เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะกรรมการฝ่ายพิธีการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า เป็นการประชุมเพื่อเตรียมรายงานในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการที่จะมีการประชุมในวันที่ 26 มิ.ย. ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน

โดยตนรับผิดชอบในส่วนของพิธีการจึงได้ซักซ้อมความเข้าใจในเรื่องการเชิญชวนประชาชนไปทำดอกไม้จันทน์ และการวางดอกไม้จันทน์ในวันถวายพระเพลิง ซึ่งมีความชัดเจนในส่วนของต่างประเทศ ต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ โดยในต่างประเทศและต่างจังหวัดอาจจัดพิธีวางดอกไม้จันทน์ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกวางก่อนหน้าวันถวายพระเพลิง เพื่อที่จะเก็บภาพเอาไว้ใช้และเพื่อบรรเทาจำนวนคนที่จะแออัด ส่วนครั้งที่สองจะเป็นวันถวายพระเพลิงคือวันที่ 26 ต.ค.2560

นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งนี้ ดอกไม้จันทน์ทั้งในและต่างประเทศทุกแห่ง จะเลือกมาเพียงบางดอกเพื่อนำเข้ามาที่กรุงเทพเพื่อนำมาใช้ร่วมในการพิธีถวายพระเพลิง ส่วนที่เหลือจะนำไปรวมกับดอกไม้จันทน์ที่ประชาชนวางในวัดแต่ละจังหวัดในวันที่ 26 ต.ค. เพื่อร่วมในพิธีเผา ส่วนในต่างประเทศจะใช้วิธีเผา ฝัง หรือลอยน้ำ แล้วแต่ธรรมเนียมของท้องถิ่นนั้นๆ รวมถึงจะมีการทำความเข้าเข้าใจถึงเรื่องการจัดงานมหรสพ

รองนายกฯ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในวันงานพระราชพิธีประชาชนไม่สามารถเข้าไปในบริเวณท้องสนามหลวงในส่วนที่เป็นมณฑลพิธีได้ แต่สามารถเข้าไปในส่วนของโรงละครแห่งชาติที่ได้กันไว้เป็นในส่วนของมหรสพได้ โดยผู้ที่จะเข้าไปในส่วนของพระเมรุมาศจะต้องมีบัตรติดทุกคน ซึ่งบัตรที่ติดนั้นจะมีสีแสดงให้ทราบว่าแต่ละบุคคลจะนั่งตรงจุดไหน ส่วนการเชิญแขกที่จะมานั้นทางสำนักพระราชวังได้มอบให้รัฐบาลเป็นผู้พิจารณาจัด ซึ่งได้ตกลงกันแล้วว่าจะเชิญแขกอย่างไรบ้าง ซึ่งจะมีทั้งหมดประมาณ 7,000-7,500 ที่นั่ง แต่ในความเป็นจริงอาจจะเหลือประมาณ 5,000 ที่นั่ง เพราะอีก 2 พันที่นั่งที่เหลือจะต้องกันไว้ให้คนที่จะเข้ามาอยู่ในริ้วขบวน

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่จะเข้าไปร่วมพิธี ไม่ว่าจะเป็นทูต คณะรัฐมนตรี (ครม.) พระบรมวงศานุวงศ์ พระอนุวงศ์ หรือแม้กระทั่งผู้มีตำแหน่งต่างๆ จะไม่สามารถนำรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปได้ จะต้องนำรถไปจอดในที่จัดไว้ เช่น ทูตานุทูตจะจอดที่กระทรวงการต่างประเทศ ส่วนครม.จอดที่ทำเนียบรัฐบาล และเมื่อถึงเวลาจะมีรถบัสรับ-ส่งเข้าไปที่งาน

ทั้งนี้ ในวันถวายพระเพลิง จะต้องเข้าไปในพิธีถึง 3 ครั้งคือ 1.รอรับขบวนเชิญพระบรมโกศ ช่วงเวลา 08.00-09.00 น. 2.ตอนถวายพระเพลิง ประมาณเวลา 17.00 น. และ 3.ช่วงถวายพระเพลิงจริง ประมาณ 22.00 น. ส่วนของประชาชนจะร่วมงานครั้งนี้อย่างไร รัฐบาลต้องเตรียมการอย่างไรบ้างนั้น ทั้งหมดนี้จะนำเข้าที่ประชุมวันที่ 26 มิ.ย. ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จมาเป็นองค์ประธานและวินิจฉัย

รองนายกฯ กล่าวว่า สำหรับการวางดอกไม้จันทน์ล่วงหน้านั้น คงไปกำหนดกันเองแล้วแต่ความสะดวกและเก็บภาพจากทั่วทั้งประเทศส่งเข้ามาที่หอเปลื้อง ซึ่งอยู่ ณ มณฑลท้องสนามหลวง บริเวณพระเมรุมาศ ซึ่งเป็นคลังสำหรับจัดเก็บดอกไม้จันทน์ที่จะใช้ถวายพระเพลิง ส่วนในต่างประเทศนั้น อาจมีการกำหนดล่วงหน้า 15 วัน ส่วนในประเทศก็แล้วแต่ความเหมาะสม

สำหรับซุ้มวางดอกไม้จันทน์ในกรุงเทพฯทั้งหมด ที่มีทั้งซุ้มขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ประมาณ 80 ซุ้ม โดยใช้พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เหมือนกันหมดทุกแห่ง และไม่ขัดข้องหากจะมีวัดอื่นหรือสถานที่อื่น รวมถึงเอกชนจะจัดสถานที่ขึ้นเอง แต่ขอให้ใช้พระบรมฉายาลักษณ์เดียวกันทั้งหมด ซึ่งสามารถขอรับได้ที่กระทรวงมหาดไทย และซุ้มที่จัดก็ขอให้ตกแต่งตามความเหมาะสม

เมื่อถามถึงการเชิญแขกต่างประเทศ นายวิษณุ กล่าวว่า จะไม่มีการเชิญ แต่ถ้าจะมาเองก็สุดแท้แต่ท่าน ซึ่งทางรัฐบาลยินดีต้อนรับ เมื่อถามว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะต้องมีการงดการจัดงานรื่นเริงเพื่อไว้ทุกข์หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า มีส่วนอาจต้องมีการงด จะขอนำไปหารือในที่ประชุมวันที่ 26 มิ.ย.นี้ ก่อนแล้วจะมีการแถลงให้ทราบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน