กรธ.ประเดิมชงเข้าที่ประชุม สนช.แล้ว 2 กฎหมายลูก ทั้งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง ผ่านฉลุยวาระแรก พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญร่วมพิจารณาภายใน 45 วัน ประธานมีชัยส่ง 4 กรธ.เข้าร่วมด้วย เทือกโผล่ไลฟ์แนะเพิ่มจำนวนเป็น 5 พันคน ถึงจะยื่นตั้งพรรคการเมืองได้ อ้างเพื่อให้เป็นของประชาชนจริงๆ ด้านบิ๊กตู่นั่งหัวโต๊ะประชุมป.ย.ป.ชุดใหญ่ก่อนจะให้วิษณุมานั่งแถลงแทน ระบุยังไม่ได้คุยถึงโรดแม็ป-ปลดล็อกพรรคการเมือง ชี้นับหนึ่งวันเลือกตั้งหลังพระราชพิธีสำคัญ ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญากี้ร์-อริสมันต์คดีหมิ่นประมาทมาร์ค

บิ๊กตู่ถกป.ย.ป.-ยกจีนต้นแบบ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ครั้งที่ 1/2560

นายกฯ กล่าวก่อนการประชุมว่า การประชุมวาระแรกนี้เป็นนัดครั้งสำคัญ เป็นการประชุมขนาดใหญ่ ประเทศจะเดินหน้าได้ก็เพราะคณะทำงานที่ทำอยู่ขณะนี้ ทั้งการแก้ไขปัญหาและเดินหน้าประเทศ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา เราได้เสนอกฎหมายไปแล้ว ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต้องขอขอบคุณ ซึ่งตนเห็นข้อเสนอแนะหลายประการที่เป็นประโยชน์ เราจะต้องศึกษาและหารือในชั้นคณะกรรมาธิการ(กมธ.)อีกครั้ง เพื่อปรับปรุงให้ปฏิบัติงานได้

“ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปปิดกั้นใครใดๆ ทั้งสิ้น แต่เราต้องวางกรอบการทำงานและพื้นฐานประเทศ ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดูเหมือนจะยาวนาน แต่คงไม่ยาวนานมากนัก เพราะเป็น 20 ปีที่เราต้องเดินหน้าประเทศต่อไป ผมคิดว่าเป็นเพียงระยะแรกเหมือนกับจีนที่เขาทำมาหลายสิบปีในการยกระดับรายได้ประเทศขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจระดับ 2 ในปัจจุบัน และใน 5 ปีแรกของเราจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาประเทศและการวางพื้นฐาน ต้องอาศัยความร่วมมือของนักการเมือง ข้าราชการ และประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่เรากำหนดไว้ ที่ผมบอกไว้กับทุกคน จึงถือว่าวันนี้ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง” นายกฯ กล่าว

ราชกิจจาฯตั้ง”พีเอ็มยู”รองรับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบสํานักนายกฯว่าด้วยสํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2560 โดยระบุว่า เพื่อเป็นการวางระเบียบปฏิบัติราชการ และเพื่อให้การกํากับ ติดตามและเร่งรัดการดําเนินการตามคําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2560 เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ลงวันที่ 17 ม.ค.2560 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 11 (8) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกฯจึงวางระเบียบสํานักนายกฯ ว่าด้วยสํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2560 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ในระเบียบนี้ กำหนดให้มีป.ย.ป. คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองเรื่องเสนอป.ย.ป. สํานักงานบริหารนโยบายของนายกฯ(พีเอ็มดียู) ผอ.พีเอ็มดียู และคณะกรรมการบริหารพีเอ็มดียู โดยให้จัดตั้งสํานักงานพีเอ็มดียู เป็นหน่วยงานของรัฐ อยู่ในสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) และอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายกฯ อีกทั้งให้นายกฯ แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 1 คนเป็นผอ.พีเอ็มดียู และมีฐานะเทียบเท่าหัวหน้าส่วนราชการตําแหน่งปลัดกระทรวง ทั้งนี้ นายกฯ อาจแต่งตั้งรองผอ. ที่ปรึกษาประจํา สํานักงาน หรือผู้ช่วยผอ.เพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงให้สํานักงานมีคณะกรรมการบริหาร 1 คณะ มีกรรมการไม่เกิน 6 คน โดยมีผอ.เป็นประธานกรรมการบริหาร

รองปลัดทุกกระทรวงประสาน

สำนักงานพีเอ็มดียู มีหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ ติดตามความก้าวหน้าและเร่งรัดในงานของ ป.ย.ป.ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้แต่ละกระทรวงจัดให้มีคณะกรรมการติดตามการปฏิบัติให้เป็นไปตามมติของ ป.ย.ป. โดยมีปลัดกระทรวงเป็นประธาน รองปลัดกระทรวง ผู้ตรวจ และผู้แทน สํานักงาน เป็นกรรมการ มีหน้าที่กํากับ ติดตาม เร่งรัดและรายงานผลการปฏิบัติการให้เป็นไปตามมติ ป.ย.ป. พร้อมหาแนวทางแก้ปัญหาและอุปสรรคตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่สํานักงานกําหนด

นอกจากนี้ ให้ปลัดกระทรวงมอบให้รองปลัดกระทรวง 1 คน เป็นผู้ประสานงานกับสํานักงาน กรณีส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกฯ อีกทั้งส่วนราชการที่ไม่สังกัดสํานักนายกฯ กระทรวง หรือทบวง ให้คณะกรรมการติดตามตามประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการเป็นประธาน และรองหัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนสํานักงาน 1 คน เป็นกรรมการ

วิษณุตีปี๊บรับทราบผลการทำงาน

ต่อมาเวลา 13.40 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แถลงผลประชุมป.ย.ป.ว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการย่อย 4 คณะ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาตร์ชาติ ทั้ง 6 ด้าน ได้รายงานพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เข้าสภาเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ซึ่งรัฐบาลจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 4 เดือน หรือเดือนส.ค.นี้ ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ถือเป็นการวางศิลาฤกษ์การทำยุทธศาสตร์ และจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 32 คนภายใน 1 ปี

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูป ร.อ.ทินพันธุ์ นาคาตะ ประธานสปท. ได้รายงานวาระการปฏิรูปเพิ่มเติมอีก 4 เรื่อง จากที่เสนอรัฐบาลแล้ว 27 เรื่อง ซึ่งนายกฯรับพิจารณาทั้งหมด เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนคณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ได้รายงานสรุปผลการรับฟังความเห็นจากพรรคและกลุ่มการเมือง รวม 199 คนจาก 53 พรรค และเอกชน 43 องค์กร 91 คน รวมทั้งสิ้น 290 คน ซึ่งเสนอมากว่า 70 เรื่อง เช่น การลดความเหลื่อมล้ำ แก้ยากจน สร้างความเป็นธรรม แก้ทุจริตและการเลือกตั้ง ซึ่งนายกฯระบุว่าหลายเรื่องตรงกับสิ่งที่รัฐบาลทำ ดังนั้นจะนำข้อเสนอมาจับคู่กับสิ่งที่รัฐบาลทำ เพื่อจัดลำดับความสำคัญว่าเรื่องใดรัฐบาลยังไม่ได้ทำ และดูว่าทำได้หรือไม่ และจัดทำเป็นบัญชีเพื่อชี้แจงสังคมต่อไป ทั้งนี้ ข้อเสนอที่รับฟังมานั้น จะให้แต่ละฝ่ายจับมือกันว่าจะทำในเรื่องนั้นๆ ให้สำเร็จได้อย่างไร แต่ไม่ผูกมัด ไม่ทำสัญญาประชาคม

ไม่เอ่ยโรดแม็ป-ปลดล็อกพรรค

“ที่ประชุมไม่ได้พูดคุยหารือเรื่องโรดแม็ป การเลือกตั้ง หรือเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลดล็อกให้พรรคทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งนายกฯ แจ้งที่ประชุมให้ทราบว่าในเดือนต.ค.นี้ จะมีกำหนดการสำคัญ คือพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ช่วงปลายปีจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จากนั้นทุกอย่างจะเดินหน้าต่อไป แต่ไม่ได้แจ้งกรอบเวลานำไปสู่การเลือกตั้ง ถ้ากฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อครบทั้ง 4 ฉบับ จะเริ่มนับหนึ่งสำหรับการเลือกตั้งได้ ส่วนการปลดล็อกพรรค เป็นเรื่องที่คสช.จะต้องพิจารณาจากสถานการณ์เอง” นายวิษณุกล่าว

รองนายกฯ กล่าวว่า ตนได้ชี้แจงถึงการปฏิบัติงานตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า ป.ย.ป.ยังคงอยู่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ เพราะเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการประสานการทำงานร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูป เป็นการเร่งรัดเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องใดจะต้องทำในเวลา 4 เดือน 6 เดือน 1 ปี และใครจะเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการทำงานของ ป.ย.ป.จะไม่ซ้ำซ้อนกับคณะอื่น ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เสนอให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพิ่มบทบาทการทำงาน ให้เป็นฝ่ายเลขาฯ ของคณะกรรมการยุทศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน จากเดิมทำหน้าที่วางแผน ประเมินผลการทำงาน และให้ความเห็นกับรัฐบาลในการทำโครงการต่างๆ ถือเป็นการยกเครื่องสศช.ใหม่ ทั้งนี้ ให้ฝ่ายเลขาฯสศช. นำเรื่องไปพิจารณาทั้งการสรรหาบุคคลากร การแบ่งส่วนการทำงาน

แจงม.44เลิกม.44สรรหาศาลรธน.

นายวิษณุกล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 24/2560 เรื่องให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 23/2560 ว่า การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตามคำสั่งที่ 23 เราไม่เข้าไปยุ่ง เพราะเขาคิดว่าสรรหาได้ และหากมีอะไรสะดุด ยังมีคนรักษาการอยู่ แต่ในศาลรัฐธรรมนูญไม่มีคนรักษาการ จึงเป็นห่วง เพราะการสรรหาตุลาการฯ ต้องมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองและศาลฎีกา รวมทั้งสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ให้สภาพิจารณา ซึ่งการสรรหาตุลาการฯ ใน 60 วัน ตามคำสั่งที่ 23 อาจเสร็จไม่ทันตามกำหนด อีกทั้งการสรรหาตุลาการฯ จากศาลปกครองและศาลฎีกาในขณะนี้มีบุคลากรน้อย หากรออีกสักพักจะมีบุคคลเพิ่มเข้ามา เนื่องจากขณะนี้ตุลาการในศาลทั้งสองแห่งมีตำแหน่งว่างอยู่ เมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกมาค่อยให้สรรหาตามนั้น

นายวิษณุกล่าวว่า การทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขณะนี้ไม่มีปัญหา และการออกคำสั่งดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับเสียงท้วงติงฝ่ายการเมืองว่าคสช.จะสืบทอดอำนาจผ่านตุลาการ ถึงแม้จะแก้ปัญหาเช่นนี้ เขาก็ยังท้วงติงได้อยู่ดี

ศาลนัดพร้อมคดีปูฟ้องจิรชัย

ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางซอยสีคาม ถนนนครไชยศรี ศาลนัดพร้อมในคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าว เป็นจำเลย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คดีนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2559 ระบุพฤติการณ์ในคำฟ้องสรุปว่า วันที่ 3 เม.ย.2558 นายจิรชัย ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ จะต้องตรวจสอบ เดินเผชิญสืบคลังสินค้าที่เก็บข้าวสารเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีอยู่จริงของปริมาณต้นทุนข้าวเปลือกแต่ละชนิดที่ชาวนานำมาเข้าโครงการ จำนวนข้าวที่ได้จำหน่ายและระบายไปว่ามีปริมาณเท่าใดเพื่อหักทอนทางบัญชี และตรวจดูว่าคงเหลือข้าวสารแต่ละชนิดในคลังสินค้าขององค์การคลังสินค้า หรืออคส. 1,626,395.13 ตัน และอยู่ในความครอบครองขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกรหรือ อตก. 7,984,553.17 ตันนั้น เป็นความจริงหรือไม่ แต่การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลย ขาดความเที่ยงธรรม ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ไต่สวนพยานบุคคล ไม่แสวงหาข้อเท็จจริง ไม่ตรวจสอบสินค้าคงเหลือให้ครบถ้วนและไม่สอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่กลับกำหนดความเสียหายและกล่าวหากับรัฐบาล โจทก์ เหตุเกิดที่แขวง เขตดุสิต กทม.

คดีนี้ ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตฯ ขณะนั้น ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น มีคำสั่งยกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้องโดยที่ยังไม่ได้ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นรับคดีไว้ไต่สวนมูลฟ้อง

ทนายขอนำ 5 พยานไต่สวน

โดยวันนี้ นายนพดล หลาวทอง ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ และผู้รับมอบฉันทะนายจิรชัย เดินทางมาศาล โดยนายพนดล แถลงศาลขอนำพยานขึ้นไต่สวนมูลฟ้อง 5 ปาก โดย 1 ในนั้นมี น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ด้วย ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตและกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 28-30 มิ.ย.นี้

นายนพดลเปิดเผยว่า ศาลอนุญาตให้ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าไต่สวนมูลฟ้องตามที่ร้องขอคือวันที่ 28-30 มิ.ย. เเต่ในข้อเท็จจริง อาจไต่สวนพยานไม่ถึง 5 ปาก หรืออาจจะขยายเวลาการไต่สวนพยานออกไปอีกก็ได้ ขึ้นอยู่กับพยานที่นำไต่สวนเพียงพอหรือไม่ บางทีแค่ปากสองปากอาจจะจบแล้ว โดยการไต่สวนมูลฟ้องนั้น นายจิรชัย สามารถแต่งตั้งทนายหรือพนักงานอัยการขึ้นมาซักค้านได้ซึ่งเป็นสิทธิเนื่องจากเป็นข้าราชการ

เมื่อถามว่ามั่นใจว่าศาลจะประทับรับฟ้องหรือไม่ นายนพดลกล่าวว่า เบื้องต้นเราจะยืนยันและเห็นว่าการปฏิบัตหน้าที่นายจิรชัยไม่ชอบ ส่วนพยาน 4-5 ปากที่จะนำขึ้นไต่สวนมูลฟ้องนั้นยังไม่ได้ระบุชัดว่าจะมีใครบ้าง แต่ 1 ในนั้นมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่จะขึ้นไต่สวนวันไหนนั้น ขึ้นอยู่กับพยานแต่ละคนว่าจะสะดวกวันไหนกันบ้าง ส่วนหากไต่สวนมูลฟ้องแล้วผลปรากฏว่าศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องจะเข้าขั้นตอนการกำหนดวันนัดสืบพยานในศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้เลย

กรธ.ชงพรป.กกต.เข้าสนช.แล้ว

ที่รัฐสภา ในการประชุมสนช. โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ชี้แจงว่า ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดในมาตรา 267 ให้กรธ.อยู่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อจัดทำพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ให้เสร็จ เพื่อให้สนช.พิจารณาเห็นชอบต่อไป ขณะนี้ กรธ.จัดทำพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต.เสร็จเรียบร้อย ในส่วนของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต.นั้น กรธ.ได้ให้องค์กรอิสระต่างๆ เสนอความคิดเห็นมา และกรธ.ได้ใช้ร่างขององค์กรอิสระเหล่านั้นพิจารณา ใช้หลัก 3 ประการคือ 1.สิ่งใดที่ร่างมาและดีอยู่แล้วก็ให้คงไว้ตามนั้น 2.สิ่งใดที่ขาดตกบกพร่องก็จะดำเนินการเพิ่มให้สมบูรณ์ขึ้น และ 3.สิ่งใดที่ต้องเพิ่มเข้ามาใหม่ เพื่อให้องค์กรอิสระมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล

นายมีชัยกล่าวว่า กรธ.ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน 2 รูปแบบ คือ 1.จัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงทั้งต่างจังหวัดและส่วนกลาง ซึ่งการรับฟังความเห็นส่วนกลางได้เชิญ สนช. และสปท.ให้มาแสดงความเห็นด้วย ทั้งนี้ ในต่างจังหวัดได้จัดทำเวทีครบทั้ง 4 ภาค และ 2.กรธ.นำตัวร่างที่องค์กรอิสระเสนอมาขึ้นเว็บไซต์ให้ประชาชนเข้าไปดูได้ และระหว่างปรับปรุงแก้ไขจนร่างเสร็จก็นำขึ้นเว็บไซต์ โดยประชาชนสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้

จัดเลือกตั้งเที่ยงธรรม-ได้คนดี

นายมีชัยกล่าวต่อว่า ในส่วนสนช. ได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาควบคู่กัน และได้ส่งข้อคิดเห็นมายังกรธ.เป็นระยะ โดยหลายกรณี สะกิดให้กรธ.พบข้อบกพร่อง ทำให้มีการโต้แย้งกันว่า จะทำอย่างไรถึงจะเหมาะสม ซึ่งกรธ.พยายามทำให้กลไกที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญคือ กกต.ให้จัดการเลือกตั้งด้วยความเที่ยงธรรม ได้คนดีมาปกครองบ้านเมือง ดังนั้น ในการพิจารณาของกมธ.ต่อจากนี้ ถ้าพบเห็นว่ามีอะไรขาดตกบกพร่อง ก็ย่อมเป็นอำนาจของกมธ.ที่จะแก้ไขปรับปรุง ซึ่งกรธ.ก็พร้อมรับฟังและชี้แจงให้เห็นว่าทำไมถึงเขียนอย่างนั้น หากมีข้อขาดตกบกพร่องส่วนใด กรธ.น้อมรับเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์

จากนั้น เปิดให้สมาชิกอภิปราย ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนในหลักการ แต่ยังมีข้อสังเกตในรายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าว อาทิ นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน อภิปรายว่า ภาพรวมเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสนช.ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาตัวร่างฉบับกรธ.มาล่วงหน้าแล้ว เห็นข้อดีหลายเรื่อง เช่น การมีมาตรการคุ้มครองพยานในกรณีการเลือกตั้งในพื้นที่มีการทุจริต ซึ่งที่ผ่านมาคนที่เป็นพยานมักไม่ได้กลับไปอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพลของบุคคลที่จะได้เป็นส.ส.

มีชัยแจงผลดีผู้ตรวจการเลือกตั้ง

นายมีชัย ชี้แจงว่า ข้อกังวลที่ระบุว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งจะไม่ชำนาญเหมือนกกต.จังหวัดนั้น ขอเรียนว่าขณะที่สมาชิกนั่งอยู่ในสภายังรู้เลยว่าข้างนอกเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะปัจจุบันการสื่อสารรวดเร็ว จึงไม่จำเป็นต้องลงไปฝังตัวอยู่ในพื้นที่ และส่วนหนึ่งของผู้ตรวจการเลือกตั้งจะเป็นคนในพื้นที่ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ในสำนักงานกกต.จังหวัดน่าจะบอกเบาะแสได้ จึงไม่ต้องกังวล และเป็นหลักปกติที่เราต้องสร้างมือไม้ให้องค์กรทำงาน แต่ไม่ใช่มอบหมายหรือมอบอำนาจให้คนอื่นไปทำ และนี่จะเป็นหลักใช้ตลอดไปในทุกองค์กรอิสระ

นายมีชัยกล่าวว่า ที่สำคัญเมื่อตั้ง กกต.จังหวัด จะเป็นรูปกรรมการ การทำงานจะเป็นคณะ ซึ่งไม่น่าเกิดความคล่องตัวในการตรวจสอบการเลือกตั้ง แต่ถ้าเป็นรูปแบบผู้ตรวจการเลือกตั้ง เขาจะทำงานลำพังและรายงานกลับสู่ส่วนกลางด้วยตัวเขาเอง หลักนี้จะเป็นหลักที่สอดคล้องที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรคสุดท้าย ที่บอกว่าให้หลีกเลี่ยงการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการมากที่สุด เพราะการทำงานระบบคณะกรรมการหาผู้รับผิดชอบยากและอุ้ยอ้าย ต้องมีประชุม ลงมติ ซึ่งการตรวจสอบการเลือกตั้งไม่สามารถนั่งรอประชุมได้ แต่ต้องไปด้วยตัวเองตามลำพัง

ท่วมท้น 201 เสียง-เสร็จใน 45 วัน

นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนคุณสมบัติและข้อห้ามของกกต.นั้น รัฐธรรมนูญกำหนดไม่ยกเว้นให้คนที่มีตำแหน่งอยู่เดิม กรธ.ไม่มีทางออกที่จะบอกว่าถึงจะขาดคุณสมบัติก็ให้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป เหมือนที่ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้สนช.ดำรงตำแหน่งต่อไป คุณสมบัติใดที่ไม่ได้เขียนไว้ให้ยกเว้นก็ต้องปฏิบัติตาม และถ้าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามและไม่ได้รับการยกเว้น สนช.ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งทันที ด้วยหลักการเดียวกัน รัฐธรรมนูญไม่ได้ยกเว้นไว้ให้ผู้ที่มีตำแหน่งเดิม กรธ.จึงต้องเขียนกฎหมายลูกให้สอดคล้องกัน โดยให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติกกต. หากถูกต้องก็อยู่ต่อไปจนครบวาระ หากคุณสมบัติไม่ครบก็พ้นวาระตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก จึงจำเป็นต้องเขียนบทบัญญัติลักษณะนี้ ซึ่งกรธ.ไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำ แต่นึกไม่ได้ว่าจะหาทางแก้อย่างไร ถ้ากมธ.วิสามัญของสนช.คิดหาทางแก้ได้ ทางกรธ.ก็ไม่ขัดข้อง

“การนำร่างกฎหมายดังกล่าวไปรับฟังคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 77 แล้วนำข้อมูลมาใช้ได้หรือไม่ ผมคิดว่าใช้ได้ เพราะหลักสำคัญอยู่ที่เรารับฟังเพียงพอหรือไม่ และสิ่งที่เรารับฟังมาจากประชาชน และประชาชนคิดเห็นอย่างไร สนช.ใช้ประโยชน์ได้แล้ว ดังนั้นวันนี้จึงไม่จำเป็นต้องรับฟังอีก เพราะจะทำให้การตรากฎหมายล่าช้าออกไป” นายมีชัยกล่าว

จากนั้นที่ประชุมมีมติรับหลักการวาระหนึ่ง ด้วยคะแนน 201 งดออกเสียง 2 ตั้งกมธ.วิสามัญพิจารณา 31 คน และดำเนินการให้เสร็จภายใน 45 วัน

ต่อด้วยพรป.พรรคการเมือง

ต่อมาเวลา 12.50 น. ที่ประชุมสนช.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กรธ.เสนอ มีสมาชิกสนช.ร่วมอภิปราย เริ่มจากพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวว่า จากการรับฟังความเห็นของพรรคและนักวิชาการ พบว่ามี 4 ประเด็นสำคัญ 1.การทำให้พรรค ตั้งยาก แต่ยุบง่าย ตรงกันข้ามกับหลักประชาธิปไตยที่ควรตั้งง่ายและยุบยาก ควรให้พรรคมีพัฒนาการตามธรรมชาติ ไม่ควรมีกติกาควบคุมมาก 2.ทุนประเดิมและค่าบำรุงพรรค กลายเป็นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ที่กีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน ขัดต่อระบอบประชาธิปไตย สุดท้ายจะทำให้พรรคเป็นของนายทุนไม่ใช่ประชาชน 3.องค์ประกอบของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรค มีการตัดสัดส่วนของนักการเมืองออกไป หมดสิทธิให้ความเห็นในการเสนอการใช้เงินทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรง 4.มีบทลงโทษรุนแรงต่อผู้ดำรงตำแหน่งพรรค ทำให้ไม่มีคนรุ่นใหม่และคนดีเล่นการเมือง อยากให้ทบทวนโทษให้สอดคล้องต่อการกระทำ

การอภิปรายเป็นไปอย่างกว้างขวาง มีทั้งเห็นด้วยตามร่างที่กรธ.เสนอ และตั้งคำถามอีกหลายประเด็น เช่น เกณฑ์จำนวนสมาชิก 5,000 คนภายใน 1 ปี และ 10,000 คน ภายใน 4 ปี จะเป็นข้อจำกัดและปัญหาโดยเฉพาะพรรคขนาดเล็กหรือไม่

จากนั้นที่ประชุมสนช. ลงมติเห็นชอบวาระแรกรับหลักการ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ด้วยคะแนน 175 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 พร้อมตั้งกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษา 31 คน กำหนดกรอบพิจารณา 45 วัน และให้สมาชิกเสนอแปรญัตติภายใน 7 วัน นัดประชุมครั้งแรกวันที่ 24 เม.ย. เวลา 13.30 น. ก่อนที่นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่สอง ในฐานะประธานการประชุม จะสั่งปิดประชุมเวลา 14.53 น.

ส่ง 4 กรธ.ร่วมกมธ.วิสามัญ

นายมีชัยกล่าวถึงการพิจารณาพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ของสนช.ว่า กรธ.จะส่งนายภัทระ คำพิทักษ์ และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เป็นกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ส่วนกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง จะเป็นนายธนาวัฒน์ สังข์ทอง และนายอุดม รัฐอมฤต ร่วมเป็นกมธ. ส่วนตนไม่เข้าไปเป็นกมธ. เพราะไม่มีเวลา

“ผมไม่เชื่อว่าการพิจารณาชั้นแปรญัตติ ของกมธ.จะมีความดุเดือด เพราะที่ผ่านมาได้เห็นเนื้อหามาตลอด อาจมีประเด็นถกเถียงในเหตุและผล ส่วนที่พรรคยังอยากเสนอแก้ไขให้ปรับบางประเด็นนั้น ผมไม่ทราบว่าจะมีการเปิดเวทีรับฟังหรือไม่ แล้วแต่กมธ. ทั้งนี้ การพิจารณาสนช.ต่อการแปรญัตติ เป็นสิทธิของสนช.เสนอได้ หากเห็นสอดคล้องต้องกันและเป็นของดี กมธ.คงแก้ แต่หากยังมีปัญหาก็ไม่แก้ เป็นธรรมดา” นายมีชัยกล่าว

“วัฒนา”โมทนาม.44 แก้คำสั่ง

วันเดียวกัน นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พาณิชย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ตนและนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความ ได้ไปพบพนักงานสอบสวนที่ บก.ปอท. เนื่องจากตนโพสต์ความเห็นว่าหมุดของคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุ ซึ่งพนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ เป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการ กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แต่การที่ตนมาเอง ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เมื่อสอบสวนและพิมพ์ลายนิ้วมือเสร็จ เจ้าหน้าที่จึงอนุญาตให้ตนกลับ โดยไม่มีการควบคุมตัว

นายวัฒนาชี้ว่าตนยังยืนยันความเห็นว่าหมุดของคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ดังนั้น หากยังคิดว่าการแสดงความเห็นเป็นความผิดก็เชิญแจ้งข้อหาเพิ่มได้ตามสะดวก หมายเลขโทรศัพท์ให้ไว้แล้วจะโทร.บอกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาก็ได้ เอาตามที่สบายใจ

นายวัฒนา ระบุว่า การที่หัวหน้าคสช.มีคำสั่งที่ 24/2560 ที่ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 23/2560 ในส่วนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตนขออนุโมทนากับการกระทำของหัวหน้า คสช. ที่ไม่มีมิจฉาทิฐิ การออกคำสั่งมาแก้ไขคำสั่งเดิมที่เห็นว่าผิดพลาด ถือเป็นการทำงานที่ไม่มีโทษ หรือ อนวชฺชานิ กมฺมานิ หมายถึงงานที่ไม่มีตำหนิ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดประเพณี อันจะเป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นมงคลข้อ 18 ในมงคลสูตร ย่อมก่อให้เกิดความสวัสดีแก่ผู้กระทำ

เทือกโผล่จี้เพิ่ม 5 พันคนตั้งพรรค

วันเดียวกัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปท.) ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก ถึงเจตนารมณ์ของกปปส.ต่อร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองว่าร่างพ.รบ.พรรคการเมือง ที่สนช.รับหลักการนั้น ในส่วนที่เป็นบันทึกหลักการและเหตุผล จำเป็นต้องปรับปรุงเพิ่มเติม ระบุให้ชัดว่าที่ต้องเขียนกฎหมายนี้เพื่อให้พรรคเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง สนช.ควรจะพิจารณา แก้ไขเพิ่มเติมระบุให้ชัดว่า ให้พรรคเป็นของประชาชน จะมีความสบายใจมาก

นายสุเทพกล่าวว่า ส่วนที่มาตรา 9 กำหนดว่าถ้าประชาชนที่มีอุดมการณ์การเมือง 500 คน ร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้งพรรคได้นั้น น้อยเกินไป ไม่สอดคล้องกับหลักการให้พรรคเป็นของประชาชน หากดูจำนวนส.ส.ในสภา แบ่งเป็นส.ส.เขตเลือกตั้ง 350 คน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 150 คน รวม 500 คน เอาเฉพาะคนที่อยากเป็นส.ส. 500 คน เข้าชื่อก็ตั้งพรรคได้แล้ว อย่างนี้ประชาชนไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของร่วม จึงอยากเสนอสนช.ว่าควรเพิ่มจำนวน โดยระบุว่าประชาชน 5,000 คนขึ้นไป จึงจะรวมตัวจดทะเบียนตั้งพรรคได้ จะมีผลไปแก้ในมาตรา 10 ที่กำหนดว่าผู้ขออนุญาตจัดตั้งพรรค ต้องจัดประชุมใหญ่อย่างน้อยมีจำนวนครึ่งหนึ่ง ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่า 2,500 คน เพื่อเลือกหัวหน้า กรรมการบริหารพรรค และอื่นๆ เป็นขั้นตอนแรกของการจัดตั้งพรรค

นายสุเทพกล่าวว่าวันนี้ต้องให้ประชาชนเป็นเจ้าของเงินที่ใช้จ่ายในพรรค เมื่อดูในมาตรา 15(15) ที่ระบุให้สมาชิกพรรคเสียค่าบำรุงพรรคเป็นรายปี ปีละ 100 บาท จนมีคนโวยวายว่าจะเป็นอุปสรรคทำให้ประชาชนไม่สามารถเป็นเจ้าของพรรคได้นั้น ไม่จริง เวลานี้คนไทยคิดไกลกว่านั้น เชื่อว่าคนไทยที่รักชาติ รักแผ่นดิน พร้อมแสดงตัวเป็นเจ้าของพรรคด้วยการบริจาคเงินหรือจ่ายค่าบำรุงเป็นรายปี ซึ่งตนคิดว่า 100 บาทน้อยไป ควรเสียสละเงินวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาท ถือว่าคุ้มค่า จึงอยากให้สนช.ตระหนักว่าการทำให้พรรคเป็นของประชาชนอย่างน้อย 2 ส่วนนี้ต้องสำคัญ

“อ๋อย”อัดจับคนแจ้งหมุดหาย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกรณีหมุดคณะราษฎรหายกับการปรองดองว่า ทำไมการพูดถึงหมุดหาย การตามหาหมุดหาย การแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับคนขโมยหมุดแล้วจะไม่ปรองดอง ในเมื่อการปรองดองหมายความว่า ผู้คนต้องแสดงความคิดเห็นแตกต่างกันได้ ใช้สิทธิ์ตามกฎหมายได้และควรหาทางแก้ปัญหาโดยอาศัยกระบวนการตามกฎหมายและไม่ทำร้ายจิตใจกันและกันโดยพลการ การที่คนไปเรียกร้องให้ชี้แจงและสอบสวนกรณีหมุดหาย กลับถูกควบคุมตัวไปสอบเสียเองต่างหากที่สร้างเงื่อนไขไม่ให้ปรองดอง การที่คนแสดงความเห็นว่าหมุดเป็นวัตถุโบราณและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่หาหมุดมาคืนกลับถูกดำเนินคดีต่างหากที่ทำให้ไม่ปรองดอง หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญนี้มีความหมายทางประวัติศาสตร์ เป็นสมบัติของทางราชการและประชาชน พึงได้รับการคุ้มครองรักษาโดยระบบกฎหมาย จะดำเนินการอย่างไรก็ควรเป็นไปตามกฎหมายบ้านเมือง

การเอาหมุดนี้ออกไปโดยพลการก็ดี การไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายก็ดี หรือการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่เป็นทุกข์เป็นร้อน ต้องการเพียงใช้สิทธิ์ตามกฎหมายเรียกร้องให้เกิดความถูกต้องก็ดี ล้วนเป็นการสร้างความขัดแย้งในสังคมให้มากขึ้นและเป็นผลเสียต่อการปรองดอง

ฎีกายืนคุก1ปี-“กี้ร์”หมิ่นมาร์ค

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 เม.ย. ที่ห้องพิจารณา 814 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.4177/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายอริสมันต์ หรือกี้ร์ พงศ์เรืองรอง อดีตแกนนำนปช. เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 กรณีเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2552 และวันที่ 17 ต.ค. 2552 จำเลยปราศรัยที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องพีเพิลแชนแนล กล่าวหาใส่ร้ายนายอภิสิทธิ์ ทำนองว่า การบริหารงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ กู้ยืมเงินมาเพื่อทุจริตคดโกง มีการหยิบยกเรื่องสถาบันมากล่าวอ้าง และกล่าวหาว่าเป็นผู้หน่วงเหนี่ยวคำร้องฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำให้ล่าช้า รวมถึงมีจิตใจต่ำช้า สั่งทหารฆ่าประชาชน ปล้นอำนาจจากประชาชน และไม่ตรวจสอบการทุจริตในโครงการต่างๆ นายอริสมันต์ จำเลย ปฏิเสธสู้คดี

คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนให้จำคุกนายอริสมันต์ รวม 2 กระทง กระทงละ 6 เดือน เป็นจำคุก 12 เดือน แต่การกระทำนั้นมีเหตุการณ์ที่กล่าวพาดพิงสถาบันเบื้องสูงด้วย จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ และให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาในน.ส.พ.มติชน กับเดลินิวส์ ติดต่อกัน 7 วันโดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ซึ่งนายอริสมันต์ ยื่นฎีกาสู้คดี

วันนี้เป็นการอ่านคำพิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ฟัง ซึ่งมีแค่ตัวแทนโจทก์มาศาลเท่านั้น หลังจากศาลอาญาส่งคำพิพากษาฎีกาคดีนี้ ให้ศาลจังหวัดพัทยา อ่านให้นายอริสมันต์ จำเลยฟังไปก่อนแล้ว เนื่องจากนายอริสมันต์ ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษพัทยา จ.ชลบุรี คดีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตัดสินจำคุก 4 ปี จากการชุมนุมบุกเข้าไปในโรงแรมรอยัล คลิฟบีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี โดยศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า จำลยกระทำผิดจริง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษมานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

นายศุชัยวุธ ชาวสวนกล้วย ทนายความของนายอริสมันต์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ในส่วนของนายอริสมันต์นั้น ศาลจังหวัดพัทยาได้อ่านผลคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทฯ นี้ให้นายอริสมันต์รับทราบแล้วตั้งแต่ก่อนช่วงสงกรานต์ ส่วนตัวนายอริสมันต์ขณะนี้ ก็ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษพัทยา เนื่องจากยังไม่ได้ประกันตัวระหว่างการยื่นฎีกาคดีคลิฟบีช ส่วนคดีเราได้ยื่นฎีกาแล้ว ดังนั้น การรับโทษตามผลคำพิพากษาฎีกาคดีหมิ่นประมาทนี้ก็มีผลแยกจากคดีคลิฟบีช ส่วนผลคดีคลิฟบีช ต้องรอฟังศาลฎีกาต่อไป

สมชัยโต้ถอดใจ-ทิ้งเก้าอี้กกต.

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ให้สัมภาษณ์กรณีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. ของสนช. ซึ่งมีประเด็นเรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้งและการดำรงตำแหน่งของ กกต.ปัจจุบันว่า เรื่องการดำรงตำแหน่งของกกต.ที่มีข่าวว่าตนถอดใจ เตรียมเก็บของแล้วนั้นไม่เป็นความจริง ที่ตนพูดนั้นหมายถึงขึ้นอยู่กับสนช.จะพิจารณา หากยืนยันตามร่างกรธ. เมื่อบังคับใช้ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาจะวินิจฉัยว่ากกต.ปัจจุบันใครขาดคุณสมบัติบ้าง ซึ่งตนได้เตรียมข้อมูลการทำงานด้านภาคประชาสังคมที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 24 ปีไว้แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการสรรหา ยืนยันไม่ได้ถอดใจ แต่คิดว่าถ้าเรายิ่งไปคาดหวัง สุดท้ายเขาไม่ได้คิดไปในทางเดียวกับเรา จะทำให้เราผิดหวังเปล่าๆ

นายสมชัยกล่าวถึงกรธ.ระบุหากมีการรีเซ็ตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ก็อาจต้องรีเซ็ตกรรมการองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วยว่า วิธีคิดดังกล่าว เป็นตรรกะที่พิกลพิการ ถ้าจะใช้ตรรกะนี้ถามว่า ถ้ามีกระทรวงหนึ่ง รัฐมนตรีทำงานไม่เข้าขากัน จะต้องปรับครม.ทั้งคณะหรือไม่ หรือถ้าเป็นจังหวัดหนึ่ง ผู้ว่าฯ กับรองผู้ว่าฯ ทำงานไม่เข้าขากัน จะเปลี่ยนผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดหรือไม่ ซึ่งตรรกะนี้มันไม่ควรออกจากปากของผู้ที่รู้กฎหมาย เป็นความคิดที่แปลกประหลาด อีกทั้งองค์กรอิสระเป็นผู้คลี่คลายสถานการณ์การเมือง ไม่ได้เป็นองค์กรที่สร้างปัญหา

กกต.กล่าวว่า ส่วนประเด็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ทราบว่าสนช.จะให้กกต.เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ แต่ที่สุด สนช.จะเอาอย่างไร กกต.ก็พร้อมปฏิบัติ ยืนยันว่าที่ผ่านมา กกต.ไม่เคยเสนอให้มีทั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งและกกต.จังหวัด แต่ถึงจะมีทั้ง 2 อย่าง ก็ไม่ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณไปมากกว่าเดิม เพราะกกต.จังหวัดไม่มีเงินเดือนประจำ จะได้รับเป็นเบี้ยประชุม ที่กล่าวหาว่ากกต.จังหวัดไม่เป็นกลางนั้น การที่กกต.เลือกข้าราชการระดับสูงในจังหวัดมาเป็นกกต.จังหวัด เพื่อให้ส่วนราชการในจังหวัดสนับสนุนการจัดเลือกตั้ง ถ้าคิดว่าไม่เป็นกลางก็ควรนำคนเหล่านี้ออกจากราชการและกฎหมายก็กำหนดให้คนเหล่านี้ได้รับโทษสูงกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า

“ป้อม”ปธ.เททอง-235ปีหลักเมือง

เมื่อเวลา 08.09 น. วันที่ 21 เม.ย. ที่ศาลหลักเมือง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม ในฐานะนายกสมาคมทหารผ่านศึกเป็นประธานพิธีเททองวัตถุมงคลและพิธีครบรอบ 235 ปีวันคล้ายวันสถาปนาองค์พระหลักเมืองประจำปี 2560 โดยนิมนต์พระพรหมมังคลาจารย์ (เจ้าคุณธงชัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และประชาชนเข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง

ทั้งนี้ ในพิธีดังกล่าวมีการบวงสรวงองค์พระหลักเมือง จากนั้นประกอบพิธีสงฆ์และเททองหล่อวัตถุมงคลจำนวน 3 แบบ ประกอบด้วย พระพุทธรูปปางเปิดโลกขนาด 19 นิ้ว เหรียญปั๊มพระพุทธรูปปางเปิดโลก ขนาด 3.59 เซนติเมตร และชุดเทพารักษ์ทั้ง 5 เนื้อโลหะผสมชุบเคลือบของ 9,999 ชุด โดยวัตถุมงคลดังกล่าวจะเข้าพิธีพุทธาภิเษกอีกครั้งในวันที่ 18 ก.ค. ที่ศาลหลักเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน