เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุเครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ตามที่มาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ ภารกิจและการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจและมาตรา 260 บัญญัติให้ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งเพื่อดำเนินการดังกล่าว จำนวน 36 คน

โดยมีพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผบ.สส.เป็นประธานในฐานะ ที่เป็นนักวิชาการ และเคยดูเรื่องโครงสร้างของหน่วยงานความมั่งคง และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 5 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง อัยการสูงสุด เลขาสำนักงานศาลยุติธรรม กรรมการฝ่ายตำรวจและผู้ทรงคุณวุฒิ ฝ่ายละ 15 คน และหากมีความจำเป็นสามารถแต่งตั้งเพิ่มได้หลังจากที่มีบุคคลเกษียณในเดือนก.ย.นี้ ทั้งนี้กรรรมการปฏิรูปตำรวจ จะต้องจัดทำเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายให้เสร็จภายในปี 2560 ส่วนเรื่องอื่นให้ทยอยมาได้จนถึงเดือนเม.ย.2561

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งทหารให้มาจัดระเบียบตำรวจ จะถูกมองว่าทหารเข้ามาคุมและมีปัญหาในแง่ของภาพลักษณ์ตำรวจหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แล้วแต่จะมอง แต่อย่ามองว่าเอาทหารมาคุม เพราะพล.อ.บุญสร้าง เป็นทหารวิชาการ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเวสปอยท์ และเก่งเรื่องของโครงสร้างหน่วยงานด้านความมั่นคง สอดคล้องกับงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่มี 3 ด้านคือ1.โครงสร้าง สังกัด อำนาจหน้าที่ 2.อำนาจการสอบสวนจะแยกหรือไม่ และ 3.การบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย ไม่ให้มีการซื้อขาย-ตำแหน่ง

ซึ่งกรรมการแต่ละคนเชี่ยวชาญแต่ละด้าน ถ้าจะเอาตำรวจมาเป็นรัฐธรรมนูญ ก็ห้ามไว้ถ้าไม่ใช่ตำรวจมาเป็นก็แพ้ทางตำรวจอีก จึงต้องเอาคนที่ตำรวจแพ้ทาง แต่ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นทหาร แต่บังเอิญเราหาผู้ใหญ่ไม่ได้ เพราะหลายคนที่ดีและดังแต่ไม่ขอรับตำแหน่ง เพราะรู้ว่าการทำงานเร่งรัดจึงยินดีเป็นที่ปรึกษามากกว่า เมื่อถามย้ำว่าจะถูกมองว่าจะเอาระบบทหารมาใช้กับระบบตำรวจหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า กรรมการ 36 คนก็ต้องไปโหวตกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ จำนวน 36 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน คณะกรรมการโดยตำแหน่ง 5 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด

คณะกรรมการฝ่ายรัฐบาล 15 คน ได้แก่ 1.พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2.พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ อดีตรองผบ.ตร. 3.พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผบ.ตร. 4.พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 5.พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม 6.พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 7.พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น จเรตำรวจแห่งชาติ

8.พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 9.พล.ต.อ.บุญชัย ชื่นสุชน อดีตผู้ช่วยผบ.ตร. 10.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 11.พล.ต.อ.สุพร พันธุ์เสือ อดีตรองผบ.ตร. 12.พล.ต.อ.สมศักดิ์ แขวงโสภา อดีตผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน 13.พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รองผบ.ตร. 14.พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ และ 15.พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว อดีตผู้ช่วยผบ.ตร.

กรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ 15 คน ประกอบด้วย 1.นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) 2.นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3.นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 4.นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 5.นางเบญจพรรณ สร่างนิทร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) 6.นายศุภชัย ยาวะประภาษ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 7.นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

8.นายศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 9.นายธานิศ เกศวพิทักษ์ อดีตรองประธานศาลฎีกา 10.นายเข็มชัย ชุติวงศ์ รองอัยการสูงสุด 11.นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 12.พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ 13.นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 14.พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ15.นายวรรณชัย บุญบำรุง รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน