‘ทวี’ ฉะรัฐให้เอกชนเช่า “ที่ดิน-ป่า” ไร่ 50 สตางค์ต่อปี แต่ปชช.ยังไร้ที่ทำกิน ชี้ต้องปฏิรูป

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้โพสต์ภายหลังร่วมเสวนา “งานปฏิรูปที่ดินเอกชนทิ้งร้าง สร้างประชาธิปไตยและความเป็นธรรม” เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2562 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยระบุว่า รัฐต้องนำที่ดินและพื้นที่ป่าที่ให้บริษัทเอกชนเช่าทำประโยชน์ ไร่ละประมาณ 50 สตางค์ต่อปีกลับคืนมา เพื่อการปฏิรูปและต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดินให้ชุมชนท้องถิ่น ร่วมตรวจสอบในการออกเอกสารสิทธิฯ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อนประเด็นสิทธิในการถือครอง ทำประโยชน์ ในที่ดินของประเทศไทย ยังขาดความเป็นธรรม กล่าวคือ ที่ดินจำนวนมาก รัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนเช่าที่ดินของรัฐ โดยคิดค่าเช่าในอัตราที่ต่ำมาก ในขณะที่เกษตรกรจำนวนมากตกเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกิน และต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ เช่น ข้อร้องเรียนของราษฎรชุมชนสันติพัฒนา บ้านบางสวรรค์ อำเภอพระแสง ราษฎรชุมชน บ้านน้ำแดง ชุมชนคลองไทรพัฒนา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ที่ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการที่รัฐอนุญาตให้ บริษัทไทยอุตสาหกรรม น้ำมันและสวนปาล์ม จำกัด เช่าที่ดินขนาดใหญ่ กินเนื้อที่มากถึง 8,250 ไร่ ระยะเวลาการเช่านาน 30 ปี โดยเริ่มเช่าในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2536 สัญญาจะสิ้นสุดการเช่าเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2566 เป็นที่น่าสังเกตว่ามีค่าเพียงเช่าไร่ละ 50 สตางค์ต่อปี หรือไร่ละ 15 บาทต่อ 30 ปี หรือ 123,750 บาท ต่อที่ดิน 8,250 ไร่ ต่อ 30 ปี เท่านั้นปัจจุบันบริษัทไทยอุตสาหกรรมน้ำมันและสวนปาล์ม จำกัด ซึ่งต่อมาได้ควบรวมกับบริษัทซึ่งได้รับสัมปทานเช่นกัน โดยรวมเป็นบริษัทมหาชน อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบัน (ขอไม่เปิดเผยชื่อ) ในขณะที่เกษตรกรในพื้นที่ต้องการที่ดินทำกิน และไร้ที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก ทั้งที่ที่ดินดังกล่าวเป็นสมบัติของชาติต้องเป็นสมบัติของประชาชน

ที่ดินแปลงที่กำลังจะครบสัญญาเช่าที่ให้กับริษัทเอกชนรัฐต้องเตรียมรับคืนที่ดินกลับมาเพื่อนำไปปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรและผู้ยากไร้ต่อไป นอกจากที่ดินที่ตำบลบางสวรรค์แล้ว ยังมีพื้นที่ป่าที่รัฐให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนและบริษัทมหาชนเพื่อปลูกปาล์มในแบบเดียวกันในอีกหลายแปลงจำนวนหลายหมื่นไร่ บางส่วนครบกำหนดสัญญาสัมปทานแล้ว แต่รัฐก็ยังไม่นำกลับคืนมา แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ ประเด็น “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” ของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน ที่ควรต้องทำหน้าที่และรับผิดชอบต่อการนำที่ดินที่ได้ให้เช่าไปกลับมาเป็นของรัฐเพื่อการปฏิรูปต่อไปประเทศไทยมีเนื้อที่ประมาณ 320 ล้านไร่ โดยกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 โดยสามารถออกเอกสารสิทธิ โฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก และอื่นๆ ให้เอกชนได้ ปัจจุบันมีเอกสารสิทธิที่กรมที่ดินออกให้แก่เอกชนไปแล้วประมาณ 128 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือเป็นที่ดินของรัฐภายใต้กฎหมายต่างๆ

มีคำถามว่าที่ดินที่ออกเอกสารสิทธิให้เอกชนไปประมาณ 128 ล้านไร่นั้น เพียงพอหรือยัง คำตอบคือ เท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ เนื่องจากประมวลกฎหมายที่ดินไม่ได้จำกัดการถือครองที่ดิน ใครรวยก็มีสิทธิซื้อที่ดินจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ และถือว่าที่ดินเป็น “สินทรัพย์” โดยกฎหมายที่ดินทำหน้าที่เป็นกฎหมายเพื่อออกเอกสารสิทธิ ให้สิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อให้สามารถนำไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ จึงทำให้มีการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร และไม่มีความจำเป็นต้องทำประโยชน์ในที่ดิน จึงเห็นเอกชนปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า มากมาย

ประมวลกฎหมายที่ดินของไทยไม่ได้มองว่า “ที่ดินคือปัจจัยการผลิต” หรือเป็นแหล่งผลิตอาหารให้แก่สังคม หากมองว่า ที่ดินเป็นแหล่งผลิตอาหาร ก็จะต้องมีการลงทุนลงแรงอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดิน อันจะลดการแย่งชิงกันเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อนำมาเป็นสินทรัพย์ และจะช่วยทำให้ปัญหาการบุกรุกที่ดินลดน้อยลงหรือหมดไปในที่สุด

ในการบุกรุกป่าและที่ดินสาธารณประโยชน์ เห็นว่าประมวลกฎหมายที่ดินเป็นปัจจัยหนึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดการบุกรุกขึ้น เนื่องจากมาตรา 58 ระบุให้มีการเดินสำรวจออกเอกสารสิทธิ โดยเมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรจะให้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในจังหวัดใดในปีใด ก็ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดจังหวัดที่จะทำการสำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์สำหรับปีนั้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าที่ดินดังกล่าวจะเป็นพื้นที่อะไร

นอกจากนั้นประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย ไม่ว่าจะได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา 58 แล้วหรือไม่ก็ตาม เจ้าพนักงานมีอำนาจ นั่นคือ เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจเต็มที่ในการออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก

ดังนั้น ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 58 และ มาตรา 59 ประมวลกฏหมายที่ดิน โดยในการออกเอกสารสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นโฉนดที่ดิน น.ส. 3 หรือ น.ส.3 ก ในที่ดินแปลงที่อาจมีผลต่อสิ่งแวดล้อมหรือต่อทรัพยากรธรรมชาติหรือต่อชุมชน รวมทั้งในแปลงที่มีประเด็นพิพาทอื่นๆ นั้น ต้องให้ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นที่ที่ดินตั้งอยู่ได้มีส่วนร่วมในการอนุญาตออกเอกสารสิทธิ และต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนหรือชุมชนด้วย

นอกเหนือจากแก้ไขมาตราดังกล่าว ควรมีการปฏิรูปประมวลกฎหมายที่ดิน ในเรื่องการจำกัดการถือครองที่ดินขึ้นด้วย แม้ปัจจุบันจะมี พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ระบุภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าไว้และจะมีผลใช้บังคับ 1 ม.ค.2563 ก็ตามแต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายว่ายังไม่ตรงเจตนารมณ์ช่วยให้มีการกระจายการถือครองที่ดิน เพราะกำหนดว่าต้องมีที่ดินต้องเกิน 50 ไร่ขึ้นไปจึงเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าและมีอัตราการจัดเก็บต่ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน