ซักฟอกเดือด-คุณสมบัติ‘รมต.ธรรมนัส’

ซักฟอกเดือด-คุณสมบัติ‘รมต.ธรรมนัส’ : นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี และส.ส. เมื่อช่วงดึกวันที่ 26 ก.พ. มีเนื้อความโดยสรุป ดังนี้

ร.อ.ธรรมนัส ขาดคุณสมบัติ ขาดคุณธรรม ไร้จริยธรรม มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โกหกโดยทุจริต ปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในการสมัครส.ส. และการเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี ชี้แจงข้อความอันเป็นเท็จในสภาเพื่อปกปิดบิดเบือนข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายเพื่อรักษาตำแหน่งทางการเมือง

ร.อ.ธรรมนัส ปกปิดว่าเคยเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกว่าด้วยกระทำผิดกฎหมายยาเสพติด ฐานผู้นำเข้าหรือผู้ค้า ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญในการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี

คดียาเสพติดเป็นคดีอาชญากรรมร้ายแรงระดับโลก การนำบุคคลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองเป็นอันตรายต่อประเทศและประชาชน ร.อ.ธรรมนัส เคยถูกศาลออสเตรเลียตัดสินว่ามีความผิดฐานนำเข้าและค้ายาเสพติด ศาลตัดสินจำคุก 6 ปี และจำคุก 4 ปี เนรเทศกลับประเทศ นับแต่เข้ารับตำแหน่งรมช.เกษตรฯ ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.2562 สิ่งที่ปรากฏคือการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะบุคคลต้องห้ามในการสมัครส.ส.และการเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาตรา 98 ห้ามมิให้บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิด ต่อกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า

บทบัญญัตินี้มีเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาในการห้ามสมัครส.ส. คือ การต้องคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ได้ระบุว่าเป็นคำพิพากษาของศาลไทยหรือศาลต่างประเทศ กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดหมายถึงกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และไม่มีกำหนดระยะเวลาคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นผ่านมากี่ปีแล้ว

ร.อ.ธรรมนัส เปลี่ยนชื่อหลายครั้ง นายมนัส บัวพรหม, ยุทธภูมิ บัวพรหม, ยุทธภูมิ พรหมเผ่า, พชร พรหมเผ่า และธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นคนเดียวกัน ร.อ.ธรรมนัส ปฏิเสธโดยตอบกระทู้สดในสภา 11 ก.ย.2562 ว่า ไม่เคยรับสารภาพว่าขนยา ค้ายา หรือนำเข้ายาเสพติด, ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการสอบสวน ไต่สวนพยานใดๆ ถูกกักขังอยู่ 8 เดือน

โดยการพลีบาร์เกนนิ่ง (Plea Bargaining) ไปอยู่ที่ฟาร์ม เท่ากับปฏิเสธว่าไม่ได้ถูกศาลพิพากษาจำคุก 6 ปี จากนั้นเนรเทศตามข่าว ถือเป็นการปฏิเสธชัดแจ้ง ต่อมา 12 ธ.ค.2562 ร.อ.ธรรมนัส ทำหนังสือไปยังประธานกมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนฯ โดยชี้แจงว่าท้ายสุด มี.ค.2537 ศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ พิพากษาจำคุกเป็นเวลา 6 ปี ต่อมาอุทธรณ์ปรากฏว่าเดือน มี.ค.2538 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ลดโทษลง 4 ปี

จากที่เคยบอกว่าไม่เคยถูกจำคุกแต่ภายหลังยอมรับแล้วว่าถูกสั่งจำคุก และถูกลงโทษ เป็นคำให้การที่ขัดกันเองของร.อ.ธรรมนัส โกหกในสภา ทำตัวเหมือนพิน็อกคิโอ เท่ากับสารภาพแล้วว่าถูกศาลที่ออสเตรเลียพิพากษาจำคุก 6 ปี แต่อ้างว่าได้อุทธรณ์ลดเหลือ 4 ปี ซึ่งร.อ.ธรรมนัส จำนนด้วยหลักฐาน คำพูดมัดคอตัวเอง

จากการตรวจสอบโดยประธานกมธ.ป.ป.ช. สภาส่งหนังสือไปยังศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย เมื่อ 22 พ.ย.2562 และศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ ส่งคำพากษาศาลคดีเลขที่ 6044/94 และ 6034/94 ในคดีของร.อ.ธรรมนัส มายังประธานกมธ.ป.ป.ช. ฉบับสมบูรณ์ เมื่อ 17 ม.ค.2563

ศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์อ่านคำพิพากษาเมื่อ 10 มี.ค.2538 คดีระหว่างแผ่นดินกับนายมนัส บัวพรหม คำพิพากษายืนยันชัดเจนว่า นายมนัสรับสารภาพว่าเจตนานำเข้า และเกี่ยวข้องกับการนำเข้าเฮโรอีน แตกต่างจากที่ร.อ.ธรรมนัส ปฏิเสธในสภา

ร.อ.ธรรมนัส ถูกพิพากษาจำคุก 6 ปี กำหนดเป็นโทษขั้นต่ำ 4 ปี และเวลาห้ามปล่อยตัวอีก 2 ปี ในคำพิพากษาไม่มีกระบวนการพลีบาร์เกนนิ่ง และกักกัน 8 เดือน แสดงว่าที่ ร.อ.ธรรมนัส พูดในสภาว่าไม่เคยรับสารภาพว่าขนยา ค้ายา หรือนำเข้ายาเสพติด ไม่เป็นความจริง ขัดแย้งคำพิพากษา

วันที่ 11 ก.ค.2562 ร.อ.ธรรมนัส ให้สัมภาษณ์ว่ามีข้อมูลจากสื่ออวตารพยายามโจมตีตัวเอง เนื่องจากเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ หล่อเลี้ยงหัวใจรัฐบาล ขู่ฟ้องสื่อต่างๆ เหล่านั้น แต่ถึงปัจจจุบันยังไม่มีการฟ้อง

น่าจะมีเหตุผลสองประการ คือ กรณีสื่อต่างประเทศเสนอเป็นความจริงดังคำพิพากษา และเชื่อว่าร.อ.ธรรมนัส ไม่สามารถเข้าออสเตรเลียได้เพราะไม่มีวีซ่า เนื่องจากกฎหมายประเทศออสเตรเลียหากถูกพิพากษาจำคุก 2 เดือนขึ้นไปจะไม่ออกวีซ่าให้ ร.อ.ธรรมนัส ถูกพิพากษา 6 ปี ไม่มีวีซ่าแน่นอน

นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส โต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานกมธ.ป.ป.ช. ลงวันที่ 12 ธ.ค.ว่า กรณีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ต้องเป็นกรณีได้รับโทษในศาลไทย และการต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำผิดต้องเป็นคำพิพากษาของศาลไทยเช่นกัน

อ้างแบบนี้เพื่อกันว่าคดีต้องโทษจำคุกต่างประเทศไม่เกี่ยวกับตัวเอง สมมติว่าบุคคลคนหนึ่งเป็นครูที่ถูกจำคุกต่างประเทศคดียาเสพติด มาสมัครเป็นครูในโรงเรียนที่ลูกเราเรียนหนังสืออยู่ เราอยากให้ครูคนนั้นสอนลูกเราหรือไม่ และนี่คือตำแหน่งระดับรัฐมนตรี คนที่ต้องมาดูแลงบประมาณ ออกนโยบายต่างๆ และใช้อำนาจรัฐ หัวอกคนไทยอย่างเราจะปล่อยให้คนแบบนี้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือ

และการที่ร.อ.ธรรมนัส มีโอกาสได้เป็นรัฐมนตรี ถามว่ารัฐบาลชุดนี้มีนโยบายป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดที่ชัดเจนอย่างไรบ้าง

ข้ออ้างของร.อ.ธรรมนัส ที่ว่าคำพิพากษาศาลต้องห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและสมัครส.ส. ต้องเป็นคำพิพากษาของประเทศไทยเท่านั้น มาดูกฎหมายไทย พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องในต่างประเทศ ดังนี้

มาตรา 5 ผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแม้กระทำนอกราชอาณาจักร ผู้นั้นต้องรับโทษในราชอาณาจักร ถ้าปรากฏว่าผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมกระทำผิดคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส เคยตอบกระทู้ถามสดในสภา 11 ก.ย.2562 ว่าเคยผ่าน พ.ร.บ.ล้างมลทินมาแล้ว โดยเฉพาะการถูกออกจากราชการ ได้รับการล้างมลทินแล้วตามพ.ร.บ.ล้างมลทิน คุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีจึงไม่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เหมือนอ้างว่าผ่านพ.ร.บ.ล้างมลทินแล้วถูกล้างบริสุทธิ์ผุดผ่อง ข้อกล่าวหาถูกลบล้างหมดแล้วเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ ไม่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2560

ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าพ.ร.บ.ล้างมลทิน และพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แตกต่างกัน การล้างมลทินหมายถึงการล้างโทษที่บุคคลกระทำผิด ได้รับโทษครบถ้วนและพ้นโทษแล้ว มีผลทางกฎหมายเท่ากับบุคคลนั้นไม่เคยได้รับโทษมาก่อน การล้างมลทินล้างแต่โทษไม่ได้ล้างความผิด

ส่วนการนิรโทษกรรม คือการกำหนดให้สิ่งที่เป็นความผิดไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดในทางอาญาหรือทางแพ่ง การนิรโทษกรรมจึงเป็นการล้างการกระทำ ความผิด ซึ่งล้างได้มากกว่าไม่ใช่แค่ ล้างโทษ

แต่ร.อ.ธรรมนัส เอากฎหมายเรื่องการล้างมลทิน แต่อ้างหลักการของกฎหมายนิรโทษกรรมมาบอกว่าล้างหมดแล้วเป็นการอ้างผิด เขาไม่ได้ล้างหรือนิรโทษกรรม แค่ล้างมลทินล้างโทษ ความผิดจากออสเตรเลียก็ยังอยู่ โทษที่ออสเตรเลียไม่สามารถถูกล้างไปได้เลย ไม่ว่าจะเป็นล้างมลทินหรือนิรโทษกรรม ดังนั้น ความผิดที่เคยถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 6 ปี แต่จำคุก 4 ปี ก็ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญมาตรา 98 และมาตรา 160 ก็ต้องห้ามทั้งลงสมัคร ส.ส. และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ร.อ.ธรรมนัสอยู่ในลักษณะต้องห้ามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

จากการตรวจสอบประวัติการรับราชการทหารของร.อ. ธรรมนัส ปรากฏว่าเคยออกจากราชการ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อ 27 พ.ย.2534 ตามคำสั่งกลาโหม ที่ 984/2534 ด้วยข้อหาขัด คำสั่งผู้บังคับบัญชา ต่อมาวันที่ 21 ก.ย.2535 ตามคำสั่งกลาโหม ที่ 687/2535 ขอกลับรับราชการไปสังกัดที่กองทัพเรือ จากนั้นอีกสองเดือนครึ่งกลับมารับราชการที่กองทัพบก

การออกจากราชการครั้งที่ 2 คือวันที่ 18 มี.ค.2536 ถูกปลดออกจากราชการหนีราชการ ตามคำสั่งกลาโหม ที่ 621/2536 และกลับคืนยศร้อยโท วันที่ 4 ธ.ค.2540

หากดูระยะเวลาจับกุมยาเสพติดที่ออสเตรเลีย วันที่ 15 เม.ย.2536 ถูกศาลออสเตรเลียพิพากษาจำคุก 6 ปี ขั้นต่ำ 4 ปี นับโทษจำคุกตั้งแต่วันถูกจับกุม และพ้นโทษวันที่ 15 เม.ย.2540 ได้รับคืนยศร้อยโท วันที่ 4 ธ.ค.2540

เมื่อดูระยะเวลาจะเห็นว่าสอดคล้องกับโทษจำคุกที่ได้รับตามคำพิพากษาศาลออสเตรเลีย 4 ปี และมีเวลาช่วงหนึ่งมาขอคืนยศร้อยโท ในปี 2540 ทั้งหมดล็อกด้วยเอกสารราชการ ปฏิเสธ ไม่ได้ว่าถูกจำคุกที่ออสเตรเลีย 4 ปี

นอกจากนี้ ระเบียบกองทัพบกที่ระบุว่า บุคคลที่เคยรับราชการในกระทรวงกลาโหม ได้ออกจากราชการไปแล้ว หากประสงค์จะกลับเข้ารับราชการใหม่ต้องมีคุณสมบัติ คือ ต้องไม่ออกจากราชการใดๆ ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป หรือออกจากราชการด้วยการต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลในคดีอาญา

ตรงนี้น่าสงสัยว่าแล้วกลับมาได้อย่างไร เมื่อตรวจสอบประวัติ ไม่มีประวัติเลยว่าได้แจ้งแก่กระทรวงกลาโหมว่าเคยต้องโทษ คำพิพากษาให้จำคุกในออสเตรเลีย กมธ.ป.ป.ช. ก็เคยเชิญเจ้ากรมกำลังพลแต่ละเหล่ามาสอบถามข้อเท็จจริง ว่าเคยแจ้งเรื่องคำพิพากษาจำคุกหรือไม่ ซึ่งแต่ละคนตอบไม่ได้ในเรื่องนี้ และไม่มีปรากฏ ก็เป็นเหตุอันควรสงสัยว่าไม่ได้แจ้ง

ร.อ.ธรรมนัสปกปิดความจริงซึ่งควรแจ้งในการเข้ารับราชการ เป็นพฤติกรรมปกปิดโดยทุจริตถึงความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในการขอกลับรับราชการทหาร ไม่เปิดเผยว่าเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก 6 ปี และจำคุกจริง 4 ปีในออสเตรเลีย เปรียบได้ว่าฉ้อโกงเพื่อให้ได้รับราชการ

อย่างไรก็ตาม ร.อ.ธรรมนัสได้ลุกขึ้นชี้แจงข้อหาดังกล่าว ยืนยันว่าหลักฐานที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายนั้นไม่เป็นความจริง และยังได้เตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้อภิปราย และผู้ที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน