“วิโรจน์” โฆษกก้าวไกล วิจารณ์งบซื้อเรือ ของกองทัพเรือ

กรณีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ครั้งที่ 2 เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยมีวาระการเพื่อพิจารณาจากกระทรวงกลาโหม ขออนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำระยะที่ 1 จำนวน 1 ลำ โดย ในสัญญาการต่อเรือแอลพีดี ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบก 1 ลำ คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 6,100 ล้านบาทนั้น

วันที่ 31 มี.ค. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุถึงกรณีการจัดซื้อเรือดังกล่าวว่า ทรรศนะของตน คือ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และมีสัดส่วนการระบาดไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น

เกาะติดข่าวโควิด กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account
เพิ่มเพื่อน

ดังนั้นการเตรียมความพร้อมให้ระบบสาธารณสุขของประเทศ มีศักยภาพที่เพียงพอที่จะรองรับกับจำนวนผู้ป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น ที่ควบคู่ไปกับการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ผ่านมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างสังคม (Social Distancing) พร้อมกับการลด (หรืองด) กิจกรรมที่มีการชุมนุมของมวลชนที่หนาแน่น และการสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายประชาการ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และประชาชนทุกๆ คน จึงควรให้ความร่วมมือกับรัฐบาล อย่างเคร่งครัด เพื่อลดอัตราการระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้

นายวิโรจน์ กล่าวว่า นอกจากการควบคุมการระบาด สิ่งที่รัฐบาลไม่อาจจะละเลยได้ และมีความจำเป็นต้องทำควบคู่กันไปด้วย คือ การยกระดับศักยภาพทางการแพทย์ เพื่อให้ระบบสาธารณสุข มีเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่เพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเครื่องมือที่มีความจำเป็นต่อการรักษาโรคโควิด-19 เป็นอย่างมาก เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย นั่นก็คือ “เครื่องช่วยหายใจ” ตลอดจนความพร้อมด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น “จำนวนเตียง” และ “เครื่องผลิตออกซิเจน” ที่มีความจำเป็นในการรักษาโรคโควิด-19

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตต่างๆ คือ 1.เครื่องช่วยหายใจที่โรงพยาบาลของรัฐมีอยู่ นั้นมีจำนวนเท่าใด สามารถรองรับกับจำนวนผู้ป่วยได้กี่ราย และ2.ปัจจุบันเครื่องช่วยหายใจที่มีอยู่ตามโรงพยาบาลของรัฐแต่ละแห่ง ซึ่งมีไว้ใช้สำหรับการรักษาโรคตามปกติอยู่แล้ว จำนวนที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด โรงพยาบาลขนาดเล็กหลายแห่งอาจมีไม่เพียงพอ จึงอยากทราบว่ารัฐบาลมีแผนในการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจเพิ่มหรือไม่ และวางแผนว่าจะจัดซื้อเพิ่มเป็นจำนวนเท่าใด

“ผมได้กำหนดสมมติฐานตามอัตราการพบผู้ติดเชื้อ คาดว่า ณ สิ้นเดือน ส.ค. 63 ประเทศไทยน่าจะมีประชากรที่ติดเชื้อสะสมรวมกันกว่า 2 แสนคน (รวมคนที่หายป่วยกลับบ้านด้วย) และจากการคำนวณที่คำนึงถึงการหมุนเวียนการใช้เครื่องช่วยหายใจ และเครื่องผลิตออกซิเจนแล้ว พบว่า รัฐบาลควรจัดเตรียมเครื่องช่วยหายใจไว้ 5,724 เครื่อง หรือประมาณ 6,000 เครื่อง และเครื่องผลิตออกซิเจน 6,346 เครื่อง หรือประมาณ 6,500 เครื่อง รวมทั้งต้องจัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม ประมาณ 12,070 เตียง หรือประมาณ 12,000 เตียง

โดยจุดพีคน่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือน ก.ค. นั่นแสดงว่ารัฐบาลพอจะมีเวลาให้เตรียมการได้ถึง 3 เดือนครึ่ง ซึ่งน่าจะมากพอที่จะเตรียมความพร้อมได้ทัน” นายวิโรจน์ กล่าว

การประมาณการที่ตนคำนวณในเบื้องต้นนี้ หากรัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ดีกว่าสมมติฐาน ก็อาจจะจัดหาจำนวนเครื่องช่วยหายใจ เครื่องผลิตออกซิเจน และจำนวนเตียง ไว้น้อยกว่านี้ได้ แต่ในทางกลับกัน หากมาตรการในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของรัฐบาล แย่กว่าสมมติฐานที่กำหนดเอาไว้ รัฐบาลก็จำเป็นต้องเตรียมจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ข้างต้น ไว้เพิ่มมากขึ้น

โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า สำหรับงบประมาณ หากตั้งสมมติฐานว่า เครื่องช่วยหายใจเครื่องหนึ่งมีราคาประมาณ 850,000 บาท 6,000 เครื่อง ใช้งบทั้งสิ้น 5,100 ล้านบาท และเครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องละ 40,000 บาท 6,500 เครื่อง ใช้งบประมาณ 260 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 5,360 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้แพงเลย กับการสร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข และทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น

“จากข้อแนะนำนี้ หากประชาชนจะร่วมกันสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อการซื้ออาวุธของกลาโหม ผ่านแท็ก #กูสั่งให้มึงเลิกซื้ออาวุธ เพราะในสถานการณ์ที่ประเทศต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ และงบประมาณด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 โดยให้รัฐบาลได้ตระหนัก และรัฐบาลควรเอางบประมาณมาเยียวยาประชาชน เอางบมาพยุงเศรษฐกิจช่วยเอสเอ็มอี เอางบมาซื้ออุปกรณ์การแพทย์ เพิ่มศักยภาพด้านการสาธารณสุขเหมาะกว่าการซื้ออาวุธ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน