รายงานพิเศษ : ข้อเสนอรัฐบาล-มาตรการเยียวยา

ข้อเสนอรัฐบาล-มาตรการเยียวยา : มาตรการจ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลายเป็นเรื่องบานปลาย เมื่อระบบคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์ไม่ได้มาตรฐาน หลายคนควรได้แต่ไม่ได้ ส่วนอีกหลายคนไม่ควรได้ แต่ก็ได้

ประกอบกับการชี้แจงเรื่องระยะเวลาการจ่ายเงินเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของรมว.คลัง หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี ที่กลับไป กลับมา ยิ่งทำให้สังคมสับสนและขาดความเชื่อมั่น

ขณะเดียวกัน มีหลายฝ่ายเสนอความเห็นไปถึงรัฐบาลเพื่อให้การเยียวยาตรงจุดที่สุด

ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล

รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

มาตรการคัดกรองที่ยังมีปัญหาในการจ่ายเงินเยียวยา ผลกระทบค่อนข้างกว้าง ไม่ใช่แค่บางกลุ่มบางอาชีพเพราะทุกคนต้องกักตัว ช่วงนี้ใครยังมีรายได้หาเลี้ยงชีพได้ก็อยู่ได้ จะมีปัญหาคือคนที่ไม่ได้รับการจ้างงาน

แม้ในบริษัทเดียวกัน คนชั้นกลางไม่ได้ทำงานก็ยังอยู่ได้ แต่คนที่เป็นแรงงานหลายคนไม่มีงานก็จะมีปัญหา โดยเฉพาะแรงงานรายวัน แม่ค้าตามตลาด ส่วนที่ขายอาหารก็ขายได้บ้าง แต่แม่ค้าขายสินค้าอย่างอื่นก็ขายไม่ได้ทำให้ขาดรายได้

นโยบายรัฐบาลใช้คำว่าเยียวยาควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาว่าอาชีพไหนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และให้เยียวยาโดยตรง ผู้ได้รับผลกระทบน้อยก็อาจยังไม่ได้รับการเยียวยา ดังนั้น กรอบของคนที่ได้รับการเยียวยาจึงจำกัด เช่น แม่ค้าที่มีทุนก็ยังกระทบน้อยกว่าแม่ค้าที่ต้องเช่าที่ขายของ โอกาสเอาตัวรอดก็น้อยลง คนที่เป็นเจ้าของโอกาสรอดก็มีมากกว่า

ดังนั้น ที่นักวิชาการเสนอให้จ่ายทุกคน 3,000 บาท ยกเว้นคนที่มั่นใจว่ามีรายได้ ถ้ารัฐบาลพิสูจน์ไม่ได้ก็จ่ายไปก่อน การให้ผู้ได้รับผลกระทบกรอกข้อมูลรับเงินก็กรอกข้อมูลผิดๆ เพราะอยากได้เงิน แทนที่จะให้ทุกคนบิดเบือนข้อมูลตนเอง รัฐบาลก็จ่ายให้ไปเลย คน ที่คิดว่าควรได้รับการช่วยเหลือก็ไปรับ คนที่ไม่คิดว่าควรได้ก็ให้ ถอนสิทธิ์

ถ้ารัฐบาลรู้ว่าทุกคนต้องได้ก็หากระบวนการจัดระบบการโอนเงินผ่านธนาคาร หรืออาจใช้วิธีอื่นผ่านองค์กรชุมชนต่างๆ โดยใช้กลไกราชการเข้าช่วย

การให้เงินเยียวยาคนละ 3,000 บาททุกคน จะใช้งบประมาณมากกว่าจ่ายคนละ 5,000 บาท เพราะจำนวนคนที่ได้เยอะ แต่ถ้าใช้วิธีของรัฐบาลคัดกรองคนเดือดร้อนรับ 5,000 บาท จะมีกลุ่มอื่น ออกมาเรียกร้องบ้าง เช่น เกษตรกร ชาวประมง จะมีออกมาเรื่อยๆ ดังนั้น รัฐบาลต้องมีมาตรการเพิ่ม

ตัวเลขเงินช่วยเหลือคนละ 3,000 บาท ที่คำนวณเผื่อไว้ประมาณ 4.4 แสนล้านบาท สูงกว่าที่รัฐบาลจะจ่ายคนละ 5,000 บาท แต่จำกัด 9 ล้านคน ถึงต้องลดจำนวนเงินเหลือ 3,000 บาท หักคนที่จะได้รับทั้งข้าราชการ ผู้ที่อยู่ในประกันสังคม พนักงานเอกชน งบประมาณน่าจะอยู่ที่ 3.3 แสนล้านบาท

ประเด็นใหญ่คือเราทุกข์ด้วยกัน เพราะฉะนั้นต้องช่วยเหลือให้ทุกคนรอดพร้อมกัน เพราะขณะนี้อาจมีลักษณะรายชื่อไม่มีอยู่ในบัญชีที่จะได้รับเงินเพราะไม่มีอินเตอร์เน็ตกรอกข้อมูลได้ คนที่ไม่มีบ้านอยู่ อยู่ใต้สะพาน ก็มีปัญหาในการรับสิทธิ์

ข้อเสนอให้คนละ 3,000 บาท อาจทำให้รัฐบาลถูกด่าน้อยลง ส่วนคนที่ได้ 5,000 บาทไปแล้วในเดือนแรก เดือนต่อมาก็ให้แค่ 3,000 บาทเท่ากับคนอื่น อย่างน้อยก็ไม่รู้สึกว่าไม่ได้รับการช่วยเหลือ ส่วนคนที่ตอนนี้ลูกผีลูกคนว่าจะได้เงินหรือไม่ก็จะมีเงินมาประทังชีวิต และจะก่อปัญหาทางการเมืองน้อยที่สุด

การบริหารจัดการของรัฐบาลก็สร้างปัญหา ก่อนหน้านี้รมว.คลังบอกจะเพิ่มจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน แล้วกลับมาที่ 3 เดือน ส่วน นายกฯ ขอจ่ายเดือนเดียวก่อน เพราะถังแตก แต่สุดท้ายก็บอกจ่าย ให้หมด รัฐบาลต้องเตรียมการสื่อสารให้ชัดเจน

การเยียวยา 9 ล้านคน อาจมองว่าเหมือนสร้างโรงไฟฟ้าเยียวยาแต่ผู้ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ได้มองว่าเรื่องโรคระบาดกระทบทั้งประเทศ จึงคิดว่าควรช่วยให้กว้างกว่าการช่วยแคบ และตัวเงินอย่างเดียวไม่พอต้องมีเรื่องการยังชีพระยะยาวด้วย ถ้าโรคนี้อยู่กับเรามากกว่า 3 เดือนจะทำอย่างไรเพราะงบประมาณก็มีปัญหา สุดท้ายก็ต้องเพิ่มการแจกอาหาร การดำรงชีพ ซึ่งจะช่วยคนชั้นล่างมากกว่า

ส่วนปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ รัฐควรยกเว้นการจัดเก็บช่วงนี้ และไม่มีการตัดน้ำตัดไฟบวกไปอีก 3 เดือน ให้ชาวบ้านเอาตัวรอดให้ได้ ผู้ที่ต้องเสียค่าเช่าเจ้าของควรลดค่าเช่าลง ในส่วนเจ้าของหากติดธนาคารก็ให้ธนาคารหยุดการเก็บดอกเบี้ยช่วงนี้ จะทำให้ ผู้ประกอบการมีโอกาสเอาตัวรอดมากขึ้น

เมื่อลูกหนี้รอด ธนาคารก็รอดเหมือนกันและจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้หลังพ้นโควิดไป ถ้าบริษัท รีสอร์ต ผู้ประกอบการเจ๊ง เมื่อพ้นโควิดประเทศก็ไม่มีอะไรดึงขึ้นมาพัฒนา

ศรีประภา เพชรมีศรี

อจ.สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

การจ่าย 5,000 บาท เป็นการเยียวยาเบื้องต้น มีคนไปลงทะเบียนกว่า 20 ล้านคน หมายความว่ามีคนที่ต้องการความช่วยเหลือมีจำนวนมาก เนื่องจากโควิด-19 ไม่ได้เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจน รวย ก็ติดได้เท่าเทียมกัน

แต่คนที่ได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เช่น คนตกงาน คนที่ออกไปค้าขายไม่ได้ จึงคิดว่าการช่วยเหลือเฉพาะหน้าให้คนที่กำลังลำบากใช้ชีวิตอยู่ได้ถือว่าถูกทาง แต่วิธีการให้ลงทะเบียนสมควรทำหรือไม่นั้นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่น บางคนไม่ได้ใช้สมาร์ตโฟนก็ไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยา ทำให้สูญเสียโอกาสที่ควรได้รับ

อย่างเรื่องชิม ช้อป ใช้ เป็นความสูญเสียอย่างมหันต์สำหรับคนที่เสียภาษี เอาเงินไปให้คนที่ลงทะเบียนช็อปปิ้ง คนที่เข้าถึงชิม ช้อป ใช้ คือคนที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ ใช้เทคโนโลยีเป็นและมีเครื่องมือพร้อม คนจำนวนมากที่เป็นชาวบ้านธรรมดาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องทำอย่างไร บางคนไม่มีทะเบียนบ้าน

ปัญหามีตั้งแต่กระบวนการใช้เทคโนโลยีและความรับรู้ของผู้คน อาจเห็นว่าตอนนี้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยง่ายแต่ก็ไม่ใช่ทุกคน เช่น คนเร่ร่อนไม่สามารถเข้าถึงการรับรู้ข่าวสาร เข้าถึงเทคโนโลยี ทำให้หลุดออกจากระบบ

ดังนั้น วิธีการที่รัฐบาลทำอยู่จึงไม่ใช่วิธีที่ทำให้คนเดือดร้อนจริงๆ เข้าถึงได้ มีคนจำนวนหนึ่งที่เสียโอกาส คนที่ได้โอกาสคือคนที่มี สมาร์ตโฟนเข้าถึงเทคโนโลยีได้

ส่วนข้อเสนอที่เห็นว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเขตต่างๆ รู้จักลูกบ้านดีว่าคนไหนเดือดร้อนนั้น ต้องอยู่บนความเชื่อถือด้วยว่าคนเหล่านี้ ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต แต่คิดว่าน่าจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง

คงไม่มีวิธีการไหนที่สมบูรณ์แบบ แต่จะมีวิธีการอย่างไรที่ทำให้คนที่ลำบากจริงๆ เข้าถึงได้ สิ่งหนึ่งที่รู้สึกคือ มีคนจำนวนมากที่มีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ควรจะรู้ตัวว่าสมควรได้รับความช่วยเหลือหรือไม่ อยู่ที่ความซื่อสัตย์ของแต่ละคนด้วย

เงิน 5,000 บาท สำหรับบางครอบครัวที่ไม่มีอะไรเลย ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร ไม่ว่า 3,000 บาท หรือ 5,000 บาท ล้วนแต่เป็นประโยชน์ และมีความหมายทั้งนั้น

ส่วนข้อเสนอให้แจก 3,000 บาท ทุกคน ทุกกลุ่ม ในฐานะผู้เสียภาษีก็ต้องการเห็นรัฐบาลใช้ภาษีของประชาชนอย่างมีประโยชน์กับคนที่ต้องการจริงๆ ดังนั้น ความเป็นจริงคงไม่สามารถให้ทุกคนได้ เพราะหลายคนยังประกอบอาชีพได้ ข้าราชการยังได้รับเงินเดือน หรือแม้แต่คนที่มีประกันสังคมก็ควรได้รับการยกเว้น รัฐบาลคงต้องจัดลำดับความสำคัญว่าคนกลุ่มไหนลำบากที่สุดในตอนนี้

ส่วนที่ห่วงกันว่ารัฐบาลอาจมีเงินไม่พอ ไม่สามารถบริหารจัดการได้จริงนั้น ปีงบประมาณจะสิ้นสุดจริงๆ ช่วงก.ย. ดังนั้นรัฐบาลมีเวลาอีก 5 เดือนจะใช้งบประมาณปี 2563 ดูสถานการณ์ตอนนี้แต่ละกระทรวงไม่สามารถใช้งบได้ทันอยู่แล้ว เพราะหลายโครงการ ไม่สามารถดำเนินการได้ตอนนี้

ส่วนตัวจึงเชื่อว่ารัฐบาลยังมีเงิน ถ้าดูการใช้เงินของแต่ละกระทรวง ถ้าไม่สุรุ่ยสุร่ายตอนนี้เงินจะเหลือเยอะมาก ที่บอกว่าจะตัด 10 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละกระทรวง น้อยไป น่าจะตัดมากกว่านี้และตัดทั้ง 5 เดือน

อีกทั้งงบกลางปี 2563 ก็มีจำนวนมาก แต่ไม่รู้ว่ารัฐบาลเอาไปใช้อะไรบ้าง จึงเชื่อว่ารัฐบาลยังมีเงิน แม้ว่าจะไม่ได้มีมากก็ตาม ดังนั้น แทนที่จะคิดเรื่องการกู้เงินทำไมไม่มาดูงบประมาณที่มีอยู่ว่าจะจัดการอย่างไร

ข้อเสนอต่อรัฐบาล ขออ้างอิงข้อเสนอของคณาจารณ์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ซึ่งไม่ได้แค่วิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียว แต่ชี้ให้เห็นปัญหาและเสนอทางแก้ รัฐบาลน่าหยิบยกไปพิจารณา แทนที่จะไปตั้งคณะทำงานมีผู้แทนระดับปลัดกระทรวงหรืออธิบดีไปนั่งคุยกัน เพราะข้าราชการอย่างไรก็คุยกันแบบข้าราชการ ทำไมไม่ขอความเห็นจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย

สิ่งหนึ่งที่เห็นว่าขาดหายไปจากรัฐบาลชุดนี้ คือ การมีส่วนร่วม ของแต่ละภาคส่วน การตัดสินไม่ว่าจะเป็นระดับไหนถูกรวบอำนาจมาที่รัฐบาลทั้งหมด ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ชาวบ้านก็คิดว่าบางครั้งคำตอบน่าอยู่ที่ระดับหมู่บ้านหรือชุมชน ให้ชุมชนได้มี ส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทและปัญหาที่แตกต่างกัน

ดังนั้น แทนที่รัฐบาลจะคิดอยู่คนเดียว ทำไมไม่คุยกับภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะภาคประชาชน

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

การแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นนโยบายที่น่าสนใจ แต่ใน ทางปฏิบัติมีปัญหาค่อนข้างมาก ทั้งจากหลักเกณฑ์และระบบคัดกรอง ขณะที่ความเดือดร้อนของประชาชนไม่ใช่เรื่องที่จะรอได้ แค่ สัปดาห์เดียวที่ประชาชนต้องรอจะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่แย่แล้ว

โรคโควิด-19 เป็นภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ รัฐบาลต้องปรับตัวแก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์ นำบุคคลที่มีความรู้ความสามารถด้านนโยบาย ซึ่งเชื่อว่าผู้รู้มีเยอะมาก รัฐบาลควรขอให้เขาเหล่านี้ มาช่วย

ขณะเดียวกัน การบริหารจัดการที่ส่วนใหญ่กลายเป็นระบบรัฐราชการ การทำงานและอำนาจถูกดึงไปอยู่ที่ปลัดกระทรวงเกือบหมดทำให้เห็นปัญหาของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องความไว้วางใจ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่บอกถ้าทนไม่ไหวจะออกมาใช้ชีวิตตามปกติ เป็นเรื่องน่าห่วง

อยากให้รัฐบาลลองศึกษาวิธีการแก้ปัญหานี้จากประเทศที่เขาทำได้ ง่ายสุดก็ลอกการบ้านเขามาปรับใช้ให้เข้ากับประเทศเรา เช่นในเกาหลีใต้ ซึ่งมีทั้ง 1.เรื่องของความไว้ใจ ความโปร่งใส เปิดให้ประชาชนมาเทสต์หาเชื้อจำนวนมาก กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือ การใช้โมบายล์แอพพลิเคชั่น การส่งต่อข้อความที่จำเป็น การสื่อสารที่เข้าใจง่าย ถามว่าวันนี้คนยังดู นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์ศบค. รายงานสถานการณ์และตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่กี่คน น่าจะน้อยลงเรื่อยๆ

2.การรับผิดชอบของส่วนต่างๆ ประชาชนต้องรู้จักรักษาระยะห่าง ขณะที่การช่วยเหลือของรัฐบาล การบริหารจัดการต้องมีระบบ และไม่จำเป็นต้องเป็นเงินอย่างเดียว ข้าวสารอาหารแห้ง น้ำดื่ม ก็นำไปช่วยเหลือได้

3.การทำงานให้เป็นเอกภาพ ขณะนี้ต้องยอมรับว่ารัฐบาลทำได้ ดีขึ้น

4.ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ในส่วนของไทยถือว่าดีแต่เรายังขาดความเร็ว รวมทั้งทำอย่างไรให้คนเข้าถึงการทดสอบหาเชื้อได้มากขึ้น ยิ่งในพื้นที่ที่ติดพรมแดนทั้งภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคตะวันตกถือว่า น่าห่วง

5.ความเป็นปึกแผ่น รวมทั้งความสามัคคีถือว่าคนไทยเรามีสูง แต่การแสดงปฏิกิริยากับผู้ป่วยเกินความจำเป็นต้องระวัง เพราะคนป่วยไม่ใช่คนผิด

ดังนั้น เราสามารถลอกการบ้านเกาหลีหรือไต้หวันก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายสุดที่จะช่วยรัฐบาลและประเทศไทย

ส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอของนักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ที่ให้เยียวยาทุกคน 3,000 บาทโดยไม่ต้องคัดกรอง สถานการณ์ขณะนี้ทุกคนต่างยากลำบาก ไม่ต้องถามว่าเราต้องใช้เงินเท่าไร มากแค่ไหนรัฐบาลก็ต้องไปหามา เพราะนี่คือชีวิตคน ตอนซื้ออาวุธ เรือดำน้ำ ไม่เห็นถามประชาชน

อย่ากังวลว่าต้องใช้เงินมากแค่ไหน เงิน 5,000 บาท ไม่เพียงพอ ต่อการใช้ชีวิตแต่บรรเทาความเดือดร้อนได้ ถ้าเงินไม่พอก็แจกคูปอง มีบริษัทประชารัฐก็ให้บริษัทที่ผูกปิ่นโตมาร่วม

และเมื่อประชาชนบอบช้ำกับภาระที่เพิ่มขึ้นแต่ไม่มีรายได้ รัฐบาลพร้อมร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชนหรือไม่ อย่างเช่นการสละเงินเดือนของรัฐมนตรีคนละ 2 เดือน พอจะช่วยบรรเทาปัญหาไปได้บ้าง การสร้างความเชื่อมั่นถือเป็นเรื่องสำคัญ

รัฐบาลต้องตั้งหลัก ตั้งสติ ใช้ความรู้เข้ามาบริหารจัดการ และต้องสื่อสารเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย มีนโยบายช่วยเหลือเยียวยาทั้งขณะนี้ รวมถึงอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม

การจัดลำดับการช่วยเหลือกลุ่มบุคคลต้องเริ่มจากกลุ่มที่เปราะบางก่อน และการสร้างเครือข่ายดูแลชุมชน รวมทั้งจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างข้าวกับอาวุธในยามวิกฤตคนจะเลือกซื้ออะไรคำตอบมีอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน