รำลึก 10 ปี พฤษภา 53 กับเรื่องที่ไม่เคยเผยมาก่อน “ธนาธร-ชัชชาติ” ทำอะไร ในวันที่ 19 พ.ค. “หนูหริ่ง-ดร.ประแสง” เล่าครั้งแรก ผ่านเฟซบุ๊ก

กว่า 3652 วัน หรือ 10 ปีผ่านไป สำหรับเหตุการณ์การสลายการชุมนุม “กระชับพื้นที่” ช่วงเดือนเมษา-พฤษภา 2553 ที่มีคนเจ็บ คนตาย มากที่สุดครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงอยู่ในความทรงจำของคนจำนวนมาก ว่าวันนั้น กำลังทำอะไร ที่ไหน อย่างไร? และสำหรับหลายคน วันๆนี้ มีความทรงจำที่น่าเจ็บปวด และไม่อยากพูดถึงอีก แต่บางคน ก็ความทรงจำที่น่าจดจำ และจะเล่ามันทุกครั้งเมื่อถึงวันครบรอบ

หลังการสลายการชุมนุมปี 2553 “สมบัติ บุญงามอนงค์” หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ที่เคลื่อนไหวเป็นคนแรกๆ หลังเหตุการณ์ดังกล่าว จนถูกจับกุมดำเนินคดี ถูกคุมขังในช่วงเวลาหนึ่ง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เล่าย้อนรำลึกวันวานดังกล่าว โดยระบุว่า

“เรื่องที่ผมไม่เคยเขียนเล่าในที่สาธารณะสำหรับเหตุการณ์ เมย.-พค 53 เรื่องหนึ่งคือ ตอนทีเวทีใหญ่ที่ราชประสงค์ถูกล้อมและมวลชนไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ ผมมาช่วยครูประทีปที่เวทีย่อยคลองเตย หลังจากขึ้นพูดบนเวที

Thanathorn Juangroongruangkit (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) ได้มาคุยกับผมที่หลังเวทีเล่าปัญหาที่ถนนราชปรารภว่ามีประชาชนโดนยิงที่นั่นหลายคนมาก (น้องเณอเป็นหนึ่งในนั้น) เพราะมวลชนพยายามหาทางเข้าไปที่เวทีใหญ่ แต่ทหารยิงสกัด ผมถามธนาธรว่าเขาต้องการให้ผมทำอะไร ?

“พี่หนูหริ่งต้องไปตั้งเวทีที่สามเหลี่ยมดินแดงเพื่อไม่ให้คนหลุดเข้าไปในแดนสังหาร”

ไม่ต้องคิดอะไรมาก ผมปฏิเสธทันที ผมจะไปรับผิดชอบชีวิตคนได้อย่างไร ถ้าผมตั้งเวทีแล้วคนยังเข้าไปในราชปรารภเขาไม่เชื่อผมเกิดเจ็บตายขึ้นมา คนตั้งเวทีอยุ่ตรงนั้นจะไม่กลายเป็นการส่งคนเข้าไปตายเหรอ

ผมปฏิเสธเสียงแข็ง “ขออภัยครับเอกผมทำสิ่งนั้นไม่ได้”

การสนทนาก็จบลง ผมเดินไปยังพื้นที่โดยรอบๆเวทีที่คลองเตยสักพักใหญ่ ธนาธรมายืนข้างผมอีกครั้ง

“ถ้าพี่ไม่ช่วยจะมีคนโดนยิงและตายที่นั่นอีกเยอะ เราไม่มีทางอื่นนอกจากตั้งเวทีเรียกคนให้ออกห่างจากถนนราชปรารภ”

ผมสบถในใจที่ได้ยินเอกพูดแบบนั้นกับผมเป็นครั้งที่สอง จริงๆผมโกรธเขามากที่เอาภาระนี้โยนใส่บ่าผม แล้ววันรุ่นขึ้นผมก็ยืนอยู่บนรถหกล้อที่มีชุดเครื่องเสียงตรงสามเหลี่ยมดินแดง เพื่อทำภาระกิจที่ผมกลัวที่จะทำ”

เช่นเดียวกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประแสง มงคลศิริ อดีตอาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งเป็นแกนนำ นปช.ในเวลานั้น ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เล่าถึงเหตุการณ์ในวันดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยมีใจความดังนี้

“ที่ “ด่านอังรีดูนังต์” (เป็นด่านการชุมนุม ที่ถูกใช้เข้าออกของผู้ชุมนุม) ในที่สุดพวกเราถูกตัดจากโลกภายนอกท้ั้งอาหาร/น้ำดื่ม/ยา และอื่นๆ ที่ปกติจะลำเลียงเข้าพื้นที่ชุมนุมได้จากช่องทางนี้อย่างสะดวก ไม่มีการปะทะกับทหารเลย แถมมีตำรวจตั้งแถวตรวจตราตลอด 24 ชั่วโมง เพราะด่านเราตั้งอยู่ใกล้ประตูเข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้านกองบัญชาการสอบสวนกลาง

เช้าวันนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ด่านนี้ก็ยังปลอดภัยอยู่ในช่วงเช้า แต่ทหารได้ตัดการส่งลำเลียงเสบียงทั้งหมดแล้ว รวมทั้งก่อนหน้านี้การสื่อสารโทรศัพท์ทะยอยถูกคำสั่งตัดไปทีละค่าย มือถือ สำหรับ AIS ของผมเดี้ยงไปก่อนเพื่อน ในที่สุดก็ตัดสัญญาณโทรศัพท์ HUTCH ที่ผมได้รับจากเพื่อนร่วมงานเก่า “อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาฯ

เพื่อประสานงานกันในฐานะที่เขาดูแลทรัพย์สินในพื้นที่สยามสแควร์ของจุฬาฯอยู่ ส่วนผมเป็นหัวหน้า”ด่านอังรีดูนังต์” ซึ่งมี “แดงสมุทรปราการ” เป็นการ์ดเฝ้ารักษาอยู่ ทุกๆเช้าตรู่อาจารย์ชัชชาติจะมาแวะใส่บาตรพระที่บริเวณนี้

ผมก็จะมาหาโจ๊กกินแถวนี้และปรึกษาปัญหาที่บริเวณนี้กันบ้าง อาจารย์ชัชชาติห่วงทั้งทรัพย์สินของจุฬาที่ตนเองรับผิดชอบ แต่ก็ยังเอื้อเฟื้อไฟสปอตไลท์ส่องสว่างให้บริเวณด่านเรา จากอาคารสูงของจุฬา เพื่อให้ทีมที่รักษาความปลอดภัย ทำงานสะดวก และผมก็แอบหลบมานอนพักแถวด่านนี้ได้อย่างอุ่นใจ ผมเก็บโทรศัพท์เครื่องนี้ไว้”


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน