วันที่ 29 มี.ค. ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 เป็นประธาน มีการดำเนินการกระบวนการถอดถอนนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง กรณีออกหนังสือเดินทางแบบธรรมดาให้แก่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเป็นการแถลงปิดสำนวนคดี

โดยน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า การถอดถอนดังกล่าวเริ่มต้นจากคำร้องของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และพวกขอให้ถอดถอนนายสุรพงษ์ ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากกระทำผิดขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย อย่างไรก็ตาม นายทักษิณ เป็นบุคคลที่กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหลบหนีหมายศาลหลายฉบับ

น.ส.สุภา กล่าวอีกว่า สาเหตุที่กระทรวงต้องไม่ออกหนังสือเดินทางให้แก่นายทักษิณ เพราะเขามีหมายจับเป็นจำนวนมาก เริ่มตั้งแต่ศาลฎีกาอนุญาตให้นายทักษิณเดินทางไปต่างประเทศ แต่ที่สุดเมื่อถึงกำหนดเวลากลับ ท่านไปแล้วไม่กลับมา ศาลฎีกาจึงออกหมายจับในวันที่ 15 ส.ค. 51 และแจ้งกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากนั้นก็มีหมายจับอีกจำนวนมาก คือวันที่ 17 ก.ย. 51 ศาลสั่งจำคุก 2 ปี ในคดีที่ดินรัชดา, 26 ก.ย. 51 หมายจับคดีหวยบนดิน, 16 ก.ย. 51 คดีเอ็กซิมแบงค์, 15 ต.ค.51 คดีสัมปทานภาษีสรรพสามิต ทำให้กระทรวงต่างประเทศได้ยกเลิกหนังสือเดินทางทางการทูต เมื่อธ.ค.51 และกระทรวงได้ขึ้นแบล็กลิสต์ จนกระทั่งเดือนเม.ย. 52 มีการเพิกถอนหนังสือทางเดินแบบธรรมดา รวมทั้งมีคดีล้มประชุมอาเซียน และทำร้ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

น.ส.สุภา กล่าวต่อว่า ภายหลังที่นายทักษิณ ยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางแบบธรรมดา นายสุรพงษ์ ได้มีคำสั่งในวันที่ 25 ต.ค. 54 ให้ยกเลิกคำสั่งเก่าของรัฐบาลที่แล้ว และขอให้ออกหนังสือเดินทางแก่นายทักษิณได้ ดังนั้น กรมการกงสุลจึงออกหนังสือเดินทางให้ในวันที่ 26 ต.ค. 54 ซึ่งขอให้สมาชิกสนช.สังเกตว่าเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวล้วนประทับตราคำว่า “ด่วนมาก” และ “ลับมาก” โดยไม่ลงรับเอกสารตามระเบียบงานสารบรรณ อย่างไรก็ตาม กรมการกงสุลได้ลงรับสำเนาโทรเลขของสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำอาบูดาบี ในวันที่ 26 ต.ค. 54 โดยไม่ลงเวลา ที่สำคัญเวลาที่กรุงอาบูดาบีช้ากว่าเมืองไทย 3 ชม.จึงไม่ทราบว่าสถานทูตไทยได้รับคำร้องขอของนายทักษิณ เวลาใด และส่งสำเนามายังกระทรวงต่างประเทศเวลาใด แต่นายสุรพงษ์ สามารถสั่งการให้ออกหนังสือเดินทางภายในครึ่งวัน

น.ส.สุภา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในคำสั่งของนายสุรพงษ์ มี 2 คำสั่งอยู่ในนั้น คือ 1.เพิกถอนคำสั่งของรัฐบาลเก่า และ2.ออกหนังสือให้แก่นายทักษิณได้ ถือเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่ต้องแปลความหมายอะไรอีก สั่งตรงๆ ขณะเดียวกันหมายจับของนายทักษิณยังคงมีอยู่ ดังนั้น ป.ป.ช.จึงเห็นว่า การกระทำของนายสุรพงษ์ เป็นการกระทำที่มิชอบตามกฎหมายประมวลอาญา ม.157 ฐานเป็นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่หรือใช้อำนาจในหน้าที่มิชอบ ตามพ.ร.บ.ป.ป.ช. 2542

จากนั้น เป็นการแถลงปิดคดีของนายสุรพงษ์ โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธาน ในระหว่างการพิจารณาทันทีที่ ป.ป.ช.ในฐานะผู้กล่าวหาแถลงปิดคดีจบ นายสุรพงษ์ ได้ลุกขึ้น ร้องขอให้ตรวจสอบองค์ประชุมเพื่อสนช.จะต้องลงมติ ทำหน้าที่เหมือนศาล โดยระบุว่า มาตรา 13 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ระบุว่า การประชุมต้องมีสมาชิกมีไม่น้อยกว่ากึ่ง แต่สมาชิกสนช.เข้ามาฟังแค่ประมาณ 50 คน จึงอยากให้ประธานนับองค์ประชุม

จากนั้น นายสุรชัย ได้กดออดนับองค์ประชุมเพื่อจะลงมติ ทำให้ สมาชิกสนช.หลายคน อาทิ นายสมชาย แสวงการ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ เป็นต้น ได้ลุกขึ้นอภิปรายทักท้วงคัดค้านการทำหน้าที่ของนายสุรชัยที่ปล่อยให้บุคคลภายนอกเข้ามาขอมติให้นับองค์ประชุม และยังปล่อยให้พูดจากล่าวร้ายเสียดสี ทำให้รัฐสภาอันทรงเกียรติเสื่อมเสียเหมือนสภาในอดีต อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหา ยังนำนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เป็นผู้ติดตามเข้ามาในห้องประชุม ทั้งที่เป็นบุคคลที่ชอบข่มขู่ ใส่ร้าย ตีปลาหน้าไซ และจะแจ้งความเอาผิดประธาน รองประธานและสมาชิก สนช.ด้วยผ่านสื่อมวลชน

ทำให้ นายสุรชัย ต้องเชิญคู่กรณีทั้ง ป.ป.ช. และ นายสุรพงษ์ ออกจากห้องประชุม เพื่อหารือข้อประท้วงของสมาชิกสนช. ซึ่งเป็นไปอย่างเข้มข้นใช้เวลานานกว่า 1 ชม. ในที่สุด นายสุรชัย ยืนยันที่จะให้ลงมติ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากนายสุรพงษ์ ได้อ้างถึงมาตรา 13 รัฐธรรมนูญชั่วคราว และถ้าจะใช้มาตรา 5 วรรคสองของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ว่าด้วยการให้สนช.วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครอง หรือจะให้ประธานสนช.วินิจฉัยชี้ขาดเอง ก็ไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่ จึงขอสร้างบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องนี้เพื่อให้สภาใช้ต่อไป

ที่สุดที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ 149 เสียง ไม่ให้บุคคลภายนอกเสนอให้มีการนับองค์ประชุม จากนั้น นายสุรชัยเชิญคู่กรณีกลับเข้ามาอีกครั้ง โดยให้นายสุรพงษ์ แถลงปิดคดีต่อและปิดประชุมในเวลา 16.35 น. ก่อนที่จะนัดลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ เวลา 10.00 น.

รายงานข่าวจากสมาชิกสนช.ระบุว่า ในการประชุมสนช.เพื่อลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายสุรพงษ์ ในวันที่ 30 มี.ค. นี้ ซึ่งถือเป็นคดีถอดถอนสุดท้ายที่สนช.จะดำเนินกระบวนการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ2557 โดยคะแนนในการถอดถอนได้ จะต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกสนช.ทั้งหมด ( สนช. 250 คน) หรือไม่น้อยกว่า 150 เสียงขึ้นไป โดยคาดว่าการลงคะแนนให้ถอดถอนจะสูงกว่า 200 คะแนนขึ้นไป เนื่องจากเหตุการณ์วุ่นวายที่นายสุรพงษ์ ขอให้ตรวจสอบองค์ประชุมสนช.ในวันนี้ สร้างความไม่พอใจแก่สมาชิก สนช.เพิ่มมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ยังไม่ได้ตัดสินใจ ดังนั้นจึงเชื่อคะแนนถอดถอนจะเป็นไปอย่างท่วมท้นกว่าทุกคดีถอดถอนที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน