36 อาจารย์ นิติศาสตร์ มธ. แถลงการณ์ยก 4 ข้อ ชี้ ศาลรธน. ยุบอนาคตใหม่ ไม่ได้

วันที่ 24 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 36 คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่(อนค.) และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค(กก.บห.)เป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรคว่า

คณาจารย์ประจำของคณะนิติศาสตร์ 36 คน เห็นพ้องว่าควรมีการตั้งข้อสังเกตและแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในบางประเด็น เพื่อชี้ให้สาธารณชนได้ทราบว่าอาจมีแนวทางใช้และการตีความอื่นที่เหมาะสมและเป็นธรรมกว่า

นอกจากนี้ พวกเราเห็นว่าในช่วงเวลาที่สังคมเกิดความแตกแยกแบ่งฝักฝ่ายและตั้งคำถามถึงความชอบธรรมและความชอบด้วยกฎหมายของการวินิจฉัยขององค์กรตุลาการ นักวิชาการทางนิติศาสตร์จำเป็นต้องแสดงจุดยืนและแสดงความคิดเห็นทางวิชาการที่ถูกต้อง เป็นธรรม และตรงไปตรงมา เพื่อมีส่วนร่วมช่วยให้สังคมผ่านพ้นความขัดแย้งนี้ไปได้ด้วยความรู้และเหตุผล

ยืนยันว่าแถลงการณ์ฉบับนี้มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีศาลรัฐธรรมนูญหรือสนับสนุนกลุ่มการเมืองกลุ่มใด แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระภายใต้หลักนิติศาสตร์ การดำเนินการทั้งหมดนี้ดำเนินการในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

แถลงการณ์ระบุว่า 1.พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน จึงสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ ซึ่งการที่พรรคการเมืองที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนมีสถานะเป็นนิติบุคคลและมีหน้าที่บางประการภายใต้พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่ได้ทำให้พรรคมีสถานะเป็นนิติบุคลมหาชน ในทำนองเดียวกับสมาคม มูลนิธิ หรือบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทรัฐวิสาหกิจที่แม้รัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดหรือถือหุ้นข้างมาก แต่ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชน

ทั้งนี้เป็นไปตามหลักทฤษฎีทางกฎหมายและตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุดที่วางบรรทัดฐานตลอดมาในระบบกฎหมายไทย และสอดคล้องหลักกฎหมายที่เป็นสากลทั่วโลก
เมื่อพรรคไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน

การกู้ยืมเงินของพรรคในฐานะนิติบุคคลนั้น จึงทำได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายให้อำนาจดังเช่นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน การกู้ยืมเงินจึงเป็นการใช้สิทธิในฐานะนิติบุคคลที่ได้รับการรับรองสภาพบุคคลภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นิติบุคคลย่อมมีความสามารถและมีเสรีภาพเข้าทำสัญญาได้ตามใจสมัครภายใต้ขอบอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของพรรค

ดังนั้น คณาจารย์นิติศาสตร์จึงไม่เห็นด้วยกับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า เมื่อไม่มีกฎหมายอนุญาตให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ เงินกู้นั้นจึงเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

2.การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพในการแสดงเจตนาของคู่สัญญา การที่ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่าการให้กู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือการไม่คิดดอกเบี้ยนั้น เป็นกรณีที่ถือว่า “ผิดปกติทางการค้า”นั้น

คณาจารย์นิติศาสตร์เห็นว่า การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพโดยแท้ของเจ้าหนี้และคู่สัญญา การที่เจ้าหนี้ตกลงไม่คิดดอกเบี้ยเลย หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ เป็นเพียงการที่เจ้าหนี้ไม่ประสงค์จะเรียกค่าตอบแทนจากการให้กู้ยืมหรือค่าเสียโอกาสหาประโยชน์จากเงิน แต่ไม่ทำให้เจ้าหนี้สูญเสียหรือเสียหายในทางทรัพย์สิน

การไม่คิดดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติทางการค้า โดยมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเครื่องยืนยันว่า การไม่คิดอัตราดอกเบี้ยหรือคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นเรื่อง“ปกติ”

ด้วยเหตุนี้การให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่ากฎหมายกำหนด จึงไม่ใช่การบริจาคหรือการให้ประโยชน์อื่นใด ตามนัยของมาตรา 66 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หากแต่เป็นหนี้สินที่พรรคการเมืองอาจก่อขึ้นได้ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน

3.ข้อเท็จจริงแห่งคดีไม่สามารถปรับเข้ากับมาตรา 72 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองได้ ซึ่งมาตรา 72 กำหนดว่า ห้ามมิให้พรรคและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนมาตรา 66 กำหนดจำนวนเงินอย่างสูงหรือเพดานการรับเงินรายได้ที่เป็นเงินบริจาค ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่เกินมูลค่า 10 ล้านบาทต่อปี เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริจาครายใดใช้กลไกดังกล่าวครอบงำการดำเนินการของพรรค

จะเห็นได้ว่า มาตรการตามมาตรา 66 และมาตรา 72 ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกันหรือเชื่อมโยงกัน การปรับใช้กฎหมายทั้ง 2 มาตราจึงแยกออกจากกันได้ ดังนั้น การรับเงินบริจาค ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 66 จึงไม่อาจเป็นกรณีเดียวกับการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อการกระทำตามมาตรา 66 ไม่อาจถูกเชื่อมโยงเข้ากับมาตรา 72 ได้หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินที่ได้รับมานั้นมีแหล่งที่มาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของพรรคการเมืองตามมาตรา 66 จึงไม่ใช่เหตุในการยุบพรรคการเมืองได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)

พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลที่มีสิทธิและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ย่อมมีเสรีภาพทำสัญญากู้ยืมเงินได้โดยไม่จำต้องมีกฎหมายให้อำนาจและการให้กู้เงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือแม้แต่ไม่คิดดอกเบี้ยเลยเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญา เงินกู้ดังกล่าวจึงไม่เป็นเงินที่มีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่อาจปรับเข้ากับมาตรา 72 เพื่อเป็นเหตุในการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ได้

4.ความสำคัญของพรรคการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตย กับการใช้อำนาจยุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ คณาจารย์นิติศาสตร์มีข้อสังเกตประการสำคัญต่ออำนาจในการออกคำสั่งยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญว่า

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องการยุบพรรคตามหลักการที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนั้น เกิดจากแนวคิดในเรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยจากภยันตรายอย่างร้ายแรงที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตย ไปสู่การปกครองในระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จหรือเผด็จการ

การยุบพรรคจึงถูกใช้เฉพาะที่ได้ความอย่างชัดแจ้งและปราศจากข้อสงสัยว่าพรรคหรือกลุ่มทางการเมืองกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น โดยหลักแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะต้องจำกัดอำนาจตนเองในการใช้อำนาจยุบพรรค หากไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งเช่นว่านั้น ทั้งนี้เพราะพรรคการเมืองย่อมมีเสรีภาพดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน การวินิจฉัยยุบพรรค จึงต้องชั่งน้ำหนักประโยชน์ทั้ง 2 ด้านดังกล่าวให้ได้ดุลยภาพกัน

กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญอาจยุบพรรคได้เฉพาะกรณีที่พรรคนั้นกระทำความผิดอย่างร้ายแรงจนถึงขนาดที่ไม่สามารถอ้างความคุ้มครองจากเรื่องเสรีภาพของพรรคได้เท่านั้น การยุบพรรคจึงต้องเป็นมาตรการสุดท้าย (ultima ratio) ของมาตรการอื่นๆ เมื่อไม่มีมาตรการอื่นที่มีประสิทธิภาพและได้สัดส่วนแล้วเท่านั้น และกรณีที่ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าพรรคใดกระทำการในลักษณะดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญพึงต้องจำกัดอำนาจตนเอง

คณาจารย์นิติศาสตร์เชื่อว่าปัญหาทางการเมืองไทยที่สั่งสมมายาวนาน จะได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยการใช้การตีความกฎหมายอย่างถูกต้องและเป็นธรรม และระบอบประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ได้หากนักกฎหมายทำหน้าที่โดยปราศจากอคติ และผู้คนในสังคมร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลและความอดทนอดกลั้น

สำหรับ 36 คณาจารย์ ที่ร่วมลงชือ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน รองศาสตราจารย์ ดร.สุปรียา แก้วละเอียด. รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ

อาจารย์คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย รองศาสตราจารย์ ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร อาจารย์ ดร.อำนาจ ตั้งคีรีพิมาน อาจารย์เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม อาจารย์กิตติภพ วังคำ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรศักดิ์ บุญเรือง

อาจารย์มาติกา วินิจสร อาจารย์ภัทรพงษ์ แสงไกร รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ สิริคุณโชติ รองศาสตราจารย์ ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ อาจารย์ยศสุดา หร่ายเจริญ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต ผู้ช่วยศาสตราจารย์

ดร.ตามพงษ์ ชอบอิสระ อาจารย์ ดร.ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์เอื้อการย์ โสภาคดิษฐพงษ์ ศาสตราจารย์ ดร.สหธน รัตนไพจิตร อาจารย์กีระเกียรติ พระทัย อาจารย์ฉัตรดนัย สมานพันธ์

อาจารย์ปทิตตา ไชยปาน อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ อาจารย์สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ อาจารย์ ดร.นัษฐิกา ศรีพงษ์กุล อาจารย์พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ อาจารย์สุประวีณ์ อาสนศักดิ์ อาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์

 

อ่านฉบับเต็ม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน