วันที่ 9 มิ.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณา ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 โดยนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีทั้งหมด 78 มาตรา มีการแก้ไขเพิ่มเติม 18 มาตรา มีกรรมาธิการฯเสียงข้างน้อย สงวนความเห็น 3 คน และมีสมาชิกสนช. ขอสวงวนคำแปรญัตติ 14 คน ส่วนใหญ่แปรญัตติในมาตราที่เกี่ยวข้องกับดำรงอยู่ขอกรรมการกกต.หลังร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้

ต่อมาเวลา 15.00 น. ที่ประชุมสนช.ได้พิจารณาใน มาตรา 70 บทเฉพาะกาล เกี่ยวกำกับดำรงอยู่ของกกต.ชุดปัจจุบัน โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย ที่เสนอให้ปรับเปลี่ยนเฉพาะกกต.บางคนที่ขาดคุณสมบัติ อภิปรายว่า ในเรื่องคุณสมบัติ กกต. ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกมธ.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าให้ปรับเปลี่ยนกกต.ทั้งหมด หรือเซ็ตซีโร่ โดยให้กกต.ทั้ง 5 คน พ้นจากหน้าที่ไปเมื่อกฎหมายใช้บังคับ และให้ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้กกต.ชุดใหม่ ส่วนตัวเห็นว่าควรให้กกต.ชุดปัจจุบันที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ต่อ เรามองว่าประสิทธิภาพการทำงานของกกต.เป็นเรื่องสำคัญ คนที่มาเป็นต้องมีความรู้ มีประสบการณ์ และมีความเข้าใจในการทำงาน

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการกกต. ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อยที่ไม่ให้เซ็ตซีโร่ กกต.ยกชุด อภิปรายว่า การทำงานไม่ว่าองค์กรใดย่อมมีความขัดแย้ง ที่ผ่านมาตนอยู่กับกกต. ก็จะทำหน้าที่ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะการทำประชามติรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันความขัดแย้งในกกต.หายไป เราร่วมมือกันทำงานให้เป็นไปได้ด้วยดี จนกระทั่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้แก้ไขคุณสมบัติจากเดิม และมีการเสนอญัตติของกมธ.เสียงข้างมาก ให้กกต.ทั้งชุดสิ้นสุดการทำหน้าที่ทันทีที่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

เพราะกกต.ชุดปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่อย่างถูกต้องทุกกระบวนการ มีคุณสมบัติที่อยากให้อยู่ต่อตามวาระ เพราะกกต.ทุกคนกว่าจะมาทำงานวันนี้ต้องสอบเข้ามาและลาออกจากวิชาชีพหลายอย่าง อยากถามว่าหากมีกกต.ใหม่ทั้งชุดเข้ามาทำหน้าที่แล้ว จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ การทำงานด้านการเลือกตั้งต้องอาศรัยเวลาและความชำนาญในการทำงาน ดังนั้นการให้กกต.ทั้งชุดยังคงอยู่เพื่อทำหน้าที่ต่อไป จึงเป็นเรื่อที่ตนเห็นด้วย

นอกจากนี้ยังมีสมาชิก สนช.อีกหลายคนที่ต้องการให้ กกต.อยู่ต่อทั้งชุดจนครบวาระ อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก นายนรนิติ เศรษฐบุตร และนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ อภิปรายว่า ตนขออภิปรายในแบบที่ชาวบ้านเข้าใจ จึงอยากถามไปที่ กรธ.และกมธ.ว่า โกรธอะไรกกต.เป็นการส่วนตัวหรือเปล่า ตนไม่แน่ใจ ทำไมกมธ.จึงอยากให้ก๊กนี้ไปทั้งหมด ทั้งที่กกต.ชุดปัจจุบันมาถูกต้องทุกประการแต่ไปรังแกเขา เพราะกกต.บางคนมีคุณสมบัติถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และอยากถามว่าจะเซ็ตซีโร่ทุกองค์กรหรือไม่ หรือเซ็ตซีโร่เฉพาะที่ไม่ใช่พวกเรา การอ้างปลา 2 น้ำก็ฟังไม่ขึ้น และในสภานี้ก็ปลาหลายน้ำ สนช.ก็ปลาถึง 3 น้ำ ถ้าจะทำเช่นนี้ชาวบ้านจะหาว่าสภาเรามีมาตรฐาน ทานกันอย่างไร และหากกฎหมายอื่นเข้ามาจะวางมาตรฐานอย่างไรเพราะหากทำอย่างนี้ก็คือหลายมาตรฐาน หากชี้แจงไม่ได้จะรู้สึกอายชาวบ้านหากเดินออกไปข้างนอก

นายตวง อันทะไชย ประธานกมธ. ชี้แจงว่า การตัดสินใจเซ็ตซีโร่กกต. ไม่ได้เกิดจากความโกรธหรือรักใคร หรือใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ แต่ตัดสินใจเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และเจตจำนงเพื่อให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ กมธ.จึงเมินเฉยในร่างแรกของกรธ.ที่เสนอให้ตัดคุณสมบัติ กกต.บางคนที่ขัดรัฐธรรมนูญ และต้องการให้คนใหม่มาใช้กติกาใหม่ เพื่อให้การปฏิรูปมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เรายังให้ความเป็นห่วง กกต. โดยเขียนในวรรคสอง ให้มีการรักษาการ และได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จนกว่าจะมีกกต.ชุดใหม่เข้ามา

เพราะเราคิดใหญ่ในการปฏิรูปประเทศ หากเราปฏิบัติแบบเดิม กลไกแบบเดิม วิธีการทำงานแบบเดิม ไม่มีทางเกิดผลแบบใหม่ได้ ส่วนคำถามที่ว่ากฎหมายองค์กรอิสระอื่น จะเดินตามแนวทางเซ็ตซีโร่หรือไม่ ตนไม่สามรถตอบได้ เพราะกรธ.เป็นผู้ร่างกฎหมาย จึงต้องให้กรธ.ตอบเอง

จากนั้นที่ประชุมลงมติ ในมาตรา 70 เห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก ที่ต้องการให้เซ็ตซีโร่ กกต.ด้วยคะแนน 161 ไม่เห็นด้วย 15 งดออกเสียง 12 และเมื่อที่ประชุมพิจารณาครบทั้ง 78 มาตรา ได้ลงมติในวาระ 3 เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 177 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 5 เสียง และดำเนินการตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ต่อไป โดยให้สนช.ส่งร่างพ.ร.บ.ให้กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ดูว่าเนื้อหาตามร่างนี้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเห็นแย้งให้ส่งความเห็นมาที่ประธานสนช. เพื่อมีการตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายจำนวน 11 ประกอบด้วยสนช. 5 คน กรธ. 5 คนและกกต. 1 คน เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วเสนอกลับให้สนช.พิจารณษเห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก หรือหากคว่ำต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน