ปิยบุตร ชี้ ปม สว. ตั้ง สนช. เป็น ป.ป.ช. เปรียบเป็นการผลัดกันเกาหลัง เผย 5 มิ.ย.นี้ เปิดแคมเปญ “มีส.ว.ไว้ทำไม” โอด เล่นการเมืองมาคดีเพียบ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีมติให้นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ถือเป็นความผิดเพี้ยนของรัฐธรรมนูญ ด้านหนึ่งต้องรักษาความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ไม่มีส่วนได้เสีย แต่สุดท้ายส.ว. เลือกนายสุชาติ ซึ่งเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาเป็นกรรมการป.ป.ช.

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า เท่ากับเป็นระบบผลัดกันเกาหลัง วนกันอยู่เพียงกลุ่มคนเดิม ๆ ปัญหาต่อมาก็ต้องดูว่ามีองค์กรไหนมาชี้ขาดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะทราบว่าคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ก็มีมาตรฐานไปอีกแบบหนึ่ง เพราะตัดสิทธิ์ผู้ที่เคยเป็นสนช. ไม่สามารถดำรงตำแหน่งกสม. ได้

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า อยากให้ไปย้อนดูจุดเริ่มต้น สนช. หน่วยธุรการที่เขานำไปใช้ก็คือสำนักงานเลขาวุฒิสภา ถือเป็นนัยยะสำคัญอันหนึ่งว่า สนช. เท่ากับ ส.ส. หรือส.ว.กันแน่ ทั้งนี้ ตั้งแต่ยึดอำนาจมาก็วนกันอยู่ที่เดิม โดยวันที่ 5 มิ.ย.นี้ หากจำกันได้ มีการเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดย 500 เสียง มี 249 เสียงเป็นวุฒิสภา เว้นประธานวุฒิสภาที่งดออกเสียง จึงเห็นได้ว่าส.ว. ที่เลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงชัดเจนที่สุดว่าวุฒิสภาชุดนี้ตั้งมาเพื่อการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร

“วันที่ 5 มิ.ย.นี้ เราจะเปิดแคมเปญ “ส.ว. มีไว้ทำไม” อย่างเป็นทางการ และวันที่ 6 มิ.ย. จะมีการจัดสัมมนาออนไลน์ ทั้งนี้ จะมีผู้ร่วมสัมมนา เช่น นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตส.ว. และอดีตสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ร่วมงานเสวนา เพื่อให้สังคมพิจารณาว่า ส.ว.ทำหน้าที่มา 1 ปีแล้วเพื่อประกันการสืบทอดอำนาจ ซึ่งสังคมจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ และจำเป็นอยู่หรือไม่ที่จะมีส.ว.” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวถึงคดีความว่า ตั้งแต่ยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็ยังมีคดีความค้างคาคือเรื่องดูหมิ่นศาล กรณีวิจารณ์การยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) รวมทั้งทราบข่าวว่า มีส.ส.ไปแจ้งความตนอีกหลายเรื่อง ไม่คิดว่าการมาเป็นนักการเมืองจะถูกฟ้องมากขนาดนี้ ซึ่งกฎหมายหมิ่นประมาทออกมาเพื่อคุ้มครองตัวบุคคล แต่ไม่ได้มีไว้เพื่อกลั่นแกล้งหรือปิดปากคนอื่น โดยเฉพาะกับบุคคลที่เป็นบุคคลสาธารณะที่ใช้อำนาจรัฐด้วย ควรจะมีความอดทนอดกลั้น ไม่เช่นนั้นก็ไม่ควรมาเล่นการเมือง เพราะในระบบประชาธิปไตยการแสดงความคิดเห็นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า และให้สังเกตดูตั้งแต่ปี 2557 มีคดีความเรื่องหมิ่นประมาทเยอะมาก รวมทั้งใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญามาตรา 116 เกี่ยวกับการยุยงปลุกปั่น ซึ่งนานวันเข้ากฎหมายเหล่านี้จะเป็นกฎหมายปิดปากผู้ที่แสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่เพียงแต่ตนเท่านั้น สื่อมวลชนต้องตระหนักด้วยเพราะกระทบต่อการทำหน้าที่

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ตั้งแต่ตนเล่นการเมืองมาก็ถือว่าเป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด แต่ก็ไม่เคยฟ้องหมิ่นประมาทใครเลย เพราะตนเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เชื่อว่าสามารถถูกตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน