ถวายสังฆทาน ร่วมรำลึก ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ นักคิดคนสำคัญของชาติ ครบ 54 ปี ถูกยิงสิ้นชีพที่บ้านหนองกุง ถูกตั้งศาลเตี้ย จับโยนบก เผด็จการปลิดชีวิต กลางป่า

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Kriengkrai Srinonrueng แพร่ภาพการร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักเขียนคนสำคัญของไทย ที่วัดประสิทธิ์สังวรณ์ หรือวัดหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เนื่องในวันครบรอบการเสียชีวิตครบ 54 ปี จากการถูกยิงบริเวณชายป่าบ้านหนองกุง

โดยมีการถวายสังฆทานแด่ภิกษุ 5 รูป ผู้เข้าร่วม อาทิ นายวิชาญ ฤทธิธรรม อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้จัดงานรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ ณ อนุสรณ์สถาน จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นประจำทุกปี แต่ในปีนี้เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงงดจัดงานรวมตัวโดยขอให้ร่วมกันรำลึกผ่านช่องทางออนไลน์

ทั้งนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักเขียนคนสำคัญของไทย โด่งดังในสาธารณชนวงกว้างเป็นครั้งแรก จากกรณี โยนบก เมื่อครั้งที่เขาเป็น”สาราณียากร” ให้กับหนังสือประจำปี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2496 ในครั้งนั้นเขาได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่ “ซ้ำๆซากๆ” ของหนังสือประจำปี

โดยลงบทความสะท้อนปัญหาสังคม ประณามผู้เอารัดเอาเปรียบในสังคม ซึ่งรวมถึงรัฐบาลด้วย รวมทั้งชี้ให้เห็นค่านิยมอันไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้คนนับถือกันมานาน โดยบทความเหล่านั้น มีทั้งที่จิตรเขียนเอง ร่วมแก้ไข หรือเพื่อน ๆ คนอื่นเขียน ผลก็คือระหว่างการพิมพ์หนังสือได้ถูกตำรวจสันติบาลอายัด และมีการ “สอบสวน” จิตรที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในเหตุการณ์นั้น จิตรถูกกลุ่มนิสิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ตั้งศาลเตี้ยจับ “โยนบก” ลงจากเวทีหอประชุม ทำให้จิตรได้รับบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาลและพักรักษาตัวอยู่หลายวัน ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษและมีมติให้จิตร ภูมิศักดิ์ถูกพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี คือในปี พ.ศ. 2497

ระหว่างถูกพักการเรียน จิตรได้ไปสอนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนอินทร์ศึกษา แต่สอนได้ไม่นาน ก็ถูกไล่ออกไป เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีหัวก้าวหน้ามากเกินไป จิตรจึงไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ที่จิตรได้สร้างสรรค์ผลงานการวิจารณ์ที่มีคุณค่าต่อวงวิชาการไทยหลายเรื่อง เช่น การวิจารณ์วรรณศิลป์ วิจารณ์หนังสือ วิจารณ์ภาพยนตร์ โดยใช้นามปากกา “บุ๊คแมน” และ “มูฟวี่แมน”

ปี พ.ศ. 2498 เขากลับเข้าเรียนอีกครั้งและสำเร็จปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2500 จากนั้นก็เข้าเป็นอาจารย์ที่ วิทยาลัยเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ และศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร

จนกระทั่งถูกจับในข้อหา “สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายใน และภายนอกราชอาณาจักรและกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์” เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ถูกคุมขังอยู่จนถึงเดือนธันวาคม 2507 จึงได้รับการปลดปล่อยและพ้นจากข้อกล่าวหา

และเนื่องจากเขาถูกติดตามคุกคามจากทางการและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างหนัก ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 จิตรได้เดินทางสู่ชนบทภาคอีสาน เพื่อเข้าร่วมต่อสู้กับการปกครองแบบเผด็จการ ในนาม สหายปรีชา

จิตรเสียชีวิตจากการถูกยิง จากกลุ่มบุคคลที่สนับสนุนเผด็จการในยุคสมัยนั้น ที่บริเวณชายป่าบริเวณบ้านหนองกุง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2509 ต่อมามีการก่อสร้างอนุสาวรีย์บริเวณใกล้จุดเกิดเหตุ โดยมีการจัดงานรำลึกเป็นประจำทุกปี พร้อมกิจกรรมต่างๆ อาทิ มอบทุนการศึกษาให้นักเรียนในท้องถิ่น ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้จิตร และผู้ร่วมอุดมการณ์ที่ล่วงลับ เป็นต้น

ผลงานชิ้นสำคัญ ได้แก่ โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา (2505) ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ (2508) ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม

ซึ่งต่อมา มีการตีพิมพ์รวมเล่มกับ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” เป็น “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฉบับสมบูรณ์” รวมถึงบทเพลงที่มักถูกใช้ในการเรียกร้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันอย่างเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา”


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน