เมีย”พัน คำกอง” เหยื่อสลายชุมนุมปี 53 ลุ้นศาลอุทธรณ์รับฟ้อง คดี 2 นายทหารสั่งยิงสามี

วันที่ 14 พ.ค. นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของนางหนูชิต คำกอง ภรรยานายพัน คำกอง อาชีพขับรถแท็กซี่ ชาวจังหวัดยโสธร ซึ่งเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมทางการเมืองกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 เปิดเผยความคืบหน้าคดีที่ยื่นฟ้อง พ.อ.วรการ ฮุ่นตระกูล และพ.ท.เสริมศักดิ์ คำละมูล เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่ภายใต้บังคับบัญชาและขั้นตอนคำสั่งปฏิบัติของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 และ 84

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 13 ก.ย.2562 เเละศาลอาญามีคำสั่งวันเดียวกัน ว่าไม่รับฟ้องโจทก์ โดยให้เหตุผลว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นนายทหารประจำการร่วมกันกระทำความผิดกับพลเรือนซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่าผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยทั้งสอง ซึ่งอ้างว่าเป็นพลเรือนนั้นเป็นบุคคลใด ดังนั้น คดีของโจทก์จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ที่จะรับไว้พิจารณา จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง

โดยตนยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2562 โดยคำร้องอุทธรณ์มีเนื้อหาว่า โจทก์ยังไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งที่ไม่รับคำฟ้องโจทก์ดังกล่าว เนื่องจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์บรรยายไว้ชัดเจนแล้วว่า ในการปฏิบัติตามคำสั่งของ ศอฉ. มีการสั่งให้ใช้กำลังตำรวจและพลเรือนเข้าร่วมปฏิบัติการดำเนินการปิดล้อม และสกัดกั้นผู้ชุมนุมกับกำลังของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

จนเป็นเหตุให้ นายสมร ไหมทอง ได้รับบาดเจ็บสาหัสและ นายพัน คำกอง สามีของโจทก์เสียชีวิตและยังบรรยายฟ้องไว้อีกว่า จำเลยที่ 1 และ 2 และพลเรือนซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด ได้ใช้จ้างวานหรือร่วมกันกระทำความผิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมบริเวณถนนราชปรารภ ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำ ถึงสี่แยกมักกะสัน

โดยจำเลยที่ 1 เเละ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาที่วางกำลังอยู่บริเวณดังกล่าว และมีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของทหารที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาต้องยึดถือแนวทาง และขั้นตอนตามคำสั่งปฏิบัติการที่ 1/53-ศอฉ. อย่างเคร่งครัด และการใช้อาวุธให้กระทำต่อเป้าหมายที่มุ่งประทุษร้ายต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์เท่านั้น และการยิงจะต้องกระทำที่จำเป็นสมควรแก่เหตุ และไม่มุ่งประสงค์ต่อชีวิตของเป้าหมาย

แต่ได้ควบคุมสั่งการหรือปล่อยให้ทหารซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาใช้อาวุธปืนเล็กกลที่ใช้ในราชการสงครามระดมยิงใส่รถยนต์ตู้คันหมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร มี นายสมร ไหมทองเป็นผู้ขับขี่ มาตามถนนราชปรารภมุ่งหน้าแยกมักกะสัน ด้วยเจตนาฆ่าโดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลถึงการกระทำว่า นายสมร ไหมทอง หรือผู้อื่นซึ่งอยู่บริเวณดังกล่าวถูกลูกกระสุนปืนเล็กกลในราชการสงครามซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงถึงแก่ความตายได้ เป็นเหตุให้นายสมรไหมทองถูกกระสุนปืนที่ระดมยิงใส่รถยนต์ตู้คันดังกล่าวที่บริเวณลำตัว ได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัส

และทำให้ นายพัน คำกอง สามีของโจทก์ ขณะยืนอยู่หน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียม ไอดีโอคอนโดถนนราชปรารภ ถูกกระสุนปืนเล็กกลจากการระดมยิงใส่รถยนต์ตู้ดังกล่าวที่บริเวณหน้าอก ใต้ราวนมแฉลบไปถูกต้นแขนซ้าย และเส้นเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด เสียเลือดมาก เสียชีวิตในเวลาต่อมา

เนื่องจากตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2493มาตรา 14(1) ได้บัญญัติว่า “คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารคือ คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน และมาตรา 15 ได้บัญญัติว่า “คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารให้ดำเนินคดีในศาลพลเรือน” และมีกรณีที่ยังไม่ปรากฏว่าบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดกับทหารนั้นเป็นใคร ให้อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1105/2513 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 191/2532

ดังนั้น เหตุคดีนี้เป็นกรณีทหารร่วมกระทำความผิดกับพลเรือน และยังไม่ทราบว่าพลเรือนนั้นเป็นใครคดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 บัญญัติว่า “เมื่อความผิดเกิดขึ้นอ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใดให้ชำระคดีที่ศาลนั้น …. ” โจทก์จึงนำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลอาญาซึ่งเป็นศาลพลเรือน ที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายดังข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายข้างต้น ขอศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาแก้คำสั่งของศาลชั้นต้นโดยมีคำสั่งให้รับคำฟ้องของโจทก์ และมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไป

โดยคดีนี้เดิมศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา เเต่เนื่องจากช่วงโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เลื่อนออกไป จนกว่าจะได้รับหมายเเจ้งจากศาลอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้คำฟ้องโจทก์ระบุพฤติการณ์ สรุปว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 เวลาประมาณเที่ยงคืนห้านาที (0.05 น.) จำเลยทั้งสอง ขณะปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมบริเวณ ถ.ราชปรารถ ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำ ถึงสี่แยกมักกะสัน จำเลยที่ 1-2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา ต้องยึดแนวทางและขั้นตอนตามคำสั่งปฏิบัติการที่ 1/53 – ศอฉ. อย่างเคร่งครัด

ซึ่งการใช้อาวุธให้กระทำต่อเป้าหมายที่มุ่งประทุษร้ายต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์เท่านั้น และการยิงต้องทำเท่าที่จำเป็นสมควรแก่เหตุและไม่มุ่งประสงค์ต่อชีวิตของเป้าหมาย แต่ได้ควบคุม สั่งการหรือปล่อยให้ทหารซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาใช้อาวุธปืนเล็กกล ที่ใช้ในราชการสงครามระดมยิงใส่รถยนต์ (รถตู้) หมายเลขทะเบียน ฮค 8651 กทม. ซึ่งมีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับมาตาม ถ.ราชปรารภ มุ่งหน้าแยกมักกะสัน ด้วยเจตนาฆ่าโดยประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลถึงการกระทำว่าจะกระทำให้นายสมร หรือผู้อื่น ซึ่งอยู่บริเวณดังกล่าวถูกลูกกระสุนปืนเล็กกล ซึ่งใช้ในราชการสงครามที่เป็นอาวุธร้ายแรงนั้น ถึงแก่ความตายได้

โดยรถตู้ ที่นายสมร ขับมาถูกกระสุนปืนระดมยิงใส่ และนายสมร ได้รับบาดเจ็บสาหัสกระสุนปืนถูกเข้าที่บริเวณลำตัว และทำให้นายพัน คำกอง อายุ 43 ปี สามีของโจทก์ ซึ่งขณะยืนอยู่หน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียม บริเวณราชปรารภ ถูกกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 หรือ 5.56 มม. จากการระดมยิงใส่รถยนต์ตู้คันดังกล่าว เข้าบริเวณหน้าอกซ้ายใต้ราวนม และไปถูกต้นแขนซ้ายและเส้นเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด ทำให้เสียเลือดมากจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุเกิดที่แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กทม.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน