ฝ่ายค้านยันซักฟอก‘บิ๊กตู่’ ไม่แตะสถาบัน แต่จะพูดถึงผลพวง-ผลกระทบความเชื่อมั่น หวังนายกฯ ตอบตรงประเด็น มั่นใจไม่ถูกฟ้อง

ฝ่ายค้าน – วันที่ 13 ก.ย. ที่รัฐสภา พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงญัตติการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในวันที่ 18 ก.ย.ว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับพิจารณาประเด็นถวายสัตย์ไม่ครบ แต่ฝ่ายค้านยังมีเรื่องจะอภิปรายอีกมาก เช่น จะถามถึงสิ่งที่เป็นผลพวงและผลกระทบต่อการใช้อำนาจรัฐ และผลกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยไม่มีการแตะต้องสถาบัน และไม่ถามว่าทำไมจึงถวายสัตย์ไม่ครบเพราะชัดเจนอยู่แล้ว

หากตีความหมายของรัฐธรรมนูญจะเห็นว่าไม่ได้ห้ามการใช้กลไกของสภาตรวจสอบ เพราะเห็นว่าการถวายสัตย์เป็นประเด็นการเมือง ซึ่งสอดคล้องกับพ.ร.ป.ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 ที่ระบุว่าถ้าเป็นการกระทำของรัฐบาลต้องไม่กระทบสิทธิ์ของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ์ฟ้องละเมิดได้ เพราะระบุว่าต้องเป็นหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐเท่านั้นถึงจะฟ้องได้ จึงเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ทั้งนี้ เรามีประเด็นที่สังเกตว่า การกระทำของรัฐบาลที่มีความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์ไม่มีองค์กรใดตรวจสอบได้ แต่ถ้าเกี่ยวกับการใช้อำนาจแล้วกระทบประชาชน เช่นเรื่องนี้ สภาสามารถใช้อำนาจตรวจสอบได้ เพราะถือเป็นประเด็นการเมือง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน
เมื่อถามว่าหากยังอภิปรายเรื่องนี้ อาจสุ่มเสี่ยงได้ น.พ.ชลน่าน กล่าวว่า เราไม่กลัวเพราะเรามีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นกำแพงพิงหลังให้กับฝ่ายนิติบัญญัติ จึงไม่มีโอกาสสุ่มเสี่ยงถูกฟ้องร้อง

เมื่อถามว่าคาดหวังหรือไม่ว่าการชี้แจงของพล.องประยุทธ์ จะตอบได้ตรงประเด็นหรือไม่ น.พ.ชลน่าน กล่าวว่า ตนไม่ได้คาดหวังว่าจะตอบตรงหรือไม่ตรง เป็นหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ ต้องมาตอบคำถามเราเพราะมาตรา 152 เขียนชัดว่าเป็นญัตติอภิปรายทั่วไป ซักถามข้อเท็จจริงจากครม. หรือเสนอแนะความเห็นของเราต่อครม

นายกฯจะตอบตรงหรือไม่ตรง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์คำถามหน้างานเป็นหลัก หากประเด็นไหนที่เราถามชัดเจน แต่นายกฯเลี่ยงจะตอบ สื่อก็จะพิจารณาและประชาชนก็เห็นเอง”นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามว่าหากมีการประท้วงของฝ่ายรัฐบาลจะทำอย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของสมาชิก แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับ เราจึงต้องตระหนักว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เขาประท้วง คือต้องอยู่ในกติกาอภิปรายในเนื้อหาที่ไม่สุ่มเสี่ยงให้เขาประท้วงได้ มิเช่นนั้น จะเป็นเกมในสภา ไม่มีใครได้ประโยชน์ และสภาจะเสียหายด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน