“บิ๊กตู่” ลั่นกลาง ครม. ทุบโต๊ะ รับผิดชอบเอง! ปมสี่หมื่นล้าน ปิดเหมืองทองอัครา เผย 4 ทางออกของรัฐบาล

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่าในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ช่วงหนึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม รายงานถึงทางออกในการแก้ปัญหากรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี

ยื่นฟ้องรัฐบาลไทย ว่าละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) หลังใช้อำนาจมาตรา 44 ของ คสช. ในคำสั่งฉบับที่ 72/2559 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559 ระงับการอนุญาตให้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ โดยล่าสุดเรื่องได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ขณะที่รัฐบาลไทยดำเนินการเจรจา และดำเนินตามกระบวนการกฎหมายมาตลอด

ซึ่งที่ประชุม ครม.ได้รับทราบข้อสรุปทางออกเรื่องดังกล่าว 4 ข้อ ประกอบด้วย

  • 1.จ่ายเงินให้กับบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) แล้วให้เลิกกิจการไป
  • 2.ดำเนินการตามข้อเสนอของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะช่วยให้อาจไม่ต้องจ่ายเงิน
  • 3.รอผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ แล้วปฏิบัติตาม
  • 4.หาช่องจ่ายเงินค่าปรับบางส่วน โดยให้ชดเชยค่าเสียหาย แล้วให้ดำเนินกิจการต่อ

โดยที่ประชุมเห็นว่าเมื่อรัฐบาลสั่งปิดกิจการเหมืองไปแล้ว ไม่เห็นควรให้ดำเนินกิจการต่อไป และควรหาแนวทางอื่น ขณะที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แสดงความเห็นว่ารัฐบาลควรรอผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ

อย่างไรก็ตามที่ประชุม ครม.ไม่ได้พิจารณาหรือเสนอแนะว่าควรใช้แนวทางใด ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ขอเวลาคิดก่อนว่าจะใช้แนวทางใด เวลานี้ยังไม่ขอตัดสินใจพร้อมระบุว่า “ผมรับผิดชอบเอง” เพราะเป็นผู้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น

รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีเหมืองทองดังกล่าว เกิดปัญหาการร้องเรียนจากชาวบ้าน และมีการตั้งคณะทำงานจากหลายกระทรวงร่วมพิสูจน์ แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ คสช.จึงใช้อำนาจ ม.44 สั่งระงับการทำเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและรักษาสิ่งแวดล้อม

ส่งผลให้เหมืองทองของบริษัทอัคราฯ ต้องยกเลิกการทำเหมือง และมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากไม่มีข้อพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ว่าชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการทำเหมืองทองของบริษัท

ต่อมานายเกร็ก ฟาวลิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อัคราฯ สมัยนั้น เดินทางมาไทยขอพบนางอรรชกา ศรีบุญเรือง สมัยเป็นรมว.อุตสาหกรรม แต่นางอรรชกา ให้นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงขณะนั้น พบแทน และต่อมาเปลี่ยนรัฐมนตรีเป็นนายอุตตม สาวนายน ก็ไม่ให้พบเช่นกัน

สุดท้ายทำให้บริษัท คิงส์เกตฯ บริษัทแม่ของบริษัท อัคราฯ ตัดสินใจฟ้องรัฐบาลไทย ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทย-ออสเตรเลีย (ทาฟต้า)

รายงานข่าวจากผู้ประกอบการเหมือง เผยว่า การประเมินตัวเลขความเสียโอกาสของเหมืองบริษัท อัคราฯ วัดจากปริมาณสำรองแร่ทอง 8.9 แสนออนซ์ คิดเป็นวงเงินประมาณ 37,020 ล้านบาท และเงิน 8.3 ล้านออนซ์ คิดเป็นวงเงินประมาณ 3,984 ล้านบาท สามารถผลิตได้ในช่วง 8-10 ปีข้างหน้า รวมมูลค่า 41,004 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณสำรองที่คาดว่าจะมี ประกอบด้วย ทอง 162 ล้านออนซ์ เงิน 28.4 ล้านออนซ์ ข้อมูลเหล่านี้คิงส์เกตได้ยื่นต่ออนุญาโตฯ ให้พิจารณาแล้ว

นอกจากนี้ยังมีความเสียหายอื่นๆ อาทิ การเยียวยาพนักงาน เพราะจนถึงปัจจุบันทางรัฐบาลยังไม่มีข้อยุติทางวิทยาศาสตร์ ว่าเหมืองของบริษัท อัคราฯ ปล่อยสารพิษจนกระทบต่อสุขภาพของประชาชนรอบเหมือง แต่ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งปิดเหมือง ทางบริษัท คิงส์เกตฯ จึงฟ้องร้องว่าไทยละเมิดการค้าเสรีระหว่างไทยกับออสเตรเลีย


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน