ทนายสิทธิฯ ชี้ปัญหา หลังยกเลิกคำสั่ง คสช. ปมจำเลยถูกขัง หากหลักทรัพย์ไม่ทันประกัน จี้ สร้างปัญหาเอง ก็ต้องแก้ให้จบ!

นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 9/2562 ที่มีผลบังคับใช้ในวันนี้ว่า การโอนคดีมาศาลยุติธรรมตามคำสั่งหัวหน้าคสช.นี้ โดยเฉพาะตามข้อ 2 วรรคสอง ที่ว่า

“บรรดาการรกระทำความผิดตามประกาศคสช.และคําสั่งหัวหน้าคสช.ตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะกระทําก่อนหรือหลังคําสั่งนี้ใช้บังคับ ให้อยู่ในอํานาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนการรกระทําความผิดที่อยู่ระหว่างการดําเนินคดีของศาลทหาร ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ ให้โอนคดีนั้นๆไปยังศาลยุติธรรม”นั้น เห็นว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติทันที คือ

1.คดีต่างๆที่เคยอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหารกรุงเทพ หรือศาลทหารมณฑลทหารบกในต่างจังหวัด จะถูกโอนไปยังศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจของศาลจังหวัดนั้น เช่น ในศาลทหารกรุงเทพน จะโอนคดีไปยังศาลอาญา หรือคดีที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จ.ขอนแก่นก็จะโอนคดีไปยังศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น กระบวนการพิจารณาในศาลทหารที่ผ่านมา ทนายความอาจมีข้อกังขาหรือข้อกังวลจากการสืบพยานก็ดี เมื่อไปศาลยุติธรรมจะดำเนินการต่อเนื่องต่อไปโดยไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่ทั้งหมด

2.การโอนคดีไปให้ศาลยุติธรรม พร้อมกับเอาตัวจำเลยไปด้วย ศาลยุติธรรมที่รับคดีก็ต้องรับตัวและออกหมายขังอีกครั้ง ปัญหาจึงมีว่าหลักทรัพย์ที่ใช้ประกันตัวจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะยังไม่ได้หลักทรัพย์คืนจากศาลทหารในทันที จำเลยที่ถูกปล่อยชั่วคราว หากไม่อยากถูกคุมขังอีกในวันนั้น จะต้องหาหลักทรัพย์ใหม่มาวางต่อศาลยุติธรรมเพื่อประกันตัวออกไป บาปเคราะห์เช่นนี้จึงตกกับจำเลยซึ่งเป็นประชาชนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หัวหน้าคสช. ในฐานะที่ออกคำสั่ง ได้สร้างปัญหานี้ไว้ก็จะต้องหาทางคลี่คลายให้กับประชาชนด้วย ไม่เช่นนั้นประชาชนจะต้องถูกคุมขังซ้ำอีก

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศคสช. คำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 2562 เป็นต้นไป โดยให้ยกเลิกประกาศคสช. 28 ฉบับ

อาทิ ประกาศคสช.ที่ 12/2557 เรื่อง ขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์ ประกาศคสช.ที่ 17/2557 เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ประกาศคสช.ที่ 21/2557 เรื่อง ห้ามบุคคลเดินทางออกนอกราชอาณาจักร คำสั่งคสช. 29 ฉบับได้แก่ คำสั่งคสช.ที่ 22/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลหรือนิติบุคคล เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม , คำสั่งหัวหน้าคสช. 4 ฉบับ

ให้ยกเลิกประกาศคสช.และคำสั่งหัวหน้าคสช. เกี่ยวคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร โดยบรรดาการกระทำความผิดตามประกาศคสช.และคำสั่งหัวหน้าคสช. ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังคำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณษของศาลยุติธรรม ส่วนการกระทำความผิดที่อยู่ระหว่างการดำเนินเนินคดีของศาลทหารในวันก่อนที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้โอนคดีนั้นๆไปยังศาลยุติธรรม

แต่ทั้งนี้ ไม่หมายความรวมถึงการกระทำความผิกที่กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารบัญญัติให้เป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร โดยให้การกระทำความผิดดังกล่าวยังอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทหารต่อไป ทั้งนี้ การโอนคดีต้องไม่กระทบกระเทือนถึงกระบวนการพิจารณาใดๆที่ได้กระทำไปแล้วในศาลทหารก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ และให้ถือว่าบรรดากระบวนการพิจารณาได้ดำเนินการไปแล้วนั้น เป็นกระบวนการพิจารณาของศาลที่รับโอนคดีด้วย

นอกจากนี้ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.เกี่ยวกับการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษเพื่อรองรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐเป็นกรณีพิเศษจำนวน 20 อัตราในสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน