หมออ๋อง ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ไลฟ์สดปรับทุกข์ชาวบ้าน นอนไม่หลับ คาใจปมชาวบ้านเกินครึ่งไม่ได้ เงินเยียวยา 5 พัน จากรัฐบาล

วันที่ 18 เม.ย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อกลางดึก เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนถึงปัญหาที่แต่ละคนได้เผชิญมาจากกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะผลกระทบต่อปัญหาปากท้อง จากการที่สถานที่ต่างๆถูกปิดตัวลง การขาดรายได้ และที่สำคัญคือการไม่ได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาทจากมาตรการของรัฐ

นายปดิพัทธ์ ระบุว่า เหตุที่ตนลุกขึ้นมาไลฟ์กลางดึกในวันนี้ก็เพราะว่าตนนอนไม่หลับ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้ไปลงเยี่ยมชาวบ้านมาหลายพื้นที่ พร้อมการไปแจก “ถุงน้ำใจ” บรรจุข้าวสารอาหารแห้งของพรรคก้าวไกล สิ่งที่ตนได้ไปพบมาทำให้ตนรู้สึกหดหู่ เก็บกลับมาคิดจนไม่รู้จะทำอย่างไร เลยลุกขึ้นมาไลฟ์กลางดึกในวันนี้

นายปดิพัทธ์ เผยต่อว่า ตนและทีมงานได้ลงไปพบหน้าประชาชนหลายคนที่คุ้นเคย บางคนย้ายแหล่งทำมาหากินมาอยู่อีกที่หนึ่งเพราะตลาดที่เคยค้าขายเดิมถูกปิด บางคนไม่มีรายได้ไปเลย แต่ประเด็นที่สำคัญคือจากที่ได้คุยปากเปล่ามา พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จาก 100 คนจะได้เงินเยียวยา 5 พันบาทจากมาตรการของรัฐสัก 5 คนเท่านั้น

ส่วนคนที่ได้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนในเมือง ทำให้เห็นว่าแม้กระทั่งสิทธิในการเข้าถึงบริการของรัฐก็ยังมีความเหลื่อมล้ำ เพราะคนบางคนเข้าไม่ถึงการใช้อินเตอร์เน็ตจริงๆ และกระบวนการคัดกรองก็ยิ่งมีปัญหา ที่ทำให้คนที่ควรได้รับการเยียวยาหลายคนกลับไม่ได้รับในส่วนนี้้

ตั้งแต่การออกแบบนโยบายในการช่วยเหลือประชาชน เรายังไม่เห็นความพยายามในการทำอย่างไรประชาชนทุกคนถึงจะได้รับความช่วยเหลือ แต่มันกลายเป็นว่าทำอย่างไร จะมีเงื่อนไขเพื่อคัดกรองคนให้ได้มากที่สุด มันผิดตั้งแต่วิธีคิดแล้ว

ถ้าวิธีคิดมันเป็นว่าทำอย่างไรจะช่วยคนได้มากที่สุด เงื่อนไขจะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะว่าเจตนาของรัฐคือให้ทุกคนได้รับการช่วยเหลือ เพราะเป็นไปได้อย่างไรครับว่า มีคนใดคนหนึ่งในประเทศนี้ ไม่กระทบกับเรื่องโควิด ผมว่าไม่มีสักคนเดียวที่ ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด

นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในเมื่อวิธีคิดของรัฐเป็นเรื่องของการทำอย่างไรให้คัดกรองคนให้ได้มากที่สุด เงื่อนไขจึงเยอะ เป็นนิสิต-นักศึกษาก็ไม่ได้ ทั้งๆที่หลายคนต้องทำงานหาเงินเรียนเอง หลายๆคนที่อยู่ในชนบท หรือมาจากชนบทมาทำงานในเมือง ก็ไปพบว่ามีชื่อเป็นเกษตรกร

ทั้งๆที่ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง แต่ประเด็นคือพอเงื่อนไขเยอะ ใช้ระบบ AI ในการคัดกรอง ทุกคนก็คงจะเห็นได้แล้วว่าระบบ AI ของรัฐมีปัญหาขนาดไหน และกระทรวงดิจิทัลฯก็ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะแก้ไขเรื่องนี้ แต่กลับไปไล่จับคนที่เผยแพร่ “ข่าวปลอม” เป็นส่วนมาก

“มันเป็นเรื่องที่เศร้ามากว่าต้องพิสูจน์ว่าตัวเองจนขนาดไหนถึงจะได้รับการสงเคราะห์จากรัฐ จริงๆเมื่อประชาชนประสบภัยภิบัติ ประชาชนไม่ควรจะมารับความสงเคราะห์จากรัฐ มันเป็นหน้าที่ของรัฐอยู่แล้วที่ควรจะเอาเงินภาษีของเรามาดูแลเรา เพราะเราเป็นเจ้าของเงิน คนจนทุกคนเสียภาษีเหมือนกันหมด มันไม่ควรต้องมีการมาคัดกรองแล้ว แต่ต้องช่วยได้เลย แต่ตอนนี้เราต้องมาพิสูจน์สิทธิ์กัน” นายปดิพัทธ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน