“บิ๊กแดง” ล้างธุรกิจกองทัพ ส่งที่ดินทหาร ล้านไร่คืนคลัง รื้อรายได้โรงแรม-สนามกอล์ฟ-มวย-ม้า-ปั๊มน้ำมัน แบ่งเข้าแผนดิน

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 17 ก.พ.ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ภายหลังจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ร่วมกับ นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจของกองทัพบก” เสร็จสิ้น ได้มอบหมายให้ พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสนาธิการทหารบก พร้อมด้วยนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมกันแถลงข่าว

นายประสงค์ กล่าวว่า ตั้งแต่ พล.อ.อภิรัชต์ ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ได้หารือกับกรมธนารักษ์ โดยเริ่มจัดการเรื่องร้านค้าสวัสดิการ 7-11 ในกองทัพภาคที่ 1 ก่อน เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ก็ได้จัดการร้าน 7-11 ในกองทัพบกขึ้น สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในระบบการเช่า โดยใช้พื้นที่เชิงธุรกิจกับกรมธนารักษ์

เมื่อได้ดำเนินการมาและเห็นว่าเป็นเรื่องถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ จึงคุยกันต่อว่าจะทำอย่างไรให้การทำสวัสดิการเชิงธุรกิจเกิดขึ้น เช่น โรงแรมที่สวนสนประดิพัทธ์ จากเดิมกองทัพบกเริ่มจากสวัสดิการดูแลทหารที่เจ็บป่วย และกำลังพลที่ไปพักผ่อน จากนั้นก็จะมีญาติของทหาร และผู้ที่รู้จักเข้ามาพักจึงกลายเป็นเชิงธุรกิจ จึงมองว่าจะทำอย่างไรให้ถูกต้องในส่วนอื่นด้วย เช่น ปั๊มน้ำมัน สนามมวย สนามกอล์ฟ

ทางพล.อ.อภิรัชต์ จึงคุยว่าจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นโดยได้หารือกับอธิบดีกรมธนารักษ์คนที่แล้ว ประมาณเดือนพ.ย. 2561 ขณะเดียวกันก็มาทำความเข้าใจกับคนในกองทัพแต่ละส่วนงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจ เพราะเดิมสวัสดิการแต่ละส่วนงานของกองทัพก็ดูแลกันเอง จึงต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง

“ก่อนที่จะลงนาม ผบ.ทบ.ได้ตรวจร่างเอ็มโอยูประมาณ 1 เดือนครึ่ง วันนี้ถือเป็นวันที่ประสบความสำเร็จและลงนามร่วมกัน ซึ่งที่ดินในส่วนที่เป็นเชิงธุรกิจในการจัดสวัสดิการเชิงธุรกิจจะต้องส่งที่คืนให้กรมธนารักษ์ และกรมธนารักษ์ก็จะเข้าไปบริหารจัดการเชิงธุรกิจ ขณะที่รายได้ก็จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน” นายประสงค์ กล่าว

ด้านพล.อ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสวัสดิการที่กองทัพบกดำเนินการมาแล้วในอดีต เริ่มต้นจากการที่เราดูแลกำลังพล เช่น สถานพักฟื้นพักผ่อน ที่ตอนนี้มีการขยายตัวของผู้มาใช้บริการจากกำลังพลไปสู่ญาติพี่น้อง ครอบครัว ตลอดจนประชาชนทั่วไป กองทัพบกตระหนักและทราบอยู่เสมอว่าเป็นพื้นที่ของแผ่นดิน กองทัพบกดำเนินการใดๆ ต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนด

การจัดสวัสดิการไม่ใช่เฉพาะกองทัพบกเท่านั้น แต่ได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 และประกาศคณะกรรมการสวัสดิการข้าราชการเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการที่เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการเชิงธุรกิจ พ.ศ.2548 โดยการลงนามระหว่างกองทัพบก และกรมธนารักษ์ ว่าเราจะดำเนินการอย่างไร

หลังจากนี้กองทัพบกก็จะดำเนินการยื่นโครงการต่างๆ ให้กรมธนารักษ์พิจารณาว่า แต่ละโครงการจะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ยืนยันคือไม่ว่าดำเนินการในลักษณะใด เช่น จะเป็นลักษณะสวัสดิการภายในหน่วย หรือสวัสดิการเชิงธุรกิจ กำลังพลและครอบครัวของกองทัพบก ยังคงได้รับสิทธิที่จะได้รับค่าใช้บริการในราคาต่ำ และได้รับการลดราคา

การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ ทั้งสถานพักฟื้นพักผ่อน สนามกอล์ฟ ไม่ได้มีเฉพาะกองทัพบกไทย แต่กองทัพบกต่างประเทศเช่นกองทัพบกสหรัฐฯ ก็มีโรงแรม และสนามกอล์ฟ เช่นกัน โดยกองทัพบกสหรัฐฯ มีสนามกอล์ฟ 160 แห่ง

“สิ่งที่กองทัพบกทำในวันนี้คือทำให้เกิดความถูกต้อง สามารถตรวจสอบได้ โปร่งใส รายได้หลังจากที่เราจ่ายกับกรมธนารักษ์แล้ว ก็นำเข้ากองทุนสวัสดิการกองทัพบก โดยกองทัพบกมีระเบียบว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในกองทัพ พ.ศ.2554 เงินเหล่านี้ก็จะมาดูแลกำลังพล เช่น ทุนการศึกษาบุตร ดูแลสวัสดิการให้กับกำลังพลชั้นผู้น้อย” เสนาธิการทหารบก กล่าว

เมื่อถามถึงสัดส่วนการแบ่งรายได้ นายประสงค์ กล่าวว่า เป็นไปตามกฎหมายกรมธนารักษ์ทุกประการ แต่ละธุรกิจคิดสัดส่วนไม่เท่ากันเนื่องจากบางธุรกิจมีกำไรน้อย ส่วนแบ่งก็จะอยู่ในระดับหนึ่ง อีกทั้งต้องมองทำเล และมูลค่าที่ดินเป็นส่วนประกอบ

เช่น ปั๊มน้ำมันของกองทัพบกจำนวน 100 กว่าปั๊ม ก็จะประเมินมูลค่าที่ดิน ทรัพย์สิน และราคาเช่าที่ควรจะเก็บ ในส่วนของตลาดนัดภายในหน่วย ทางกองทัพบกและกรมธนารักษ์จะลงพื้นที่พิจารณาร่วมกันอีกครั้ง ทั้งนี้ ในส่วนของปั๊มน้ำมันกองทัพบก กรมธนารักษ์จะแบ่งสัดส่วนกลับคืนให้กองทัพบก ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.5-5 ขึ้นไป และบางอย่างก็ร้อยละ 7.5

เมื่อถามว่าในส่วนของที่ดินกองทัพบกมีจำนวนเท่าไหร่ที่ต้องดูแล นายประสงค์ กล่าวว่า เป็นจำนวนเกือบล้านไร่ที่ต้องดูแล รวมถึงพื้นที่ที่เกษตรกร หรือประชาชนเข้ามาเช่า ทางกรมธนารักษ์ก็ต้องเข้าไปดูแล ซึ่งจะควบคุมทั้งหมดทั้งสนามมวย สนามกอล์ฟ โรงแรมที่เข้าข่ายเชิงธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม กรมธนารักษ์จะได้ประโยชน์จากค่าเช่าพื้นที่จากร้อยละของรายได้ อีกทั้งยังมีค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับธุรกิจที่ต้องดูตามกฎหมาย ยืนยันว่าบางอย่างเงินไม่ได้กลับเข้ากองทัพบก แต่จะเป็นการลดราคาสินค้าให้กำลังพล เช่น หากกำลังพลเข้าไปตีกอล์ฟเราก็จะยึดหลักการเดียวกับสหรัฐฯ คือราคาถูกกว่าเอกสาร

และถ้ามีเงินเหลือบางส่วนก็จะนำกลับเข้ามาเป็นสวัสดิการกลางของกองทัพบก เช่น การดูแลทุนการศึกษาบุตร สวัสดิการการกู้ยืม เงิน ประกันชีวิตกำลังพล โดยมีระเบียบการใช้จ่ายครบถ้วนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547

“ผมยังตอบไม่ได้ว่ากิจการเชิงธุรกิจของกองทัพบกได้กำไรกี่พันล้าน เพราะต้องใช้ความพยายามและเวลาเป็นปีกว่าจะเดินทางถึงตรงนี้ที่จะเริ่มทำเอ็มโอยู และทำเป็นสวัสดิการเชิงธุรกิจอย่างแท้จริงโดยมีมืออาชีพเข้ามาดูแล มีเอกชนเข้ามาบริหาร ซึ่งจะต้องดูสัดส่วนค่าบริการให้อยู่ในจุดที่พอเหมาะเมื่อเทียบกับคู่แข่ง” นายประสงค์ กล่าว

เมื่อถามว่าที่ดินกองทัพบกมีการจ่ายให้กรมธนารักษ์อย่างไร นายประสงค์ กล่าวว่า ถ้าเป็นที่ดินหลวงไม่มีการจ่ายให้กรมธนารักษ์ แต่กองทัพบกขอให้ช่วยว่าในที่ที่มีประชาชนบุกรุก 7 แสนไร่ หากไปขับไล่ออกมาก็จะหาว่าทหารรังแก จึงให้กรมธนารักษ์ไปทำสัญญาเช่าครั้งละไม่เกิน 3 ปี

เพื่อให้อยู่ในระบ และควบคุมไม่ให้มีการบุกรุก ทำให้มีรายได้เข้าแผ่นดินมากขึ้น และโปร่งใสมากขึ้น เนื่องจากทุกอย่างขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ สิ่งที่กองทัพบกตัดสินใจ ตนขอชื่นชมที่เดินหน้าเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ก็มีเหล่าทัพอื่น เริ่มติดต่อเข้ามาเพื่อทำเรื่องสวัสดิการเชิงธุรกิจให้เป็นระบบมากขึ้นเช่นกัน และนายกรัฐมนตรีก็สนับสนุน

ด้าน พล.อ.ธีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า กิจการบางอย่างเป็นเชิงธุรกิจ แต่บางอย่างก็ไม่ใช่ ต้องเข้าใจว่าการลงนามวันนี้เป็นการแก้ไขปัญหาพื้นที่ราชพัสดุ ที่อยู่ในความครอบครองของกองทัพบก ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสวัสดิการที่ถือเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

กองทัพบกได้ดำเนินการกับกรมธนารักษ์ เช่น พื้นที่ถูกบุกรุก การจัดสรรที่ดินให้กับประชาชนเช่า ตามห้วงเวลาเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่กรมธนารักษ์กำหนด ในขณะที่สโมสรกองทัพบกถือเป็นเรื่องภายใน แต่ถ้าเข้าข่ายสวัสดิการเชิงธุรกิจที่สามารถจับต้องได้เช่นเดียวกับกิจการอื่นๆ ของกองทัพ อาทิ โรงแรม สนามมวยก็จะเข้ากฎของกรมธนารักษ์

ทั้งนี้ สวัสดิการของกองทัพบก แบ่งเป็น 2 อย่าง คือ สวัสดิการภายในหน่วย และสวัสดิการเชิงธุรกิจ โดยกำหนดลักษณะ เช่น สถานที่ ผู้ใช้บริการ และช่วงเวลาการเปิดให้บริการ ซึ่งการพิจารณาก็คือหากมีประชาชนมีใช้บริการเกินร้อยละ 50 ก็จะเป็นสวัสดิการเชิงธุรกิจ

ทั้งนี้ ก็มีบางธุรกิจที่ไม่ได้คืนรายได้ให้กองทัพบก เนื่องจากเป็นการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ไม่ใช่สวัสดิการ เช่น ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในกองทัพบก ที่ผู้ประกอบการเช่าพื้นที่กับกรมธนารักษ์โดยตรง ขณะที่กองทัพบกจะได้รับประโยชน์ คือการลดราคาสินค้าร้อยละ 5 โดยกำลังพลได้รับประโยชน์โดยตรง

“ในชั้นต้นจะมีสวัสดิการเชิงธุรกิจ 40 กว่าแห่ง โดยจะทำเรื่องเสนอไปยังอธิบดีกรมธนารักษ์พิจารณาเป็นกรณีไป เช่น สถานีบริการน้ำมัน ร้านค้า ตลาดนัด กิจการสโมสร สนามมวยลุมพินี (รามอินทรา) สนามมวยกองทัพภาคที่ 2 สนามกอล์ฟกองทัพบก สนามกอล์ฟลานนา สนามกอล์ฟสวนสนฯ สนามม้า และสถานพักฟื้นพักผ่อนกองทัพบก” พล.อ.ธีรวัฒน์ กล่าว

เมื่อถามว่าแต่ละปีมีรายได้จากกิจการทั้งหมดกี่พันล้านบาท พล.อ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ถึงพันล้านบาท เพราะว่าปัจจุบันเราดำเนินการในเชิงสวัสดิการภายใน แต่หากเป็นสวัสดิการเชิงธุรกิจเราต้องไปปรับปรุงพื้นที่ อีกทั้งเราไม่ใช่มืออาชีพ ทำให้รายได้ที่ได้ในปัจจุบันไม่ได้มากมาย


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน