เพื่อไทยงัด 4 ข้อย้อนถามกลับ “บิ๊กตู่” พร้อมท้าลงเลือกตั้ง แนะ ประชาชนเก็บคำตอบไว้เลือกอนาคต จาตุรนต์ซัดเป็นคำถามชี้นำแล้วยังตั้งข้อสงสัยต่อรัฐธรรมนูญของตนเอง เสพติดการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ หวังอยู่ต่ออีกนาน ชาติไทยพัฒนาชี้คำถามนายกฯไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลถูกมองว่าอยากอยู่ต่อ ด้านโฆษกไก่อู แจงนายกฯต้องการข้อมูลโดยตรงจากประชาชนแทนการทำโพล คาด 3 เดือน รู้ผล ฝากชาวบ้านแสดงความเห็นเต็มที่ อย่ากังวล ยันไม่มีจนท.เข้าไปติดตามพฤติกรรมหากเห็นต่าง ปลัดมหาดไทยส่งหนังสือด่วน สั่งการผู้ว่าฯเร่งรวบรวมคำตอบ สปท.ป้อง “บิ๊กตู่” ตั้งคำถามเพราะห่วงอนาคตประเทศ หวั่นการเมืองทำเสียของ คสช.ไฟเขียว “ณัฐวุฒิ” จัดทอล์กโชว์วันนี้ ยันไม่มีวาระการเมือง

มท.เด้งรับ 4 คำถาม”บิ๊กตู่”

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทุกจังหวัด เรื่องการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านศูนย์ดำรงธรรม ระบุว่า ในรายการศาสตร์พระราชาวันที่ 26 พ.ค. ช่วงท้ายรายการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีคำถาม 4 ข้อ เพื่อให้ประชาชนตอบและแสดงความคิดเห็นส่งไปที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ทุกจังหวัด แล้วให้กระทรวงมหาดไทยรวบรวมส่งนายกฯนั้น คำถามคือ 1.คิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร

3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยแต่การเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตของประเทศ และเรื่อง อื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง 4.คิดว่ากลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีกแล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร ทั้งนี้ ในส่วนรายละเอียดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการรวบรวมความคิดในการตอบคำถามดังกล่าวของประชาชนในจังหวัด ทางกระทรวงจะแจ้งตามไปเร็วๆ นี้

ไก่อูแจง-ต้องการข้อมูลตรง

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขออธิบายเพิ่มเติมคำถาม 4 ข้อ ที่นายกฯ ถามไปยังประชาชนและให้ส่งคำตอบผ่านศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัดว่า นายกฯ ต้องการรับฟังข้อมูลจากประชาชนโดยตรง เพื่อจะได้ปรับปรุงในสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งหลายครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลมักได้ยินเสียงการแสดงความเห็นของนักการเมืองบางกลุ่ม หรือนักวิชาการบางคนเท่านั้น แต่นี่คือการรับฟังความเห็นจากประชาชนโดยแท้จริง

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า การเลือกเปิดรับฟังความเห็นครั้งนี้ แทนการจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็น เพราะรัฐบาลไม่ต้องการเพียงค่าประมาณการ แต่ต้องการข้อเท็จจริงที่สื่อสารได้โดยตรงจากประชาชน คาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือน กระทรวงมหาดไทยจะทยอยสรุปผลส่งให้นายกฯ จากนั้นนายกฯ จะเล่ารายละเอียดให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป พร้อมกันนี้ขอให้ประชาชนอย่ากังวลว่า หากแสดงความเห็นต่างแล้วจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามพฤติกรรม หรือสร้างผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ขอให้ทุกคนแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่

สปท.ป้อง”ตู่”ห่วงอนาคตปท.

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่หนึ่ง กล่าวถึงนายกฯ ตั้ง 4 คำถามต่อการเลือกตั้งว่า ไม่ใช่มีนายกฯ คนเดียวที่กังวล แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็วิตกเพียงแต่ไม่พูดออกมาถ้าดูผลสำรวจโพลต่างๆ ได้สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของประชาชนถึงความไม่ไว้วางใจอาชีพนักการเมือง ทำให้ได้เรตติ้งต่ำกว่าทุกอาชีพ แต่จะเหมารวมทุกคนก็ไม่ถูก นักการเมืองที่ดียังมีอยู่ แต่มีนักการเมืองบางคนบางกลุ่มที่เสียงดังยังเล่นการเมืองแบบเดิมๆ มองอะไรสุดโต่งด้านเดียว คิดแบบแตกแยก เก่งแต่ตำหนิติเตียน บางคนลืมส่องกระจกดูตัวเองถึงกับสอนสั่งเรื่อง ธรรมาภิบาล แต่ตัวเองติดคดีคอร์รัปชั่นโกงบ้านกินเมืองสมัยเป็นรัฐมนตรี

นายอลงกรณ์กล่าวว่า นักการเมืองพวกนี้ใช้การเลือกตั้งและประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องมือข้ออ้างในการได้อำนาจแล้วก่อการทุจริต แบ่งประชาชนเป็นฝักฝ่าย ใช้ความรุนแรงห้ำหั่นประหัตประหารฝ่ายตรงข้ามจนระบบรัฐสภาและประชาธิปไตยไปไม่รอด ที่น่าห่วงคือตลอด 3 ปียังไม่สำนึก ไม่ทบทวนความผิดพลาดในอดีต ยังมีพฤติกรรมเหมือน 10 ปีก่อนแล้วประเทศจะฝากความหวังไว้กับนักการเมืองพวกนี้ได้อย่างไร ขอแนะนำด้วยความห่วงใยว่าต้องฟื้นฟูศรัทธาความไว้วางใจของประชาชนด้วยการปฏิรูปพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมือง

ชทพ.ชี้ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล

นายนิกร จำนง แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงพล.อ.ประยุทธ์ ตั้ง 4 คำถามถึงอนาคตของการเลือกตั้งและการได้มาซึ่งรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลว่า ตนเข้าใจว่าเป็นการสวนกลับนักการเมืองบางคนที่แสดงความเห็นคัดค้านการเลื่อนโรดแม็ปจัดเลือกตั้ง ภายหลังมีเหตุการณ์ความไม่สงบในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แต่ตนไม่ทราบว่า นายกฯ ตั้งใจต้องการคำตอบจากคำถามดังกล่าวหรือไม่ เพราะคำถามมีลักษณะเป็นคำถามนำ และมีผลกระทบทางความรู้สึกของทุกฝ่าย ตนในฐานะนักการเมืองมีความไม่สบายใจต่อประเด็นที่นายกฯ พูดผ่านรายการที่ออกอากาศอย่างเป็นทางการไปทั่วประเทศ และมองว่าเป็นการสร้างแรงกดดันทางการเมืองต่อทุกฝ่าย รวมถึงสร้างความลำบากให้กับรัฐบาล

“ผมเข้าใจว่าในรายการที่นายกฯ พูดนั้น มีผู้เตรียมบทไว้ล่วงหน้า ซึ่งคนที่ทำคำพูดให้นายกฯ ควรระมัดระวังและทบทวนการเขียนเนื้อหาที่สร้างผลกระทบในวงกว้างและไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล ซึ่งเปรียบได้กับมือข้างหนึ่งของรัฐบาลกำลังทำเรื่องปรองดอง แต่มีคนที่อยู่ข้างหลังส่งลิ่มมาให้ และเมื่อรวมกันก็ทำให้ลิ่มนั้นกระเทาะปรองดองจนแตก ดังนั้น การทำหน้าที่ของทุกฝ่ายควรหลีกเลี่ยงการสร้างแรงกดดัน และความตึงเครียดทางการเมือง” นายนิกรกล่าว

ยันเลือกตั้งคือคำตอบที่ดีที่สุด

นายนิกรกล่าวว่า ขอให้รัฐบาลเห็นใจฝ่ายการเมืองด้วย เพราะขณะนี้กว่า 3 ปีแล้วที่รัฐบาลคสช.เข้ามาบริหารประเทศ และพยายามไม่สร้างแรงกดดัน เพื่อให้รัฐบาลเตรียมความพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง เมื่อนายกฯ พูดถึงคำถาม 4 คำถามดังกล่าวทำให้มีผู้มองได้ว่ารัฐบาลคสช.ต้องการอยู่ต่อไปใช่หรือไม่ และเมื่อถูกแปลความไปเช่นนั้น ตนกังวลว่ารัฐบาลจะตกในภาวะลำบากได้ อย่างไรก็ตาม หากจะให้ประชาชนได้ตอบทั้ง 4 คำถามนั้น ตนมองว่าอาจให้คำตอบที่ชัดเจนได้ดีที่สุดคือผ่านการเลือกตั้ง ไม่ใช่ให้หน่วยงานรัฐหน่วยใดดำเนินการรับคำตอบจากประชาชน

วัฒนาโพสต์สวน”บิ๊กตู่”

นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พาณิชย์ และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซ บุ๊กว่า ขอตอบคำถามแบบรวมทั้ง 4 ข้อ ที่ นายกฯ ฝากประเด็นไว้ในรายการศาสตร์พระราชาว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐบาลและส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งย่อมถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเป็นฉบับที่โฆษณาว่าจะสกัดคนโกงไม่ให้เข้าสู่การเมือง จึงไม่มีข้อควรสงสัย เว้นแต่จะหลอกประชาชนให้ลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ

นายวัฒนาระบุว่า นอกจากนี้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งย่อมดีกว่ารัฐบาลปัจจุบัน เพราะไม่ได้ใช้อาวุธไปยึดอำนาจมา หากเข้ามาแล้วทำไม่ดีก็มีกลไกตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินคดี นั่นคือเป็นรัฐบาลที่อยู่บนหลักความรับผิดชอบตรวจสอบได้ ซึ่งต่างกับนายกฯ ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้เพราะนิรโทษกรรมไว้ล่วงหน้า

ซัดเลิกบงการประชาชน

“โบราณสั่งสอนไว้ว่าต้องล้างเท้าก่อนขึ้นธรรมาสน์ หมายความว่าทำตัวให้สะอาดก่อนจะไปสั่งสอนคนอื่น ดังนั้น หากจะถามถึงความมีธรรมาภิบาลของรัฐบาลหน้า ท่านต้องทำตัวเองให้มีธรรมาภิบาลก่อน อย่างน้อยต้องถูกตรวจสอบได้ นายกฯ ควรเลิกสร้างวัฒนธรรมแบบใครอายน้อยย่อมได้ประโยชน์แบบที่กำลังทำ พึงสำเหนียกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย การเลือกตั้งเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเลือกใครมาเป็นผู้แทนก็ได้ ประชาชนย่อมมีวุฒิภาวะพอจะตัดสินอนาคตทางการเมืองของตัวเองได้โดยไม่ต้องมีใครมาบงการ ยึดอำนาจมา 3 ปีบ้านเมืองเสียหาย ประชาชนทุกข์ยากเพราะพิษเศรษฐกิจทั่วหน้า ควรจะรู้จักคำว่าพอ แต่กลับแสดงพฤติกรรมจะไม่คืนอำนาจให้ประชาชน คำว่าละอายสะกดยากนักหรือ” นายวัฒนา ระบุ

แนะเก็บคำตอบไว้เลือกอนาคต

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายกฯ ฝากคำถาม 4 ข้อถึงการเลือกตั้งว่า คำถามจากหัวใจ ถามเข้าไปถึงกลางใจประชาชน ไม่ต้องส่งคำตอบไปที่ไหน ดังนี้ 1.สภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบันมีธรรมาภิบาลดีพอหรือไม่ หากยังไม่ดีพอ จะแก้ไขอย่างไรให้ดีขึ้น 2.ที่ระบบ ธรรมาภิบาลประเทศเรามีปัญหา เพราะระบบถ่วงดุลและตรวจสอบไม่เข้มแข็งใช่หรือไม่ และถ้ายังไม่ดีพอจะแก้ไขอย่างไร 3.ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ประชาชนไม่ได้รับโอกาสในการตัดสินใจเลือกนโยบายดีๆ มาแก้ปัญหาและดูแลชีวิตของพวกตน ระบบเช่นนี้จะเป็นระบบที่พึงประสงค์หรือไม่ และ 4.ใครสร้างเงื่อนไขให้ระบบประชาธิปไตยล้มเหลวและมีปัญหา ใครที่ปล่อยปละละเลยจนทำให้ประเทศวุ่นวาย บานปลาย กลุ่มบุคคลที่เป็นปรปักษ์ต่อประชาธิปไตยและไม่เชื่อมั่นในการตัดสินใจของประชาชน ควรได้รับโอกาสให้มาดูแลชีวิตของประชาชนหรือไม่ ตอบแล้วไม่ต้องส่งไปที่ไหน เก็บไว้ในใจเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจอนาคตของตนเอง

“อ๋อย”เหน็บตั้งคำถามหลงทาง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงพล.อ.ประยุทธ์ ตั้ง 4 คำถามต่อการเลือกตั้งว่า การตั้งคำถามนี้ถามแบบต้องการคำตอบที่ถูกใจ คือพูดก่อนเลยว่าคนที่วิจารณ์เป็นพวกบิดเบือนและบั่นทอนกันเอง แถมยังชี้นำด้วยว่าไม่ควรถือว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยบอกว่าประชาธิปไตยจะไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลไม่ได้ ทั้งที่ตนเองกำลังสนุกสนานกับการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลใดๆ เลยมาตลอด 3 ปี คำถามทั้ง 4 ข้อ แสดงให้เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ เหมือนอยู่กลางทะเล และหลงทางไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนและไม่คิดจะไปไหน อยากลอยน้ำเคว้งคว้างอยู่อย่างนั้น ขณะนี้ประเทศอยู่ในระบบเผด็จการและกำลังจะไปสู่ประชาธิปไตย แต่พล.อ.ประยุทธ์ พูดเหมือนเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่กำลังเดินไปสู่ระบอบเผด็จ การ

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ตนขอใช้สิทธิ์ประชาชนตอบคำถาม 4 ข้อ หวังว่าพล.อ. ประยุทธ์ จะยินดีรับฟังอย่างที่พูดไว้ คำถามข้อที่ 1 เลือกตั้งแล้วจะได้รัฐบาลมีธรรมาภิบาลหรือไม่ และ 2.ถ้าไม่ได้จะทำอย่างไร คำถาม 2 ข้อนี้ความจริงเป็นคำถามต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่พล.อ.ประยุทธ์ให้ร่างขึ้นและประกาศสนับสนุนก่อนวันลงประชามติด้วยตนเอง และรัฐธรรมนูญนี้พึงมีระบบกลไกที่กลั่นกรองผู้ที่จะมาเป็นรัฐบาลและจัดการกับรัฐบาลที่ไม่มี ธรรมาภิบาลอยู่แล้ว การตั้งคำถามอย่างนี้ แสดงว่าไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญนี้จะดีจริง

จวกเสพติดอำนาจ-หวังอยู่ต่อ

นายจาตุรนต์กล่าวว่า คำถามข้อที่ 3 เลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงยุทธศาสตร์และการปฏิรูปถูกต้องหรือไม่ คำตอบ คือย่อมไม่ถูกต้อง เพราะยุทธศาสตร์และการปฏิรูปเป็นเรื่องสำคัญ ประชาชน สามารถดูได้ว่าพรรคใดให้ความสำคัญกับการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ เพียงใด ทั้งยังมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่คอยกำกับให้รัฐบาลต้องทำตามแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่า ผู้สนใจเรื่องนี้จำนวนมาก กำลังเห็นว่าแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติที่ทำกันอยู่จะทำให้ประเทศล้าหลังและไม่เกิดการปฏิรูปใดๆ เสียมากกว่า

แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คำถามข้อที่ 4 กลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณีควรมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีกเกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไขและแก้ด้วยวิธีอะไร คำตอบคือ ที่ว่าไม่เหมาะสมในทุกกรณีใครเป็นคนตัดสิน ถ้าประชาชนเลือกมาเพราะเห็นว่าเหมาะสม แต่พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่าไม่เหมาะสมอยู่คนเดียว ปัญหาน่าจะอยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์ มากกว่า แต่ถ้าเป็นเรื่องการทำผิดกฎหมายหรือขัดต่อธรรมนูญ ย่อมมีระบบกลไกตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายจัดการอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้พล.อ.ประยุทธ์ กับพวกทำรัฐประหารอีก คำถามนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากถามนำและชี้นำแล้วยังตั้งข้อสงสัยต่อรัฐธรรมนูญของตนเอง และแสดงความฝักใฝ่เสพติดการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ โดยหวังว่าประชาชนจะเรียกร้องให้ตนเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จต่อเนื่องไปอีกนานๆ

เพื่อไทยก็ตั้ง 4 คำถาม

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่าประชาชนก็อยากฟังคำตอบจากพล.อ.ประยุทธ์ ในประเด็นการเลือกตั้งเช่นกัน จึงขอตั้งคำถามให้ตอบใน 4 คำถาม 1.การที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นห่วงว่าประชาชนอาจจะเลือกคนผิด ถ้าเคารพความคิดเห็น เชื่อมั่นในการตัดสินใจของประชาชน คนทั้งประเทศจะเลือกใคร พรรคใด แสดงว่าเขาได้มอบฉันทานุมัติให้ไปแล้ว คำถามคือผู้นำที่เข้าสู่อำนาจโดยการรัฐประหารกับผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ ใครสง่างามมากกว่ากัน

2.การที่ตั้งคำถามว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่นั้น ถ้าเทียบกับปัจจุบันที่เครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย มีจุดกำเนิดมาจากที่เดียวกันคือคสช. มาตรวจสอบกันเอง กับการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่จะมีส.ว.สรรหา แม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่จะมีส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ถามว่าระหว่างการมีธรรมาภิบาลแบบลูบหน้าปะจมูก องค์กรตรวจสอบเปลี่ยนเป็นองค์กรฟอกขาว กับการตรวจสอบที่เข้มข้น มีตัวแทนยึดโยงกับประชาชน แบบไหนดีกว่ากัน แบบไหนตรงใจ ถูกใจพล.อ.ประยุทธ์มากกว่ากัน

ท้า”บิ๊กตู่”ลงเลือกตั้ง

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า 3.พล.อ.ประยุทธ์กังวลใจอะไรกับเสียงของประชาชนที่จะกำหนดอนาคตประเทศ ด้วยมือของเขาเอง หลักการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยสากลทั่วโลก ประชาชนเสียงข้างมากของประเทศถือเป็นเสียงชี้ขาดว่าใครจะได้บริหารประเทศ ไม่ซับซ้อน ลับลวงพราง พรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 ควรเป็นแกนนำรัฐบาล เป็นนายกฯ ไม่ว่าพรรคนั้นจะมีนโยบายอย่างไร หัวหน้าพรรคจะเป็นใคร แล้วพล.อ.ประยุทธ์ เดือดร้อนอะไร หรือกลัวเสียงประชาชนทำไม

4.ในระยะหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ค่อยปฏิเสธอย่างแข็งขันเหมือนเมื่อก่อนว่าจะ ไม่เข้าสู่การเมืองหลังเลือกตั้ง ถือเป็นเรื่องดีหากพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตั้งพรรค อาจมีนักการเมืองและประชาชนส่วนหนึ่งสนับสนุน เพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ นำผลงานการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปหาเสียงได้ถ้าลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงอยากถามว่าหากจะเข้าสู่อำนาจหลังการเลือกตั้ง มีแนวทางตั้งพรรคลงแข่งขันเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน หรือจะใช้วิธีพิเศษเข้าสู่อำนาจ

ปชป.ข้องใจสืบทอดอำนาจ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ยื่นคำถาม 4 ข้อถึงประชาชนว่า คำพูดนายกฯมองได้ 2 มุมคือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ คงกังวลว่าหลังการเลือกตั้งบ้านเมืองจะกลับมาเหมือนเดิมอีก ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยก็กังวล รวมถึงตนก็กลัวเหมือนกัน 2.แต่คำถามแบบนี้มีลักษณะเป็นการเมืองเลือกคนมาบริหารประเทศในวันข้างหน้า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศชัดเจนในวันนี้ว่า ไม่ลงเลือกตั้ง จะลงจากตำแหน่ง จบเเล้วไม่อยู่ในอำนาจต่อ ก็พูดได้ ไม่ผิดปกติ แต่ตอนนี้ยังคลุมเครือ พล.อ.ประยุทธ์ไม่พูดชัดๆ ว่าจะลงจากตำแหน่ง หรือลงเลือกตั้งหรือไม่ จึงมีผลว่าพูดชี้นำหรือไม่ ว่าอย่าเลือกคนเก่าเข้ามา คล้ายกับบอกว่านักการเมืองไม่ดีหมดอย่าไปเลือก ส่วนถ้าจะถามว่าคำพูดดังกล่าวเรียกว่าหาเสียงล่วงหน้าเอาเปรียบนักการเมืองหรือไม่ ลองตรองกันเอาเอง เพราะตอนนี้พรรคที่มีทหารเป็นผู้ก่อตั้งมาสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อ กว้านหาตัวผู้สมัครกันเเล้ว ในปักษ์ใต้ก็มี พื้นที่อื่นก็ด้วย บางพื้นที่ทราบว่าถึงขนาดได้ตัวผู้สมัครเเล้วก็มี

อย่าพูดทำลายนักการเมือง

นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาประกาศให้ชัดเจนว่าจะอยู่ต่อ หรือจะลงเลือกตั้ง หรือจะเอาอย่างไร ถ้าจะลงเลือกตั้ง ต้องให้ความเป็นธรรมเท่าเทียม ปลดล็อกให้พรรคทำกิจกรรมได้ ไม่เช่นนั้นจะเรียกว่าพูดฝ่ายเดียวบ่อนทำลายนักการเมือง เมื่อเป็นผู้ก่ออำนาจ บอกว่าจะนับหนึ่งไปสู่การเลือกตั้งต้องวางพื้นฐานอย่างเป็นธรรมเพื่อความสงบ ถ้าพูดแบบนี้แล้ว ลงเลือกตั้งครั้งหน้าก็เรียกว่าเอาเปรียบกัน จะลงมาเป็นผู้เล่นควรมีความเป็นสุภาพบุรุษเปิดให้นักการเมืองดำเนินกิจกรรมตามปกติ จะลงเลือกตั้งตามกติกาหรือไม่ก็เป็นสิทธิ เเต่ถ้าจะพูดชี้นำทำนองนี้ควรบอกสังคมให้ชัดว่า จะไม่ลงสนามเเล้ว ส่วนจะเข้ามาวิธีไหนก็อีกเรื่อง

“เต้น”ขอบคุณคสช.ไฟเขียวระดมทุน

เวลา 15.00 น. ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะผอ.โครงการด้วยรักและแบ่งปัน แถลงการจัดงานระดมทุนด้วยรักและแบ่งปัน 1 “ครั้งนี้พี่ขอ” ว่า แม้ตนจะยืนอยู่บนสนามของความขัดแย้ง แต่ภารกิจนี้ไม่มีการเมือง ไม่เลือกข้าง ไม่มีสี ไม่มีฝ่าย โดยโครงการนี้เป็นการรวบรวมเงินจากประชาชนทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาให้นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ งานนี้ไม่มีนัยยะทางการเมือง จึงขอแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยประสานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง มีการชี้แจงรูปแบบ เนื้อหาและวัตถุประสงค์ของงานให้ทราบ เพื่อเข้าใจตรงกันทั้ง 2 ฝ่ายว่าเป็นงานหารายได้เพื่อทุนการศึกษากับเยาวชนไทย จึงได้รับอนุญาตจากคสช. ให้จัดงานทอล์กโชว์ ในวันที่ 28 พ.ค.นี้ และได้ประสานงานหน่วยราชการในพื้นที่ให้อำนวยความสะดวกดูแลความปลอดภัยแก่ ผู้ที่มาร่วมงาน

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ขอขอบคุณคสช.ที่เข้าใจและไม่ขัดข้องในการจัดงาน ยืนยันงานนี้จะไม่มีวาระทางการเมือง ไม่มีเรื่องการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนกับผู้มีอำนาจ หรือประชาชนกับประชาชนด้วยกัน และขอต้อนรับทุกฝ่ายเพราะโครงการนี้ตาบอดสี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบหลายนายมาร่วมสังเกตการณ์ภายในบริเวณจัดงาน แต่ไม่ได้เข้าพูดคุยหรือขอให้ยุติการแถลงข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน