วันที่ 2 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กล่าวภายหลังการประชุมครม. ถึงกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โทรศัพท์สายตรงมาพูดคุยเมื่อคืนวันที่ 30 เม.ย.ว่า ถือเป็นเกียรติที่นายทรัมป์โทรมา โดยตนได้แสดงความยินดีกับนายทรัมป์ ที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี พร้อมเป็นกำลังใจและชื่นชมความสำเร็จในการบริหารประเทศ 100 วันแรก โดยนายทรัมป์กล่าวถึงการเป็นพันธมิตรกันมายาวนานถึง 184 ปี พร้อมชื่นชมความก้าวหน้าและพัฒนาการในหลายด้านของไทย ภายใต้การบริหารงานของตน ซึ่งตนยืนยันกับนายทรัมป์ว่าไทยพร้อมให้ความร่วมมือในทุกด้าน ในฐานะประเทศพันธมิตร เพื่อนำสันติภาพความมั่นคง มั่นคั่ง และเสถียรภาพมากสู่ภูมิภาคของเรา

“นายทรัมป์ยังกล่าวกับผมอีกว่า แม้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะห่างเหินกันไปบ้างในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ได้ให้ความมั่นใจว่าจากนี้จะมีความสัมพันธ์ที่มากยิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยนายทรัมป์ได้เชิญผมไปหารือที่สหรัฐอเมริกา พร้อมได้สอบถามถึงความสัมพันธ์ของไทยประเทศญี่ปุ่นและจีน โดยบอกว่าสหรัฐมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสองประเทศนี้ และกล่าวถึงความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี นายทรัมป์ยังบอกด้วยว่าเข้าใจคนไทยดี เพราะมีเพื่อนเป็นคนไทย หากมีความต้องการให้ช่วยเหลือก็พร้อมที่จะช่วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนได้บอกว่าให้ช่วยดูแลด้านการค้า การลงทุนของทั้งสองประเทศ โดยนายทรัมป์รับปากว่าจะดูแลยกระดับการค้าให้สูงขึ้นกว่าเดิมแน่นอน และจะส่งผู้แทนทางการค้ามาหารือกับรัฐบาลไทย นอกจากนี้นายทรัปม์ยังตอบรับที่จะมาเยือนประเทศไทยเมื่อมีเวลาที่เหมาะสม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องการกำหนดบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลกเราจะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแสดงความคิดเห็น เช่น กรณีวิกฤติการณ์ในเกาหลีเหนือ เราและอาเซียนมีความคิดเห็นร่วมกันว่าเราคงจะต้องให้ประเทศมหาอำนาจพูดคุยหารือกันเพื่อหาหนทางปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการ เพราะหากเกิดความรุนแรงขึ้นมาจะมีผลกระทบกับทุกประเทศในโลก ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็ได้มีการพูดคุยกับประเทศจีนในระดับผู้นำไปแล้วเราก็คาดหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ตาม ในเวทีสหประชาชาติ อาเซียนเราไม่เห็นชอบในการใช้ความรุนแรงหรืออาวุธนิวเคลียร์

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในส่วนของเหตุการณ์ในทะเลจีนใต้ก็อยู่ในขั้นตอนการเดินหน้าไปสู่การทำร่างกรอบการทำงานของคณะทำงานเพื่อหารือถึงการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้(ซีโอซี)ซึ่งเป็นไปในทางที่ดี ทั้งจีน ฟิลิปปินส์มีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง โดยกลางปี 2560 นี้น่าจะจัดทำซีโอซีได้สำเร็จ ระหว่างนี้ได้มีการเสนอร่วมกันไปว่าขอให้ทำตามสัญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติในภาคทะเลจีนใต้ (ดีโอซี) ไปก่อนคือการสร้างความร่วมมือ เช่น สิ่งแวดล้อม การรักษาปะการังในทะเล เส้นทางการเดินเรือที่ปลอดภัยโดยเสรี เพราะเราต้องการให้เป็นทะเลแห่งสันติภาพและทะเลแห่งความมั่งคั่ง ทะเลแห่งผลประโยชน์ ซึ่งทุกประเทศให้ความเห็นชอบร่วมกันในจุดที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน