังประชารัฐบางคนมีถึง 3-4 บริษัท ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องมีเอกสารราชการตรวจสอบ

โดยได้แจ้งให้ส.ส.แต่ละคนทำรายละเอียดออกมา บางคนไม่เข้าใจอ้างว่ากรอกไปตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ ซึ่งในความเป็นจริงอยู่ที่ตัวเราว่าจะจดทะเบียนอย่างไร บางคนเลือกจดไปก่อนทำหรือไม่ทำก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหา โดยศาลฎีกามองว่าเมื่อคุณจดทะเบียนวัตถุประสงค์ไว้ เท่ากับมีวัตถุประสงค์จะทำสื่อ ทำให้ขัดรัฐธรรมนูญ

อีกทั้งกรณีนี้มีการยื่นผ่านประธานสภาฯ ซึ่งก็ทำหนังสือส่งต่อมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีรายละเอียดของพยานหลักฐาน ไม่เหมือนกับคดีที่ร้องผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ กกต.ตรวจสอบแล้วว่าโอนหุ้นวันไหน โอนหุ้นเมื่อไหร่ จ่ายเงินเมื่อไหร่

ดังนั้น เมื่อคดีมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะต้องวางมาตรฐานว่าระหว่างวัตถุประสงค์ที่ระบุในเอกสารราชการ กับสิ่งที่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง อะไรฟังได้ไม่ได้ และคาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าจะยื่นคำร้องพร้อมเหตุผลเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ 27 ส.ส.พรรค เพราะถ้าหากศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก็จะได้รับผลกระทบกับการทำงาน ไม่ใช่แค่กระทบถึงการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.เท่านั้น แต่ยังกระทบต่อการบริหารงานของรัฐบาล เพราะรัฐบาลยังไม่มีการแถลงนโยบายในรัฐสภา

“ผมมีหน้าที่ทำอย่างไรก็ได้ให้ 27 ส.ส.ยังสามารถทำหน้าที่อยู่จนจบภารกิจ และไม่อยากให้สังคมเอาไปเปรียบเทียบกับกรณีสั่งให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสองมาตรฐาน เพราะการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในหลายคดีไม่เหมือนกัน การที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาการต่อประชุมสภาฯ

แต่ของเรามันจะเกิดปัญหาทางลบยิ่งกว่า คือรัฐบาลจะไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายได้ เพราะขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงจะไปเทียบกับกรณีของธนาธร ไม่ได้ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน อย่าเอามารวมกัน กรณีหุ้นสื่อของ 41 ส.ส.ที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นต่อประธานสภาฯ อาจจะคล้ายกัน คือถือหุ้นสื่อ แต่ข้อเท็จจริงไม่เหมือนกัน“ นายทศพล กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุม เมื่อเวลา 13.30 น. และเลิกประชุมเมื่อ 15.20 น. โดยเป็นการประชุมพิจารณาวาระทั่วไปและคดีอื่นๆ แต่ไม่ได้พิจารณากรณีความเป็นรัฐมนตรีของ 4 รัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เนื่องจากถือครองหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ รวมทั้งคดี 41 ส.ส.ถือหุ้นสื่อด้วย


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน