“นายกฯ” หวังผลสัมฤทธิ์​ “AIPA” ต่อยอดความเข้มแข็ง​ทุกด้านของอาเซียน​ ย้ำ​ ความร่วมมือปราบยาเสพติด​-กำจัดขยะพลาสติก​ทะเล​ ชี้​ มีกฎหมายมากแค่ไหน​ แก้ปัญหาไม่ได้​ ถ้าไม่ปรับจิตสำนึก

เมื่อเวลา 09.00 น.​ วันที่​ 26​ ส.ค. ที่โรงแรมแชงกรี-ลา ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ​ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ นายกรัฐมนตรีและ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​กลาโหม​ กล่าวต้อนรับคณะผู้แทน AIPA ในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 40 ตอนหนึ่งว่า​

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีของ​ AIPA เป็นองค์กรคู่ขนานทำงานเคียงข้างกับอาเซียน ช่วยเติมเต็มการทำงานของฝ่ายบริหารผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ​ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เสาหลักที่ 3 คือเสาแห่งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน​ ซึ่งมีประชาชนเป็นรากฐานสำคัญ

นายกฯกล่าวว่า ขอเน้นย้ำว่าฝ่ายบริหารของอาเซียนจำเป็นต้องพึ่งพา​ AIPA ในการส่งต่อนโยบายไปถึงประชาชนให้ได้​ รวมถึงการสนับสนุนจากภาคนิติบัญญัติ นโยบายต่างๆจึงจะเกิดขึ้นได้และประสบความสำเร็จ ขอขอบคุณพลังขับเคลื่อนอาเซียนจากสมาชิกรัฐสภาและภาคนิติบัญญัติ รวมถึงมิตรไมตรีจากหุ้นส่วน ความร่วมมือของประเทศผู้สังเกตการณ์ ที่ร่วมสนับสนุนองค์กรให้ก้าวหน้าก้าวไกล ปัจจุบันอาเซียนเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่องหลายประการ เช่น​ การค้ามนุษย์​ อาชญากรรม​ หรือสิ่งแวดล้อม

ซึ่ง​ทราบว่า​ AIPA มีความร่วมมือที่จะผลักดันภูมิภาคอาเซียนให้เป็นประชาคมที่ยั่งยืน​ โดยเฉพาะความพยายามที่จะสร้างอาเซียนให้ปลอดยาเสพติด ซึ่งขอชื่นชมผลการประชุมคณะมนตรีที่ปรึกษาของสมัชชารัฐสภาอาเซียนว่าด้วยยาเสพติดอันตราย ซึ่งประชุมครั้งที่ 2 ไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โดยเห็นพ้องต่อแนวทางการพัฒนาทางเลือกและตกลงร่วมกันที่จะบูรณาการพัฒนาชุมชนในทุกด้าน ให้มีภูมิต้านทาน รวมถึงการพัฒนามาตรการแก้ไขและปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง​ เพื่อให้ปัญหายาเสพติดในภูมิภาคหมดไป การแก้ปัญหายาเสพติดเราต้องแก้ทั้งระบบ ป้องกัน​ ป้องปราม ปราบปราม​ การฟื้นฟู โดยให้ภาคีและสังคมมีส่วนร่วม​

ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นเร่งรัดในวันนี้คือการลดอุปสงค์เพื่อลดอุปทานลงไปด้วย และจะเห็นได้ว่ามีการดำเนินคดีจับกุมได้มาก แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีการหยุดชะงัก และหาวิธีการไม่ให้มีการแพร่หลาย เราต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทั้งในประเทศและความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อทำให้ปัญหายาเสพติดในอาเซียนนั้นหมดไป

นายกฯกล่าวว่า ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังมีความตื่นตัวเรื่องภาวะโลกร้อน การลดปัญหาแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์​ อาเซียนก็ให้ความสนใจมาโดยตลอดและร่วมมือกัน โดยไทยในฐานะประธานอาเซียน มุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ผ่านมา ได้รับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน

ซึ่งเราทราบดีว่าจะมีความร่วมมือในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไรให้เป็นรูปธรรม ต้องร่วมมือกันเพราะเป็นทะเลของพวกเรา และเป็นพื้นที่ของพวกเรา ดังนั้นเราต้องช่วยกันจัดการขยะพลาสติกในทะเล ซึ่ง เป็นปัญหามากในขณะนี้ ถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการริเริ่มแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผม บอกอย่างยิ่งว่าไอ้ป้าจะทำปฏิญญากรุงเทพฯ เป็น กรอบในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไป อย่างเร่งด่วนเพื่อประโยชน์สูงสุด ประชาชน ชาวอาเซียน

นายกฯ​กล่าวว่า​ ในปี 2562 เราจะมีความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อสร้างความยั่งยืนในอาเซียน โดยประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนได้กำหนดแนวคิดหลักคือร่วมมือ​ร่วมใจ​ ก้าวไปอย่างยั่งยืน โดยต้องสำนึกอยู่เสมอว่าเราต่างไม่สามารถจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียงลำพัง จำเป็นต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน ดังนั้นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้อย่างที่สุด

ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า การทำงานร่วมกันภายใต้กรอบความร่วมมือของ​ AIPA ในฐานะภาคนิติบัญญัติที่สำคัญของอาเซียน และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในฐานะตัวแทนประชาชน จะสามารถอำนวยความสะดวกทางกฎหมาย ที่่จะช่วยให้ข้อตกลงดังกล่าวที่เรามีส่วนร่วมกัน และลงนามโดยสมาชิกทุกประเทศ ร่วมผลักดันกฎหมายให้เกิดความสอดคล้องประสานงานกันเป็นอย่างดี และเป็นกรอบแนวทางเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของอาเซียนในทุกมิติสืบไป​

ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง และมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง และสิ่งที่เราในบรรดาผู้นำอาเซียนต้องระลึกถึงอยู่เสมอ คือต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง บริหารประเทศโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เอาความเดือดร้อนและปัญหามาแก้ไขปัญหาในทุกระบบ

สิ่งสำคัญที่สุดคือกฎหมายที่จำเป็นต้องปรับให้เป็นสากล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม​ ลดภาระของประชาชนลงในทุกมิติที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน โลกกำลังเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีและดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน​ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“เราต้องไม่แก้ปัญหาหนึ่งเพื่อไปสู่การเริ่มปัญหาใหม่ หรือ 2-3 ปัญหาตามมา​ แต่ต้องแก้ทั้งสองอย่างไปด้วยกัน​ คือกฎหมายและจิตสำนึก ความเข้าใจของประชาชน ถ้าเราไม่ทำไปด้วยกัน มันจะไปไม่ได้ทั้งหมด เชื่อว่าประเทศสมาชิกต่างก็มีปัญหาในสิ่งเหล่านี้ จึงต้องร่วมมือกันหาวิธีการที่เหมาะสม ในการดำเนินการไปทีละขั้นเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ไม่มีอะไรที่จะแก้ไขได้ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงหลักคิดแนวคิด ไม่ปรับจิตสำนึกต่อให้มีกฎหมายมากมายแค่ไหน ก็ทำไม่ได้อยู่เหมือนเดิม” นายกฯ​กล่าว

นายกฯ​กล่าวว่า​ ประเทศในอาเซียนต่างมีอัตลักษณ์ที่ต่างกัน แต่จะทำอย่างไรให้เรามีความร่วมมือเกิดขึ้นให้ได้ โดยทำงานร่วมกันในหลายมิติทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ​ กระทรวงการต่างประเทศ​ รวมไปถึงการประชุมระดับผู้นำด้วยกัน เชื่อว่าทุกประเทศในอาเซียน มีศักยภาพที่จะเดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างเข้มแข็งและอดทน ภายใต้การสนับสนุนและร่วมมือของประเทศต่างๆ

โดยสุดท้ายนี้​ประเทศไทยพร้อมสนับสนุนการทำงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน สำนักงานเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน​ ซึ่งทำหน้าที่หลักในการประสานงานร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก องค์กรระหว่างประเทศ​ ภาคนิติบัญญัติ เพื่อขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน และสร้างความก้าวหน้าให้อาเซียนในทุกมิติ


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน