บิ๊กป้อมโต้”ปู” เงินจำนำ ข้าวไม่ถึงมือชาวนา เอาไปซื้อเรือดำน้ำได้ 50 ลำ เสียเงินแล้วยังได้เรือ ทร.นัด 1 พ.ค. แจง”เรือดำน้ำ”ทุกปม กิตติรัตน์ติงรัฐบาล เบี่ยงประเด็นโยงจำนำข้าว ชี้ช่วยเกษตรกรทำเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่วนซื้อเรือดำน้ำมีแต่ก่อภาระ ปึ้งสวนรบ.แก้วเกี้ยว”ปู” แนะมองให้รอบด้านก่อนใช้งบฯ สนช.เปิดเว็บรับฟังประชาชนวิจารณ์กม.ยุทธศาสตร์ชาติ ป.ป.ช.จ่อเรียกผบ.หน่วยทหารแจงบัญชีทรัพย์สิน

บิ๊กตู่บินถกสุดยอดอาเซียน

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา เดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ไปยังกรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 30 และการประชุมสุดยอดอื่นๆ ระหว่างวันที่ 28-30 เม.ย. นี้ โดยนายกฯ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ แต่มอบให้พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เป็นผู้ชี้แจงกรณีนายกลิน ที.เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐ อเมริกาประจำประเทศไทยเข้าพบนายกฯ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยไม่มีการแจ้งกำหนดการให้ทราบล่วงหน้า

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตอนหนึ่งว่าวันนี้พูดได้ว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2557 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพียงร้อยละ 0.8 และปรับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นร้อยละ 2.8 ในปี 2558 และ 3.2 ในปี 2559 ปีนี้หากโครงการต่างๆ คืบหน้าตามแผนที่วางไว้เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 3.5 เดือนมี.ค.ที่ผ่านมาเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี การส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่องและเริ่มขยายตัวมากขึ้นในหลายหมวดสินค้า มีมูลค่าสูงกว่า 7 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 10 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา

รายได้เกษตรกรเดือนมี.ค.ปีนี้ เมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 จากทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ครัวเรือนและความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลดีต่อการบริโภคภายในประเทศ

ลั่นศก.ดี-โวยโจมตีสร้างขัดแย้ง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หากต้องการจะกลับไปโตได้ในอัตราสูงๆ แบบเดิม ต้องเร่งให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลเริ่มขับเคลื่อนไปบ้างแล้ว แต่ต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและต้องใช้เวลา ภายใต้ความพยายามมีบางฝ่ายพยายามโจมตีรัฐบาลว่า คนในระดับฐานรากยังไม่ได้รับผลโดยตรง ไม่ถึงประชาชนอย่างแท้จริงบ้าง เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนรายใหญ่บ้าง ทั้งหมดล้วนเป็นการสร้างความขัดแย้ง ทำลายบรรยากาศการค้าการลงทุนในประเทศที่กำลังค่อยๆ ไปได้ดี รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ดี รับทราบ กำลังดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง แล้วก็จะเร่งรัดดำเนินการภายในปีนี้ให้ได้ต่อไป

“อยากให้ลองมองความพยายามของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือประชาชน ทั้งในส่วนฐานรากและในภาพรวมที่เราดำเนินการมาตลอดเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์กล่าวถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ว่า เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ผ่านคณะกรรมการพิจารณามาหลายระดับตามขั้นตอน จนถึงกระทรวงกลาโหม จึงนำเข้าสู่การพิจารณาใน ครม. ซึ่งเป็นไปตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพเรือในส่วนที่กองทัพเรือได้รับการจัดสรรไปแล้ว ตามพ.ร.บ. จัดสรรงบประมาณประจำปี เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน นายกฯขอให้รับฟังข้อมูลรอบด้าน ไม่อยากให้ฟังแต่การชี้แจงและวิพากษ์วิจารณ์จากภายนอกที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วน

ป้อมโต้ปู-จำนำข้าวเงินหาย

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ว่า คงไม่มีการวิจารณ์เพิ่มไปมากกว่านี้อีกแล้ว รอให้กองทัพเรือออกมาชี้แจง ส่วนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ วิจารณ์นั้น เรื่องจำนำข้าว ถามว่าเสียหายไปกี่แสนล้าน แต่เรือดำน้ำซื้อหมื่นกว่าล้าน ถ้าเอาเงินที่เสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวมาซื้อเรือดำน้ำจะซื้อได้ประมาณ 50 ลำ

“คุณยิ่งลักษณ์ก็พูดไป แต่เรื่องเรือดำน้ำที่ซื้อมา เพื่อให้กองทัพเกิดความเข้มแข็ง เป็นการพัฒนาของกองทัพ ผมไม่เห็นว่าเสียหายตรงไหน เสียเงินไปแต่ได้ของมา แต่โครงการจำนำข้าวเงินหายไปหมด ไปไม่ถึงตัวประชาชน เงินหายไปไหน ขาดทุน 5 แสนกว่าล้าน อยากให้คุณยิ่งลักษณ์ ไปตอบพนักงานสอบสวน ไม่ต้องออกมาแบบนี้ ซึ่งผมชัดเจนในทุกเรื่องที่ทำไป ทำเพื่อความเข้มแข็งและศักยภาพของประเทศ ไม่ใช่ทำเพื่อใคร กองทัพเรือเสนอแผนงานมา ซึ่งมีมานานแล้ว 10-20 ปี ที่กองทัพเรือพยายามซื้อ ซึ่งผมมองว่าไม่เห็นมีปัญหาและไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย เรือดำน้ำเราซื้อมาเพื่อนำไปใช้ดูแลทรัพยากร 5-6 ล้าน ที่อยู่ในฝั่งอันดามัน 200 ไมล์ทะเล เหตุผลตรงนี้แต่ไม่พูดกัน ไปพูดอะไรบ้าๆ บอๆ” พล.อ.ประวิตรกล่าว

ทัพเรือนัด 1 พ.ค.แจงซื้อเรือ

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า กองทัพเรือจะออกมาชี้แจงโครงการเรือดำน้ำในเร็ววันนี้ อย่างช้าที่สุดไม่เกินวันที่ 1 พ.ค. นี้ ซึ่งเขามีคณะกรรมการกว่า 30 คน ให้ไปถามในวันนั้น ส่วนที่วิจารณ์ว่ามีการล็อกสเป๊กจากผู้มีอำนาจให้ซื้อของจีนนั้น ใครจะพูดอะไรก็พูดได้ มีหลักฐานหรือไม่ ข้อมูลมาจากใครก็ไม่รู้ ยืนยันตัวตนไม่ได้ ซึ่งตนอยากจะพูดว่าเหมือนอย่างสุนัขเห่า ถามว่ารู้หรือไม่ว่าสุนัขมันเห่าใคร สื่อก็ไม่รู้

พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำว่า อยากยื่นก็ยื่นไป ไม่เป็นไร ได้หมดซึ่งสตง.ต้องเรียกกองทัพเรือไปชี้แจง ไม่เห็นมีปัญหา ทุกอย่างโปร่งใส การซื้อขายเป็นแบบจีทูจี และทำไปตามสเป๊ก ตนมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ ขอให้เลิกพูดกันได้แล้วเรื่องเรือดำน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองประชาสัมพันธ์สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ ทำเอกสารแจ้งต่อสื่อมวลชนว่า ในวันที่ 1 พ.ค. เวลา 15.00 น. พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ พร้อมคณะจะชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำอย่างเป็นทางการ ที่โรงเก็บอากาศยาน เรือหลวงจักรีนฤเบศร ท่าเทียบเรือ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

โต้งติงรบ.เบี่ยงประเด็นเรือดำน้ำ

ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรอง นายกฯ และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เห็นกันอยู่ว่าครม.มีมติซื้อเรือดำน้ำอย่างไม่สมควร ไม่โปร่งใส จนคนจำนวนมากออกมาทักท้วงคัดค้าน แทนที่จะสนับสนุนให้รับฟังความเห็นให้มาก เพื่อไตร่ตรองใหม่และแก้ไขให้ถูกต้อง กลับพากันเบี่ยงเบนประเด็นไปโทษ และไปเทียบกับเรื่องจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลก่อน

“ไม่ทำจำนำข้าวต่อ แล้วยังไม่มีปัญญาหาวิธีช่วยให้ชาวนามีรายได้ที่เหมาะสมกับต้นทุนการผลิต ทำให้ชาวนากว่า 3.7 ล้านครอบครัว คิดเป็นราษฎรมากกว่า 15 ล้านคนรายได้ตกต่ำจนไม่มีกำลังซื้อ ไม่มีคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจไม่เติบโตตามศักยภาพ เก็บภาษีไม่เข้าเป้า กลายเป็นข่าวโด่งดังว่าเงินคงคลังที่เคยมีมากกว่า 4 แสนล้าน หดหายเหลือไม่ถึงแสนล้าน แม้จะกู้เงินมากมายมาชดเชยงบประมาณขาดดุลในแต่ละปีที่มากขึ้น แต่ไม่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจดี เพราะไม่มีวิธีการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างได้ผล”

จำนำข้าวศก.หมุน-ซื้ออาวุธก่อภาระ

นายกิตติรัตน์ระบุว่า เงินที่ใช้จำนวนมากกลายเป็นงบด้านความมั่นคงที่ตรวจสอบไม่ได้ แล้วยังดึงดันซื้อเรือดำน้ำแบบปิดๆ บังๆ ข้อมูลอีก ผู้คนต่างสงสัยว่าไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถ ไม่มีความคิด หรือไม่สุจริตกันแน่ วิธีเบี่ยงประเด็นนั้นไม่ได้ผล ผู้คนรู้ทันและเห็นประจักษ์หมดแล้วว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีความคุ้มค่า และช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเติบโต เก็บภาษีเข้าเป้า รัฐบาลที่แล้วบริหารหนี้สาธารณะอย่างรัดกุมจนทำให้ภาระหนี้ลดลงจากเดิมมาก สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อขนาดของเศรษฐกิจที่วัดด้วยจีดีพีก็มีความเข้มแข็ง ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันตั้งหน้าตั้งตากู้มาใช้จ่ายอย่างขาดยุทธศาสตร์ โดยเห็นกันอยู่ชัดๆ ก็คือโครงการซื้อเรือดำน้ำที่มีแต่ก่อภาระอันไม่สมควร

“ในฐานะอดีตรองนายกฯ เคยสนับสนุนให้ต่อเรือตรวจการณ์ใหม่ เพื่อทดแทนเรือรบหลวงพระพุทธยอดฟ้าฯ ที่จะปลดระวางลง เป็นสิ่งยืนยันว่าผมมิได้มีอคติใดๆ ต่อภารกิจของกองทัพเรือในการปกป้องอธิปไตย และประโยชน์เศรษฐกิจทางทะเลของชาติ แต่ผมขอคัดค้านการจัดซื้อเรือดำน้ำ” นายกิตติรัตน์ ระบุ

ปึ้งสวนรัฐบาลแก้วเกี้ยว”ปู”

ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกมาให้ข้อคิดแก่รัฐบาล คสช.ในการบริหารประเทศในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ว่าควรนำไปใช้ดำเนินการโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน คำนึงถึงปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นหลัก แต่รัฐบาล คสช.กลับไปดึงเรื่องจำนำข้าวขึ้นมาแก้เกี้ยวว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำความเสียหายไว้มากกว่าโครงการเรือดำน้ำอะไรทำนองนั้น

“โครงการยังไม่ได้เริ่มต้นก็คิดเทียบความเสียหายขึ้นเองเสียแล้ว ก็รู้สึกแปลกใจมาก และยังกล่าวหาว่าผลประโยชน์ไม่ตกถึงมือชาวนาทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่าการจ่ายเงินจำนำข้าวนั้น ธ.ก.ส.จ่ายตรงเข้าบัญชีให้แก่ชาวนาโดยตรง และชาวนามีเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เกิดการไหลหรือหมุนเวียนของเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ทำให้รัฐจัดเก็บภาษีรายได้เข้าคลังได้ และทำให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น” นายสุรพงษ์กล่าว

แนะมองรอบด้านก่อนใช้งบฯ

นายสุรพงษ์กล่าวว่า การนำงบประมาณแผ่นดินไปช่วยพยุงและดูแลเรื่องสินค้าเกษตรนั้น เป็นนโยบายที่ทุกๆ รัฐบาลในอดีตให้ความช่วยเหลือ อุดหนุนเกษตรกรชาวสวนและชาวนา เพื่อให้ราคาข้าวของชาวนาและสินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น และแทบจะทุกประเทศทั่วโลกก็ดำเนินการอุดหนุนช่วยเหลือพยุงราคาสินค้าเกษตรให้แก่เกษตรกรของประเทศตนเองแทบทั้งสิ้น

“จึงอยากขอให้ผู้บริหารประเทศที่เป็นทหารอาชีพมาตลอดชีวิต ได้โปรดเข้าใจหลักการบริหารบ้านเมืองที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยไม่นำเงินงบประมาณไปใช้จ่ายโดยไม่มองให้รอบด้าน และคำนึงว่าโครงการใดควรมีความสำคัญตามลำดับความจำเป็นก่อนหน้าก่อนหลัง ซึ่งมุมมองของผู้บริหารในแต่ละรัฐบาลย่อมจะเห็นแตกต่างกันได้ แต่หวังว่าท่านจะได้ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส ไม่ทุจริต ไม่คดโกง ตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริตก็แล้วกัน” นายสุรพงษ์กล่าว

ปู”ไปงานบวชที่อุทัยธานี

ที่วัดถ้ำทอง ต.ทุ่งนางาม อ.ลานสัก จ.อุทัย ธานี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้เดินทางมาร่วมงานอุปสมบทนาค นายวิม รุ่งวัฒนจินดา อดีตเลขานุการประจำสำนัก นายกฯ จาก นั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์เปิดเผยว่า หลังจากอุปสมบทนาคเสร็จ ช่วงบ่ายจะเดินทางไปวัดท่าซุง เพื่อกราบไหว้หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ เพื่อขอโชคลาภและพักผ่อน ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ

ด้านพล.ต.ต.บัญชา ปั้นประดับ ผบก.ภ.จว.อุทัยธานี กล่าวว่าได้มอบให้ พ.ต.อ.ไพสิฐ แก้วจรัส ผกก.สภ.เมืองอุทัยธานี ดูแลความสงบกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาที่วัดท่าซุง ยืนยันไม่ได้สั่งการจับตาเป็นพิเศษ ไม่มีแผนใดๆ เป็นการดำเนินการตามปกติทั่วไป

สนช.เปิดฟังวิจารณ์ยุทธศาสตร์ชาติ

ที่รัฐสภา พล.อ.สุชาติ หนองบัว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แถลงหลังการประชุมว่า กมธ.มีกรอบเวลาทำงาน 60 วัน โดยจะพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ก่อนจะรายงานต่อที่ประชุม สนช.เพื่อให้ลงมติในวาระ 2 และ 3 ซึ่งขณะนี้พิจารณาภาพรวมทุกมาตรา ส่วนสัปดาห์หน้าจะเริ่มพิจารณาหมวด 1 เรื่องการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นจะพิจารณาเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ อย่างไรก็ตาม ได้เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติผ่านเว็บไซต์ของทำเนียบรัฐบาล และเว็บไซต์สนช.ตั้งแต่วันนี้จนถึงกลางเดือนมิ.ย. เพื่อประกอบการพิจารณาการจัดทำร่างพ.ร.บ.

เมื่อถามถึงกรณีมีข้อเสนอเกี่ยวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ควรเปิดช่องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมด้วย พล.อ.สุชาติกล่าวว่ากมธ.พร้อมรับฟังและจะนำไปหารือในที่ประชุม แต่ยืนยันว่าตามร่างที่ครม.เสนอมา มีสัดส่วนของภาคประชาชนอยู่แล้ว ทั้งจากประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ประธานสภาหอการค้าฯ และยังมีสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ ด้วย รวมถึงคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้าน จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย และระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ ก็เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อนด้วย

มีชัยชี้”ผบ.”แค่ดูแลยุทธศาสตร์

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อสังเกตในอำนาจของคณะกรรมการยุทธ ศาสตร์ชาติจะอยู่เหนือรัฐบาลเลือกตั้งว่า อะไรที่อยู่ในแนวนโยบายแห่งรัฐ รัฐบาลก็ต้องทำตาม อะไรที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญก็สามารถดำเนินการได้ ตราบที่ไม่ลิดรอนสิทธิคนอื่น การสร้างกลไกบริหารประเทศเป็นหน้าที่รัฐบาล ในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่ารัฐบาลต้องมีนโยบายการบริหารอย่างไร อย่างบัตรทองก็ไม่มีเขียนไว้แต่รัฐบาลก็สามารถทำได้ สำหรับการตรวจสอบหากใครไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาตินั้นก็เป็นเรื่องปกติ เพราะไม่ว่าใครหรือหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ศาล หรือป.ป.ช.ก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ กฎหมายทุกฉบับที่ออกต่อไปนี้จะถือเป็นการปฏิรูป หากหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามต้องมีโทษ ไม่แตกต่างไปจากราษฎร

“ครม.ใหญ่กว่ายุทธศาสตร์ชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าครม.จะทำอะไรตามชอบก็ได้ อำนาจต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ หากคิดว่ายุทธศาสตร์ชาติไม่ดีก็ไปเปลี่ยน หากคิดว่ามันล้าสมัยก็แก้” ประธานกรธ.กล่าว

นายมีชัยกล่าวด้วยว่า ที่ต้องมีเพราะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญให้มีผู้นำเหล่าทัพ 6 ตำแหน่งเป็นส.ว. 5 ปี เพื่อดูแลยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงให้เข้ามาเป็นกรรมการเพื่อจะได้รู้กระบวนการตั้งแต่ต้น คนกลุ่มนี้จะเป็นหลักที่ทำให้บ้านเมืองเดินหน้าดูแลให้ยุทธศาสตร์เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ผู้นำเหล่าทัพ 6 คนจะทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างกรรมการกับส.ว. สุดท้ายนายกฯก็ยังมีอำนาจมากกว่า

รัฐบาลอู้อี้คุมสื่อ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษาพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการคัดค้านพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อพ.ศ…ว่า อาจจะต้องเปิดอกคุยกันเรื่องความกังวล ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลรับทราบ และพูดคุยถึงความกังวลของสื่อในการที่จะทำงานต่อไป และแลกเปลี่ยนกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดี ทำให้สื่อทำงานร่วมกับรัฐบาลได้ดีขึ้นในช่วงโรดแม็ป สุดท้าย คิดว่ารัฐบาลน่าจะมีช่องทางในการการรับฟังสื่อและสะท้อนความกังวลในส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนความมั่นคง การทำงานร่วมกับสื่อเป็นสิ่งสำคัญมาก หากทำงานด้วยกันได้ดีจะทำให้คนเข้าใจเรื่องความมั่นคงที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นอาจจะต้องหาเวลาแลกเปลี่ยนกันในระดับผู้นำ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้

เมื่อถามว่าจะกลายเป็นตราบาปของรัฐบาลนี้หรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า นั่นเป็นการมองอีกด้านหนึ่ง แต่อีกด้านมองว่าเกิดกลไกใหม่ขึ้นมาให้อนาคตที่มีการปรับเปลี่ยน ต้องยอมรับว่าหลายรัฐบาลพยายามทำก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องลองดู หากทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็ต้องรีบบอก เพราะเป้าหมายต้องการทำให้ดีขึ้น หากทำแล้วไม่ดีขึ้น ก็ไม่ควรเดินต่อ

“ชวรงค์”สวนสิงคโปร์โมเดล

ด้านนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และกรรมการบริหารสมาคมผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) กล่าวถึงกรณี พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธาน กมธ.สื่อ ระบุว่า ร่างพ.ร.บ.คุมสื่อ จะเป็นการจัดระเบียบสื่อมวลชนเหมือนกับประเทศสิงคโปร์ว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจระบอบการปกครองของสิงคโปร์ แม้จะเป็นประชาธิปไตย ก็จริง แต่เป็นการบริหารประเทศโดยพรรคการเมืองเดียว และคนของประเทศเขามีความซื่อสัตย์ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นน้อยมาก ความจำเป็นในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนของประเทศของเขาก็น้อยตามไปด้วย แต่รัฐบาลสิงคโปร์เหมือนรัฐบาลทั่วไปที่ต้องการควบคุมสื่อไม่ให้มีปากมีเสียง โดยการควบคุมของสิงคโปร์ ผ่านกลไก 2 ด้าน คือมีกฎหมายควบคุมเช่นต้องจดทะเบียน และต้องออกใบอนุญาตสำหรับสื่อ พร้อมด้วยกฎหมายภายในประเทศที่มุ่งจัดระเบียบสังคมเป็นสำคัญ ดังนั้นสื่อใดจะวิจารณ์รัฐบาลต้องขออนุญาตก่อนถึงจะวิจารณ์ได้

นายชวรงค์กล่าวต่อว่า กลไกต่อมาคือ รัฐบาลยังเป็นเจ้าของสื่อหลักๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ ภายใต้ สิงคโปร์เพรส โฮลดิ้ง โดยมีบริษัทเทมาเส็ก ซึ่งเป็นของรัฐบาลสิงคโปร์ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้นจากบริบทของสภาพสังคม จึงนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของเมืองไทยไม่ได้ หากรัฐบาลไทยเดินตามแนวทางการควบคุมสื่อมวลชนอย่างสิงคโปร์ การตรวจสอบเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นของสื่อมวลชนไทยจะค่อยๆ หายไป สื่อใดที่กล้าหาญเปิดโปงการโกงหรือตรวจสอบรัฐบาลขึ้นมา จะถูกหมายหัวใช้กฎหมายเล่นงาน หรือเพิกถอนหรือไม่ต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ รวมทั้งอาจใช้วิธีร้องเรียนเข้าที่สภาวิชาชีพ ที่มีตัวแทนภาครัฐเป็นกรรมการ และเมื่อเจอลงโทษเสียค่าปรับ 2-3 ครั้ง สื่อมวลชนก็เข็ดขยาดไม่กล้าทำหน้าที่แล้ว

ปปช.จ่อเรียกทหารโชว์บัญชี

วันเดียวกันนี้ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีป.ป.ช.เตรียมกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 มาตรา 40 และที่แก้ไขเพิ่มเติมว่า ภายใน 2 เดือนนี้ ป.ป.ช.จะกำหนดตำแหน่งผู้มีหน้าต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก โดยจะมีตำแหน่งระดับผู้บังคับบัญชาหน่วยในส่วนของทหารด้วย คาดว่าจะต้องมีผู้ยื่นบัญชีเพิ่มกว่า 100 ราย

พล.อ.บุณยวัจน์ กล่าวถึงความคืบหน้าคดีที่นางกรุณา ชิดชอบ นายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ กับพวกมีพฤติการณ์กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กรณีโครงการสร้างและพัฒนาการกีฬาสู่ความเป็นเลิศที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ 20 ล้านบาทเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายให้ประชาชนร่วมชมและเชียร์ฟุตบอลทีมบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ซึ่งถือเป็นการใช้เงินงบประมาณที่ไม่ถูกต้องว่า มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง ขณะนี้กำลังพิจารณาระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์ของโครงการ มีการเบียดบังงบเข้าตัวเองหรือไม่ โดยจะยึดหลักฐานทั้งหมด อะไรที่ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด คาดว่าไม่เกิน 6 เดือนนับจากนี้จะมีความชัดเจน

กองทัพฮึ่มขรก.อื่นต้องยื่นด้วย

ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้ แต่ปกติแล้วบุคคลที่จะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งปฏิบัติตามนั้นมาตลอด ทั้งในส่วนของคสช. คณะรัฐบาล ผบ.เหล่าทัพ แต่ในส่วนของผู้บังคับหน่วยทหาร ถือเป็นข้าราชการปกติเหมือนเช่นข้าราชการอื่นๆ หากจะต้องยื่นข้าราชการทุกคนต้องยื่นกันหมด แต่ต้องดูข้อกำหนดของ ป.ป.ช.ก่อนว่ามีรายละเอียดอย่างไร เพราะ ป.ป.ช.ยังไม่ได้แจ้งรายละเอียดให้กองทัพบก มีเพียงข่าวสารจากสื่อเท่านั้น ทั้งนี้คงต้องรอให้มีความชัดเจนมากกว่านี้

“ตู่”ถกอาเซียน-แชร์ไทยโมเดล

เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 28 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมนางนราพร จันทร์โอชา ภริยาเดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 ไปยังกรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน (อาเซียนซัมมิต) ครั้งที่ 30 และการประชุมสุดยอดอื่นๆ ระหว่างวันที่ 28-30 เม.ย.นี้

ต่อมาเวลา 17.00 น. นายกฯ กล่าวสุนทรพจน์ปิดการประชุม Prosperity for All จัดโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ABAC) ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลได้เปลี่ยนจากเอสเอ็มอี มาเป็นการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย หรือไมโครเอสเอ็มอี เป็นเรื่องที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาค เพราะมีจำนวนรวมกันมากกว่าร้อยละ 95 ของธุรกิจทั้งหมดในแต่ละประเทศสมาชิก หากธุรกิจเหล่านี้มีความเข้มแข็ง เชื่อได้ว่าเศรษฐกิจของอาเซียนและประชาคมอาเซียนจะมีความแข็งแกร่งและก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องอาศัยภาคเอกชนทั้งรายใหญ่และไมโครเอสเอ็มอีเป็นผู้เล่นหลัก ส่วนภาครัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ประเทศไทยมีกิจการที่อยู่ในไมโครเอสเอ็มอีถึง 5 ล้านกิจการ และรัฐตั้งกองทุนเพื่อ SMEs ในแนวทางประชารัฐ เพื่อพัฒนาช่วยเหลือผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอี ทุกกลุ่มจังหวัดในระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษา ให้กลับไปตั้งต้นเป็นไมโครเอสเอ็มอีในภูมิลำเนาได้และในอนาคตจะเน้นช่วยเหลือไมโครเอสเอ็มอีภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และภาคบริการที่กำลังเติบโตมากขึ้น

“สิ่งที่อาเซียนต้องทำคือปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ ให้รวดเร็ว ร่วมกันคิดอะไรเป็นอุปสรรค ปัญหาและความแตกต่าง และปรับให้เป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อความสำเร็จที่เราจะมีต่อไป เป็นสิ่งที่ไทยพร้อมร่วมมือและแบ่งปันโมเดลประเทศไทย เพื่อให้ภูมิภาคมีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงตามโครงสร้างเศรษฐกิจที่พวกเรามี หากอาเซียนมีความเข้มแข็งจะช่วยลดความ ขัดแย้ง ความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้” นายกฯ กล่าวและว่า หวังว่าทุกฝ่ายจะได้รับ แรงบันดาลใจที่จะร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาไมโครเอสเอ็มอี ภายในประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และร่วมมือกันทำงาน เพื่อประโยชน์ของทุกคนและเยาวชนรุ่นหลัง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน