อธิบดีกรมศิลป์ย้ำหมุดคณะราษฎร เหมือนป้ายบอกเหตุการณ์ ไม่เกี่ยวประวัติศาสตร์ แคมเปญทวงคืนหมุดคึกคัก แห่ร่วมลงชื่อแล้วเกือบ 3 พันคน มีทั้งนักเขียน ศิลปินแห่งชาติ นักวิชาการดัง ทหารคุมตัวคนแจ้งความเข้าค่ายอีก “บิ๊กป้อม”พอใจปรองดองคืบหน้า เน้นสัญญาประชาคมต้องตอบสนองประชาชน-ทำได้จริง สนช.ฉลุยโยก 1.1 หมื่นล้านเข้างบกลาง ผ่านวาระแรก ร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ “วิษณุ”ย้ำมีผลผูกพันทุกองค์กร สปท.นัดถกลับฟัน”ป๋าอนุสร”ปมตบเด็กเสิร์ฟหรือไม่ 24 เม.ย.นี้ ตำรวจขวางม.เกษตรฯ จัดเสวนาเรื่องเลือกตั้ง อาจารย์โวยล้ำเส้น “บิ๊กตู่”ใช้ม.44 เลิกสรรหาตุลาการศาลรธน.

“บิ๊กป้อม”ถกกรอบปรองดอง

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการ เพื่อสรุปข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับจากพรรคการ เมือง กลุ่มการเมือง และภาคประชาชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เพื่อกำหนดกรอบดำเนินการ

โดยมีพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานอนุกรรม การรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.สส. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะประธานคณะอนุกรรม การจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

เร่งสรุปให้คลุม 10 ประเด็น

พล.อ.ประวิตรแถลงว่า ขั้นตอนการสร้างความปรองดองขณะนี้อยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็น นำรายละเอียดทั้งหมดมาสรุปชี้แจงให้คณะกรรมการ คณะที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ โดยทางที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ครม.ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมและเห็นด้วยในข้อคิดเห็นที่ประชาชนและฝ่ายการเมืองให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งข้อมูลทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจะให้คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น รวบรวมข้อคิดเห็นทั้งหมดอีกครั้งว่าครอบคลุม 10 ประเด็น และ 1 คำถามหรือไม่ ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ข้อมูลทั้งหมดต้องบูรณาการว่าตอบโจทย์สิ่งที่ประชาชน พรรค และกลุ่มการเมืองต่างๆ ให้ข้อคิดเห็นมาหรือไม่ แต่กระบวนการทั้งหมดยังไม่ออกเป็นกฎหมาย เพราะคณะอนุกรรมการชุดที่ 2 ต้องไปบูรณาการเพื่อตอบสังคมให้รับทราบทั้งหมด จากนั้นจะส่งต่อให้คณะอนุกรรมการชุดที่ 3 ดำเนินการเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ จะเรียกว่าสัญญาประชาคม หรือสัญญาความร่วมมือให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติก็ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายพยายามเร่งดำเนินการ เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันและประเทศเดินต่อไปได้ในอนาคต ส่วนความขัดแย้งทางความคิดเป็นเรื่องปกติ ไม่มีปัญหาเพราะไม่ทำให้เกิดความรุนแรง

ระบุพูดเล่นจะหายตัว 14 วัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อคิดเห็นเพิ่มเติมคืออะไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เป็นเรื่องปัญหาที่ดิน ซึ่งเราไม่มีรายละเอียดมาก จึงจำเป็นให้คณะอนุกรรมการชุดที่ 1 สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าดำเนินการอย่างไรไปบ้าง ต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนเม.ย.นี้ ขณะที่ร่างสัญญาประชาคมจะเห็นได้ชัดเจนในคณะอนุกรรมการชุดที่ 3

เมื่อถามว่าร่างสัญญาประชาคม จะเสร็จในเดือนมิ.ย.หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า อยู่ที่คนทำงาน ต้องให้เวลา อย่าไปเร่งรัด ส่วนประเด็นทางการเมืองไม่มีอะไรเพิ่มเติม เพราะทุกคนต้องใช้กฎหมายเดียวกัน และเราต้องการให้ประชาชนเลือกคนดีเข้ามาบริหารประเทศ ตนพึงพอใจในความคืบหน้าของการสร้างปรองดอง โดยคนที่อยู่ในที่ประชุมมีทั้งคนที่มีความรู้มีความสามารถ และอดีตนักการเมือง ต่างเห็นด้วยกับการดำเนินการสร้างความปรองดอง แสดงว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว

พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีระบุจะหายตัวไป14 วันนั้นว่า “เป็นการพูดเล่นกับผู้สื่อข่าว แต่มีการหยิบยกไปเป็นประเด็น ซึ่งที่บอก 14 วันนี้อาจหมายถึงไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เพราะบางครั้งก็ถามคำถามกันส่งเดช ส่วนตัวผมนั้นไม่ได้จะหายไปไหน”

เน้นฟังความเห็นเท่าเทียมกัน

ด้านพล.ต.คงชีพ แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้รับฟังความเห็นที่รวบรวมจากอนุกรรมการชุดที่ 1 ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.-5 เม.ย. และได้ส่งต่อให้คณะกรรมการชุดที่ 2 โดยคณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาข้อคิดเห็นอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปและใช้ในการประชุมกลุ่มย่อย ทั้งนี้จะมีการประชุมกลุ่มย่อยจากส่วนกลางในวันที่ 26 เม.ย.นี้ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ขณะที่ส่วนภูมิภาคจะเป็นหน้าที่ของกอ.รมน. จะดำเนินการในกลุ่มจังหวัดจังหวัดละ 4-9 จังหวัด ภาคละ 3 ครั้งคือ ภาคเหนือ ที่จ.เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก ภาคกลางที่ กทม. สระบุรี เพชรบุรี ภาคใต้ที่จ.กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จ.อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา

พล.ต.คงชีพกล่าวว่า พล.อ.ประวิตรได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญในการรับฟังความเห็นจากทุกพรรค ทุกกลุ่มการเมืองและภาคส่วนต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน ให้ใส่ใจรายละเอียดเพื่อเปิดให้กลุ่มที่เคยมาให้ความคิดเห็นได้ทบทวน ข้อมูลที่เคยเสนอไปเพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ภายใต้กรอบที่เคยให้ความคิดเห็นไปแล้ว และต้องไม่เกิดความขัดแย้งหรือโต้เถียง

เผยทำฐานข้อมูล 5 กลุ่ม

พล.ต.คงชีพกล่าวต่อว่า ส่วนเนื้อหาสาระ ภาคกลางสนใจเรื่องการเมืองมากกว่าด้านอื่น ส่วนภาคอื่นๆ ให้การเข้าถึงในการบริหารทรัพยากรทั้งที่ดินและน้ำ ส่วนของกลุ่มการเมืองนั้น ต้องการให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเป็นธรรม ด้านนักวิชาการ นิสิตนักศึกษาและสื่อมวลชน เน้นเรื่องกติกาการเมือง ปัญหาคอร์รัปชั่นและความมุ่งมั่นแก้ปัญหาของภาครัฐ

โดยได้มีการจัดฐานข้อมูลที่ได้เป็น 5 กลุ่ม 1.เป็นข้อเสนอที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ดำเนินการแล้ว กำลังดำเนินการอยู่ 2.เป็นข้อเสนอที่สามารถดำเนินการได้ทันที 3.เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ 4.เป็นข้อเสนอที่ต้องการสร้างความรับรู้เพื่อไม่ให้ขยายไปสู่ความขัดแย้ง และ 5.กลุ่มข้อมูลที่จำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การแก้ไข

พล.ต.คงชีพกล่าวว่า ส่วนแนวทางร่างสัญญาประชาคมนั้น คงไม่ถึงขั้นเป็นรูปเล่ม แต่จะเป็นในลักษณะใด ขอให้รอความชัดเจนอีกครั้ง โดยมุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ หรือยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ละเลยความเห็นหรือเสียงของคนส่วนน้อย และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและแนวทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

“วิษณุ”แจงกม.ยุทธศาสตร์ชาติ

เมื่อเวลา 13.50 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธาน พิจารณาร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธ ศาสตร์ชาติ ที่ครม.เป็นผู้เสนอ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงว่ากฎหมายยุทธศาสตร์ชาติเปรียบเป็นพี่ใหญ่กว่า สำคัญกว่า เพราะรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดว่า ครม.ต้องจัดทำกฎหมายยุทธศาสตร์เพื่อวางเป้าหมาย เป็นแผนเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจ การใช้งบประมาณ กำลังคน ให้เสร็จภายใน 120 วัน หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ จากนั้นนับหนึ่ง ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือซูเปอร์บอร์ด มาดำเนินการตามแผนให้เสร็จใน 1 ปี ซึ่งจะมีผลผูกพันกับทุกองค์กร หากพบว่าหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตาม จะมีมาตรการเชิงบังคับ สถานเบาจะตักเตือนให้แก้ไข แต่ถ้ายังไม่ทำให้ส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากป.ป.ช.ชี้ว่ากระทำผิดจริง จงใจฝ่าฝืน ให้ดำเนินการกับหัวหน้าส่วนราชการนั้นตามกฎหมายได้ ส่วนที่กังวลว่าการกำหนดยุทธ ศาสตร์ชาติไว้ล่วงหน้า 20 ปี สุ่มเสี่ยงต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น รัฐบาลใดที่เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็ปรับแก้ได้

จากนั้นที่ประชุมลงมติรับหลักการในวาระ 1 เห็นชอบด้วยคะแนน 196 ต่อ 0 และงดออกเสียง 3 พร้อมตั้ง กมธ.วิสามัญ 33 คน ให้เสร็จภายใน 60 วัน

ต่อมาที่ประชุมสนช.ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ และมีมติรับหลักการ ด้วยคะแนน 186 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และให้ตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว 26 คน

โอน 1.1 หมื่นล.เป็นงบฯกลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม สนช. ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม ยังได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย มีสาระสำคัญคือการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีพ.ศ.2560 ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น บางรายการ จำนวน 11,816,512,300 บาท ไปตั้งไว้เป็นงบประมาณสำหรับงบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

โดยหน่วยงานที่ถูกโอนงบมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ 1,087,270,800 บาท กระทรวงมหาดไทย 541,552,100 บาท กระทรวงสาธารณสุข 417,136,100 บาท ขณะที่กระทรวงกลาโหมถูกโอนไป 55,847,700 บาท

ชั่วโมงเศษฉลุย 3 วาระรวด

จากนั้นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มี 6 มาตรา เป็นการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นเป็นบางรายการไปตั้งเป็นงบฯกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 11,866,512,300 บาท เพื่อ 1.การนำงบฯที่หน่วยงานต่างๆ ไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ทันภายในวันที่ 31 มี.ค.2560 ไปตั้งจ่ายเป็นงบฯกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน 2.จะส่งผลให้การใช้จ่ายของรัฐบาลมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น ซึ่งการโอนรายจ่ายจะทำให้สามารถนำงบไปใช้จ่ายข้ามหน่วยงานได้ ช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณในภาพรวมใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม สนช.ได้พิจารณาและรับหลักการวาระแรกด้วยคะแนน 215 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 และตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา พิจารณาวาระ 2 ก่อนให้ความเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนนเสียง 207 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยใช้เวลาในการพิจารณาราว 1 ชั่วโมง 25 นาที

สปท.จ่อถกลับฟัน”ป๋าอนุสร”หรือไม่

ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) แถลงหลังการประชุมว่า ขณะนี้คณะกรรมการจริยธรรม สปท.พิจารณากรณีนายอนุสร จิรพงศ์ สมาชิก สปท. ที่ถูกร้องเรียนกรณีทำร้ายร่างกายเด็กเสิร์ฟร้านอาหารชื่อดังแห่งหนึ่ง เนื่องจากถูกเรียกว่า “ป๋า” ว่าอาจเป็นการกระทำหรือมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการ พ.ศ.2558 ข้อ 32 ประกอบข้อบังคับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2558 ข้อ 102 หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการจริยธรรม สปท.จะสรุปข้อเท็จจริงรวมถึงความเห็นต่างๆ ว่านายอนุสรฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับหรือไม่

โดยจะเสนอให้นายทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ภายในวันที่ 21 เม.ย.นี้ เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ สปท.ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ต่อไปเป็นวาระแรก โดยจะเป็นการประชุมลับตามข้อบังคับการประชุม ส่วนผลจะออกมาอย่างไรจะนำแถลงอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

ตำรวจขวางม.เกษตรจัดเสวนา

เมื่อเวลา 14.20 น. ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.บางเขน เดินทางเข้าขอความร่วมมือไม่ให้นิสิต กลุ่มเสรีนนทรีย์ กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ และภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จัดงานเสวนา “the fake thailand ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนถ้าไม่มีเลือกตั้ง 2560” อ้างว่ามีประเด็นเกี่ยวข้องกับการเมือง

น.ส.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มก. ชี้แจงว่า งานเสวนาดังกล่าวเป็นเอกสิทธิ์ของผู้สอนที่จะเชิญวิทยากรคนไหนมาบรรยายก็ได้ อีกทั้งการเรียนการสอนมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังยืนยันขอความร่วมมือไม่ให้วิทยากรเข้าร่วมเสวนา โดยมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตามจุดต่างๆ อาทิ หน้าประตูทางเข้า-ออก ลิฟต์ บันได บริเวณรอบอาคาร 4 ป้องกันไม่ให้วิทยากร สื่อมวลชน รวมถึงนิสิตที่ไม่ได้ลงทะเบียนเรียนเข้าร่วมเสวนา แต่การเรียนการสอนสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยให้เข้าเพียงนิสิตที่ลงทะเบียนเรียนเท่านั้น

อาจารย์โวยล้ำเส้น

จากนั้นเวลา 15.20 น. น.ส.ชลิตา พร้อมด้วยวิทยากร คือ นายธนศักดิ์ สายจำปา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และนายปกรณ์ อารีกุล กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ร่วมกันแถลงข่าว โดยน.ส.ชลิตากล่าวว่า กิจกรรมวันนี้เป็นการเสริมความรู้นิสิตนักศึกษานอกเหนือจากชั่วโมงเรียน ในรายวิชามานุษยวิทยาการเมือง ที่มีการศึกษาทฤษฎีเกี่ยวกับอำนาจรัฐ จึงต้องเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยในช่วงนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการคุกคามอย่างมาก ตนไม่อาจยอมรับการใช้อำนาจที่ล้ำเส้นสถาบันการศึกษาได้ โดยสถานการณ์เริ่มตั้งแต่เย็นวันที่ 19 เม.ย. มีเจ้าหน้าที่โทร.หาวิทยากรเกี่ยวกับงานเสวนาในวันนี้ จนทำให้เกิดความหวาดระแวง

“มีการบอกผู้บริหารให้ไล่มาบอกกันเป็นทอดๆ เพื่อให้เลื่อนการเสวนานี้ จะให้เราเลื่อนไปถึงชาติหน้าเลยหรือไม่ เข้าใจอธิการบดี ตำรวจ ทหารที่ต้องทำตามหน้าที่ แต่อยากขอพื้นที่และความให้เกียรติกันบ้าง จะบังคับกันจนไม่ให้หายใจเลยใช่หรือไม่ หวังว่าเหตุการณ์นี้คงเป็นครั้งสุดท้าย บ้านเมืองเราควรมีอารยธรรมมากกว่านี้ และยืนยันว่าจะไม่หยุดจัดเสวนาในครั้งต่อไป” น.ส.ชลิตากล่าว

ด้านนายปกรณ์กล่าวว่า การจัดเวทีพูดคุยในมหาวิทยาลัยหลายครั้งดำเนินการได้เพราะไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่มีความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แต่วันนี้ตนกลับถูกควบคุมตัวไม่ให้ขึ้นตึก

นายธนศักดิ์กล่าวว่า ไม่คาดคิดว่าการเสวนาวันนี้จะเป็นปัญหา เตรียมข้อมูลมาบรรยายตามหลักวิชาการรัฐศาสตร์ แต่กลับมาเจอเจ้าหน้าที่ห้ามเข้าไปบรรยาย

“มาร์ค”ข้องใจ-จี้ปชป.ตอบเรื่องหมุด

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องการหายไปของหมุดคณะราษฎรว่า แปลกใจที่มาเจาะจงว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องตอบเรื่องนี้ ตนไม่ได้มีปัญหาที่จะแสดงความคิดเห็น นี่คือสิ่งที่เราต้องระมัดระวัง แต่เมื่อเรื่องนี้มีที่มาที่ไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสืบสวนว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเป็นเรื่องของส่วนรวมไปแล้ว และเป็นวัตถุประวัติศาสตร์ จะมาบอกว่าคนนี้เป็นทายาทหรือพรรคประชาธิปัตย์มีหัวหน้าพรรคคนแรกเป็นคณะราษฎร นั่นไม่ใช่

ที่สำคัญไม่ควรเอาเรื่องนี้มาเป็นปัญหาขัดแย้งทางการเมือง หรือเป็นประเด็นการเมืองสำหรับใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งหวังว่าจะไม่เป็นชนวนขัดแย้ง แม้แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ยังยอมรับว่าเรื่องนี้กระทบกับความรู้สึกของคน เราต้องช่วยกันให้ก้าวพ้นตรงนี้ไปได้

ยันคณะราษฎรไม่ได้ตั้งพรรค

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ความจริงถ้าจะใช้ในทางประวัติศาสตร์เรากำลังพูดถึงเหตุการณ์ในปี 2479 ที่มีการนำหมุดมาวาง ประการแรกคือก่อนที่พรรคจะเกิดขึ้น 10 ปีแล้ว หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 4 ปี ทั้งในระหว่าง 4 ปี และในช่วง 10 ปี มีทั้งรัฐประหาร มีทั้งการที่คณะราษฎร กลุ่มต่างๆ ดำเนินการทางการเมืองในแนวทางที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง

“ฉะนั้นจะมาบอกว่าสรุปคือคณะราษฎรตั้งพรรคประชาธิปัตย์คงไม่ได้ แต่อดีตหัวหน้าพรรคเป็นหนึ่งในคณะราษฎรก็ถูกต้อง มีบทบาทในช่วงปี 2475 แต่ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ตรงนี้ คือเรื่องนี้ถ้าไปบอกว่าเป็นหมุดของคณะราษฎร หรือของทายาทของคณะราษฎร หรือของคนที่เคยเกี่ยวข้องกับคณะราษฎร ผมว่าจะสับสน ถ้าอย่างนั้นจะเกิดปัญหา” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ทายาทโพสต์โต้”เลิกคิดถาม”

ด้านนายพริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ทายาทชั้นเหลนของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ หนึ่งในคณะราษฎร ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า เมื่อได้ฟังคำตอบจากท่านหัวหน้าพรรคเก่าแก่ว่าเรื่องนี้ผู้ก่อตั้งพรรค ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อการไม่เกี่ยวจึงปล่อยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการไป ซึ่งผมก็เห็นด้วยนะครับ ว่าต้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ แต่ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะดำเนินการก็ไม่ทราบว่าท่านรออะไรอยู่

จริงๆ ก็อยากทราบเหตุผล เราก็น่าจะเรียนวิชาโต้วาทีมาหลักสูตรเดียวกันมิใช่หรือ ผมเพิ่งจบมาใหม่ๆ เองนะครับ ก็นึกว่าท่านจะได้ให้คำตอบที่ทำให้รุ่นน้องประทับใจเสียหน่อย แต่พอฟังคำตอบต่อสังคมจากท่านแล้วผมก็เลิกคิดถามอะไรต่อเลยครับ ผู้ที่ลืมว่าก่อนจะมาได้ดิบได้ดีเคยมีพื้นเพที่มาอย่างไรนี่ ภาษิตแบบไทยๆ เขาเรียกว่าอะไรนะครับ?

กรมศิลป์เปรียบป้ายบอกเหตุการณ์

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวกับผู้สื่อข่าวระหว่างปฏิบัติหน้าที่ กรณีหมุดคณะราษฎร ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยหายไป ว่า ไม่ขอตอบเรื่องหมุด แต่สมมติให้ฟังว่า เกิดสงคราม 9 ทัพ ซึ่งเกิดที่ทุ่งลาดหญ้า ปัจจุบันอยู่ในกาญจนบุรี แต่มาวันหนึ่ง มีคนเขียนป้ายว่า ที่แห่งนี้คือสมรภูมิรบ ระหว่างทหารไทยกับกองทัพพม่า จนเราได้รับชัยชนะ โดยป้ายนี้เพิ่งมาเขียนหลังสงครามผ่านไป กี่ปีก็แล้วแต่ ถามว่าป้ายนี้เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามไหม อะไรเป็นข้อเท็จจริงอยู่แล้ว มันก็เป็นแบบนั้น จะเปลี่ยนยังไงก็ไม่ได้

อย่างเหตุการณ์ วันนี้ หากมีคนมาเขียนป้ายว่า วันที่ 20 เดือนเมษายน รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร มาตรวจเยี่ยม โดยมาเขียนอาทิตย์หน้า มันก็เป็นแค่ป้ายบอกเหตุการณ์ แต่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีนักวิชาการประวัติ ศาสตร์การเมืองมองว่าหมุดคณะราษฎรเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ นายอนันต์กล่าวว่า เป็นเรื่องของการตีความ ก็ว่ากันไป

กทม.แจงเหตุถอดซีซีทีวี

นายสุธน อาณากุล ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวถึงกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) 11 ตัว บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจุดที่หมุดคณะราษฎรได้ถูกถอดว่า สจส.ต้องถอดซีซีทีวีออกไปตามแผนงานซ่อมบำรุง ภายใต้งบประมาณกลางปี 2560 จึงทำให้ไม่สามารถบันทึกภาพระหว่างวันที่ 2-8 เม.ย.ที่ผ่านมาได้ ซึ่งการซ่อมบำรุงสัญญาณไฟจราจรบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้แต่แรก สำหรับกล้องที่หันหน้าไปทางลานพระบรมรูปทรงม้าทั้ง 11 ตัว สจส.ได้ทำสัญญากับผู้รับเหมาตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.และคาดว่าจะนำมาติดตั้งเพื่อการใช้งานได้อีกครั้งภายหลังวันที่ 28 เม.ย.นี้

เมื่อถามว่าหน่วยงานใดเป็นผู้ถอดกล้องไปซ่อมบำรุงในวันที่ 31 มี.ค. นายสุธนกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ สจส.เป็นผู้ถอดกล้องเพื่อซ่อมบำรุงเอง ส่วนที่ใกล้ที่สุดที่จะขอดูภาพจากซีซีทีวีได้จะอยู่บริเวณถนนราชดำเนินนอก แต่กล้องดังกล่าวจะใช้ดูงานจราจร จึงไม่สามารถมองเห็นบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบว่าเมื่อถอดกล้องวงจรปิดออกแล้วมีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากเป็นเขตพระราชฐาน จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม.

เปิดชื่อคนร่วมทวงคืนหมุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดมีประชาชนลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้อง “เอาผิดผู้ทำลายและต้องคืนหมุดคณะราษฎร” ที่ตั้งโดยนายชำนาญ จันทร์เรือง นักกฎหมายมหาชน บนเว็บไซต์ www.change.org แล้วทั้งสิ้น 2,845 คน มีทั้งนักเขียน นักวิชาการหลายสาขา ครอบคลุมทุกสีเสื้อที่เป็นคู่ขัดแย้ง เช่น นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ นายเวียง วชิระบัวสนธ์ บ.ก.สำนักพิมพ์สามัญชน นายอติภพ ภัทรเดชไพศาล นักเขียน นายวิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงษ์ศา นักเขียน นายวิภาส ศรีทอง นักเขียนรางวัลซีไรต์ นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล นิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตส.ว.กทม. นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด เศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตส.ว.ตาก นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เศรษฐ ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นายเสนาะ เจริญพร ศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี นายอรรถจักษ์ สัตยานุรักษ์ มนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ น.ส.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล รัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายประภาส ปิ่นตบแต่ง รัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายทรงยศ แววหงษ์ นักวิชาการอิสระ นายวิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

คุมตัวคนแจ้งความเข้าค่าย

เวลา 11.30 น. ที่สน.ดุสิต นายบุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับร.ต.อ.ชัยชน เรืองเพชร รองสว.(สอบสวน) สน.ดุสิต เพื่อขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานและให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎร สัญลักษณ์เหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 บริเวณลานหน้าพระบรมรูปทรงม้าที่หายไป

นายบุญสินเปิดเผยว่า อยากให้ตำรวจติดตามกลับคืนมาให้ได้ เมื่อได้คืนมาแล้วขอให้นำไปเก็บรักษา ไม่ใช่นำไปวางไว้กับพื้นให้รถเหยียบไปมาเหมือนเดิม เดิมตั้งใจจะไปขุดออกมาเก็บไว้อยู่แต่มีคนขุดเสียก่อน และตั้งใจว่าหลังจากเข้าแจ้งความเสร็จจะเดินเท้าไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า โดยใช้เครื่องขยายเสียงตลอดเส้นทาง

ต่อมาเวลา 12.30 น. พล.ต.ต.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ. นพศิลป์ พลูสวัสดิ์ รองผบก.สส.บช.น. ร่วมสอบปากคำนายบุญสิน นานกว่า 2 ชั่วโมง จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้เชิญตัวนายบุญสิน และนายสันติพงษ์ วินุราช อายุ 35 ปี เพื่อนที่ร่วมเดินทางมาด้วย ไปปรับทัศนคติที่ มทบ.11 ทั้งนี้ นายบุญสิน คือบุคคลเดียวกันที่ขึ้นไปบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 9 ก.ค.2549

“เสี่ยไก่”เข้ารับทราบข้อกล่าวหา

เวลา 13.30 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหากรณีโพสต์ข้อความว่าหมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุ ซึ่งพนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เข้าข่ายยุยงปลุกปั่น

หลังเข้าพบพนักงานสอบสวน นายวัฒนาเปิดเผยว่า รู้สึกสังเวชในพฤติกรรมของรอง ผบ.ตร.คนหนึ่งที่ออกมาถามถึงนิสิตนักศึกษาที่ไปแจ้งความกับตำรวจ สน.ดุสิต เพื่อให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎรที่หายไปว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่ ตนขอตอบคำถามแทนคนไทยเพื่อเป็นวิทยาทานว่า หมุดของคณะราษฎรเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณที่ประดิษฐ์ขึ้น โดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เป็นสัญลักษณ์ของการอภิวัฒน์สยามเมื่อ 24 มิ.ย. 2475 จึงถือเป็น “โบราณวัตถุ” ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 หมุดดังกล่าวจึงเป็นสมบัติแห่งชาติ

นายวัฒนากล่าวว่า การที่หมุดของคณะราษฎรสูญหายไป แต่กลับไม่มีปัญญารักษาไว้ได้ พอสูญหายไปแทนที่จะแสดงความรับผิดชอบกลับบ่ายเบี่ยง แล้วจะเอาอะไรมาปกป้องชาติ แบบนี้โบราณเรียกเลี้ยงไว้เสียข้าวสุก และการที่หมุดหายไป ถือเป็นความผิดมาตรา 31 ต้องระวางโทษไม่เกิน 7 ปี ปรับ 7 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยืนยันว่า หากมอบหมายทนายความ นำคำให้การมาส่งมอบให้พนักงานสอบสวนอย่างครบถ้วนชัดเจนตามกรอบเวลาแล้ว ยังมีการดำเนินคดีกับตนเอง ก็จะพิจารณาดำเนินการฟ้องกลับทันที

ผ่านกม.บริหารราชการในพระองค์

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม โดยได้พิจารณาเรื่องด่วนที่ 4 ร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. …. ที่ได้บรรจุเข้าระเบียบวาระเพิ่มเติมแล้ว

จากนั้นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนรัฐบาล ชี้แจงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ขอให้การประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการประชุมลับ ตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ข้อที่ 13 เพราะครม.ยังไม่ได้ปลดชั้นความลับ ขั้นลับที่สุด ซึ่งได้ดำเนินการมาตามลำดับ จึงขอดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ให้เป็นเรื่องลับที่สุดทุกขั้นตอน ทั้งเอกสารและกระบวนการพิจารณา

นายพรเพชรกล่าวว่า เมื่อครม.เสนอให้เป็นการประชุมลับ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับจึงขอเชิญผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องออกจากห้องประชุม งดการกระจายเสียง และแพร่ภาพทางโทรทัศน์วงจรปิดทางรัฐสภา

รายงานข่าว เปิดเผยว่าสำหรับร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. …. เป็นการโอน 6 หน่วยงาน ให้คงเหลือ 3 หน่วยงานคือ 1.สำนักพระราชวัง ประกอบด้วย สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง 2.หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ประกอบด้วย กรมราชองครักษ์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักนายตำรวจราชสำนักประจำ และ 3.สำนักงานองคมนตรี เพื่อให้การบริหารหน่วยงานมีความกระชับมากขึ้น ซึ่งการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภาและที่ประชุมสนช.ผ่านความเห็นชอบ 3 วาระรวด โดยใช้เวลาพิจารณา 2 ชั่วโมง

ทั้งนี้นายพรเพชร ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ในรายละเอียดการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยกล่าวเพียงว่า “เป็นการประชุมลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้”

ม.44งดสรรหาตุลาการศาลรธน.

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 24/2560 เรื่องให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ(ตศร.)ตามคําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 23/2560 โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และข้อ 20 ของคําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 23/2560 หัวหน้าคสช. จึงมีคําสั่งดังนี้ 1.ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดํารง ตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 23/2560 จนกว่าจะมีพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งออกตามความในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ใช้บังคับ หรือจนกว่าจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

2.กรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตําแหน่งตามวาระ ให้ตุลาการฯ ที่พ้นจากตําแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญใช้บังคับ หรือจนกว่าจะพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุอื่น 3.กรณีที่ตุลาการฯ พ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุอื่นนอกจากพ้นจากตําแหน่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการฯ เท่าที่เหลืออยู่ และให้ ตุลาการฯ เท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

ทั้งนี้ คําสั่งดังกล่าวให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สั่งวันที่ 20 เม.ย.2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านฟซบุ๊กว่า ตนเพิ่งจะเห็นด้วยกับการใช้มาตรา 44 ก็คราวนี้ คือคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 24/2560 เรื่องให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 23/2560 ที่เห็นด้วย เพราะเป็นคำสั่งที่ยกเลิกคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน