ฝ่ายค้านแบน! โหวต ‘พรบ.งบ ปี 63’ วอล์กเอ้าต์พรึ่บ หวิดสภาล่ม รัฐบาลเกือบจมน้ำ 5 เศรษฐกิจใหม่ ร่วมงดออกเสียง ขณะที่ วิป รบ.ขอพักประชุม เข้าห้องน้ำ

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในวาระ 2 และวาระ 3 ใหม่ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ก่อนเปิดการประชุมสภา คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้ประชุมร่วมกันและมีมติออกมา 4 ข้อ ได้แก่ 1.ลงชื่อเข้าร่วมประชุม 2.ระหว่างประชุมสภา ฝ่ายค้านจะไม่อยู่ร่วมในห้องประชุม ยกเว้นส.ส.ที่ได้รับมอบกหมายให้อภิปรายก่อนเข้าวาระ และ 3.ให้ส.ส.เก็บบัตรลงคะแนน ห้ามทิ้งไว้ที่เครื่องลงคะแนน 4.การลงมติเป็นรายมาตรา ส.ส.ฝายค้านจะไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมและไม่ลงมติ

ต่อมาเมื่อเปิดประชุมสภาฯ นายชวน เปิดโอกาสให้สมาชิกได้หารือก่อนเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ โดย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย หารือว่า ขณะนี้ฝ่ายค้านได้ลงชื่อมาประชุมเพื่อร่วมเป็นองค์ประชุมสภา เพื่อให้สามารถเปิดประชุมสภาได้แล้ว และเพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลได้พิจารณาอย่างเต็มที่ ฝ่ายค้านจะไม่ขอเข้าร่วมประชุม

นอกจากนี้ยังมีความสงสัยว่า ทำไมนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ถึงยังมาร่วมประชุมสภาฯ นายเรืองไกร จึงลุกขึ้นกล่าวชี้แจงว่า สาเหตุที่เข้ามาประชุม เนื่องจากได้รับจดหมายจากสภา เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ให้มาร่วมประชุมเพื่อชี้แจงในนามคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ

ขณะที่ นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ สอบถามนายชวน ว่าหากโซนที่นั่งของส.ส.รัฐบาลไม่เพียงพอ จะสามารถไปนั่งในโซนของฝ่ายค้านเพื่อใช้เครื่องลงคะแนนได้หรือไม่ นายชวน จึงกล่าวว่า ไม่สมควรทำแบบนั้น เพราะอาจถูกกล่าวหาได้ว่ามีการเสียบบัตรแทนกัน อย่างไรก็ตามจะเผื่อเวลาให้ส.ส.ในการใช้เครื่องลงคะแนนในการพิจารณาแต่ละมาตราต่อไป

เมื่อเข้าสู่การพิจารณา ส.ส.ฝ่ายค้านเริ่มเดินออกจากห้องประชุม และทิ้งส.ส.เพียงไม่กี่คน ไว้คอยคุมเชิงหากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น จากนั้นนายชวน ได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ รายมาตรา

นายชวน กล่าวถึงที่มาของการประชุมวันนี้เป็นผลจากการที่มีข่าวการเสียบบัตรแทนกันของส.ส. ทำให้ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านเข้าชื่อเพื่อส่งให้ประธานสภาส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ตามมาตรา 148 (1) ของรัฐธรรมนูญ

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ากระบวนการพิจารณาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเฉพาะการลงมติในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่กำหนดคำบังคับให้สภาดำเนินการใหม่ในวาระที่ 2 และ3 ใหม่

“เป็นเรื่องที่เราใช้สิทธิ์ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สิ่งที่เราต้องทำ คือ คำวินิจฉัยมีผลผูกพันรัฐสภา เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ส่วนเรื่องความชอบหรือไม่ชอบ ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของแต่ละคน และกรณีนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะมาจากการที่ประธานสภาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมต้องร่วมรับผิดชอบ ถ้าการทำงานผิดพลาดก็ร้องเรียนกันมาได้”นายชวน กล่าว

นายชวนกล่าวต่อว่า การดำเนินการประชุมวันนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องกรอบเวลา 105 วันที่สภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ และสิ้นสุดไปตั้งแต่เดือนม.ค.นั้น ขอชี้แจงว่าประเด็น 105 วัน สภาได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วตั้งแต่ 11 ม.ค. แต่การประชุมวันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่อง 105 วัน เพราะเป็นกระบวนการใหม่ที่เกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขออย่าไปกังวลว่าเราเสียเกียรติหรือไม่ เพราะการเคารพกฎหมายบ้านเมืองเป็นการกระทำที่มีเกียรติอยู่แล้ว

จากนั้น นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวนำเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้วว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯจึงขอนำเสนอรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ให้ที่ประชุมสภาได้พิจารณา

ต่อมาเป็นการพิจารณาเรียงรายมาตรา เริ่มจากมาตรา 1 ชื่อร่าง พ.ร.บ.งบฯ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรองประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตเลขานุการกรรมาธิการวิสามัญฯ ใช้สิทธิอภิปรายว่าร่าง พ.ร.บ.งบฯ พ้นกรอบเวลา 105 วัน ตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 แล้ว วันนี้จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 143 ชัดเจน และอาจมีการยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามรัฐธรรมนูญอีก

ทำให้นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นประท้วงว่าอภิปรายนอกประเด็น จนนายชวน ต้องปรามว่า ขอให้กรรมาธิการฯ ช่วยอภิปรายอยู่ในประเด็น ไม่เช่นนั้นประชาชนจะมองว่า เป็นการยื้อเวลางบประมาณ

จากนั้น นายชวน ได้ให้สมาชิกนับองค์ประชุม และลงมติในมาตรา 1 ซึ่งผลการนับองค์ประชุมในมาตรา 1 นี้ มีจำนวน 250 เสียง หวุดหวิดจะไม่ครบ เนื่องจากองค์ประชุมต้องใช้ 249 เสียงขึ้นไป และลงมติเห็นชอบมาตรา 1 ด้วยคะแนน 245 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างลงมติ นายชวน กล่าวเตือนสมาชิกว่าให้ระมัดระวังในการเสียบบัตร เดี๋ยวจะมีปัญหาอีก และขอให้สมาชิกอดทนเพราะจะต้องลงมติอย่างนี้ไปอีกหลายมาตรา เหนื่อยหน่อย แต่ไม่เหนื่อยเท่าตอนหาเสียง จึงขอให้อดทนอีกสักพัก เดือนพ.ค.เราก็จะย้ายไปให้ห้องประชุมสุริยันแล้ว

ทั้งนี้ ในการแสดงตนและลงมติ นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ลำดับที่ 401 ต้องใช้วิธีขานชื่อ โดยอ้างว่าลืมนำบัตรประจำตัวมา ต่อมาเป็นการพิจารณาในมาตรา 2 ถึงมาตรา 8 นายเรืองไกร ยังคงขออภิปรายทุกมาตราตามที่ขอสงวนความเห็นไว้ โดยบางมาตรา นายเรืองไกร อภิปรายนอกประเด็น จนถูก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลประท้วงเป็นระยะๆ

เวลา 11.30 น. หลังจากมาตรา 9 กระทรวงการคลัง นายเรืองไกร ขอถอนในสิ่งที่สงวนความเห็นขออภิปรายไว้ ทำให้การประชุมลงมติตั้งแต่มาตรา 9 เป็นต้นไป เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะไม่มีกรรมาธิการ และ ส.ส.คนใดติดใจขออภิปราย แต่ละมาตราใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็ลงมติผ่านความเห็นชอบไปได้ราบรื่น ทั้งนี้ แต่ละมาตรา มีส.ส.รัฐบาลแสดงตนเป็นองค์ประชุมระหว่าง 250-255 เสียง มีเสียงให้ความเห็นชอบแต่ละมาตรา ระหว่าง 244-245 เสียง และงดออกเสียง 5-6 เสียง โดยไม่มีเสียงไม่เห็นชอบ

กระทั่งเวลา 12.45 น. การประชุมพิจารณาถึงมาตรา 31 เรื่องงบประมาณศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ทันลงมติ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ขอหารือว่า ขอพักการประชุม 20 นาที เนื่องจากตอนนี้สมาชิกต่อคิวเข้าห้องน้ำกันเต็มไปหมด ซึ่งนายชวน เห็นด้วยให้พักการประชุม แต่กลัวว่าเมื่อกลับมาประชุมใหม่จะหายไปหมด แต่ก็ยอมให้พักการประชุม 30 นาที โดยนัดประชุมอีกครั้งเวลา 13.15 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการแสดงตนเป็นองค์ประชุมนั้น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล แสดงตนอย่างพร้อมเพรียง ส่วนคะแนนงดออกเสียงที่มีผู้งดออกเสียงในแต่ละมาตราอยู่ที่ประมาณ 7คนนั้น พบว่าเป็นส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 คน ที่ประกาศแยกตัวจากการเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน และขอทำงานอิสระ

ได้แก่ นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายภาสกร เงินเจริญกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสุภดิช อากาศฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ส่วนคะแนนงดออกเสียง 2 เสียงคือ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน