วันนี้ (16 มิ.ย.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กระุบว่า การมีมติว่า ‘ตำแหน่ง สนช. เคยเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. มาก่อนหรือไม่ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง’ จะบั่นทอนความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม!

การที่ คณะกรรมการสรรหา กรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลมีนบุรี อดีต สนช. มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และที่ประชุมวุฒิสภามีมติโหวตให้ความเห็นชอบไปแล้ว

ส่วน คณะกรรมการสรรหา กสม. มีมติว่า พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และ น.ส.จินตนันท์ ศุภมิตร โดยทั้งคู่เป็นอดีต สนช. มีลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งกรรมการ กสม. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 นั้น

เท่ากับว่าคณะกรรมการสรรหา กรรมการในองค์กรอิสระทั้ง 2 ชุด ตีความข้อกฎหมายในส่วนของบุคคลผู้เคยเป็น สนช. ไม่เหมือนกัน ทั้งที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 263 เดียวกันที่ บัญญัติว่า

“ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ตามลำดับตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้”

มาตรา 6 แห่ง รธน ฉบับชั่วคราว 2557 ที่บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา …

และเนื้อหาใน กฎหมาย ปปช และ กมส เขียนเหมือนกันทุกประการ ว่า

“…ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็น หรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการสรรหา”

โดยที่คณะกรรมการสรรหาทั้ง 2 คณะที่มีจำนวนหนึ่ง และมีกรรมการสรรหาโดยตำแหน่งเดียวกัน หรือเป็นคนเดียวกัน 4 ตำแหน่ง (ตาม ม 203 )ประกอบด้วย

(1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
(2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร
(3) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
(4) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ

“ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหา ให้เป็นที่สุด”

คณะกรรมการสรรหาทั้ง 4 ตำแหน่ง ที่ใช้เวลาสรรหาต่างกันเพียง 4 เดือน ทำไมจึงมีผลต่างกันสุดขั้ว ?

จำเป็นต้องมีการสื่อสารแจ้งเหตุผลที่ดีเพียงพอให้ประชาชนได้ทราบ ไม่ควรนิ่งเฉย หากปล่อยไปสังคมจะขาดความเชื่อมั่นใน “หลักนิติธรรม” คือหลักที่บุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน (Rule of Law) มากยิ่งขึ้น

ส่วนตัว ด้วยความเคารพต่อความเห็นและไม่ขอก้าวล่วงคณะกรรมการสรรหา แต่ใคร่แสดงความเห็นและประสบการณ์ในเรื่องความยุติธรรมตามความเป็นจริง และหลักการในเรื่องหลักฐานเท็จจริงและข้อกฎหมาย กล่าวคือ

ระบบกฎหมายไทยเป็นระบบลายลักษณ์อักษรที่ถ้อยคำในกฎหมายก็มีชัดเจนไม่ต้องแปลไทยเป็นไทย ที่บุคคลทุกคนสามารถรู้ เข้าใจและตัดสินใจในกฎหมายด้วยตนเองได้ภายใต้ภาษาไทย

การใช้ดุลพินิจในการตีความกฎหมายไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ตำแหน่งใด จะตีความเกินเลยไปกว่าถ้อยคำที่เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายไม่ได้ (ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตฯ) มิเช่นนั้นจะเกิดความไม่แน่นอน ปราศจากขอบเขต และจะทำให้กฎหมายที่มีความศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นสมบัติส่วนตัว ส่งผลให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ไม่ได้รับความเสมอภาคจากกฎหมาย และสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสังคมสูญเสียไปด้วย

ที่สำคัญการเกิดกฎหมายต้องมีเป้าประสงค์เดียว คือ เพื่อ ‘ความยุติธรรม’ ที่บุคคลทุกคนย่อมได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมาย ได้รับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและได้รับการคุ้มครองไม่ให้เกิดการฝ่าฝืนกฎหมาย

แม้ “ความยุติธรรม” เป็นคำยากต่อการกำหนดนิยาม มีความเป็นนามธรรมระดับสูง แต่ความยุติธรรมมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง หากสังคมใดขาดความยุติธรรมย่อมต้องประสบปัญหาความทุกข์ร้อนทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ในประเด็นกฎหมาย ควรยึดหลักการอำนาจอธิปไตยนั้นคือ การวินิจฉัยเจตนารมณ์แห่งบทบัญญัติกฎหมายควรเป็นฝ่ายนิติบัญญัติหรือผู้แทนราษฎร เพราะเป็นผู้ร่างกฎหมายย่อมมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ส่วนอำนาจตุลาการ องค์กรอิสระ และผู้บังคับใช้กฎหมายอื่น ไม่ใช่ผู้บัญญัติกฎหมาย เป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงเพื่อปรับว่าเข้ากับบทบัญญัติของกฎหมายใดอันเป็นการบังคับใช้กฎหมายเป็นคดีๆหรือเรื่องๆ ไป

หลักการที่ว่า ‘ต้องไม่เป็นเครื่องมือของกฎหมายแต่ต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ’ ในการธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ดังนั้น การไม่ใช้ดุลพินิจที่เกินถ้อยคำที่เป็นลายลักษณ์อักษรอาจจะเป็นการกระทำเกินเหตุโดยใช้กฎหมายอยู่เหนือความยุติธรรมนั้นเอง


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน