เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กระตุ้นแบงก์รัฐ ยกระดับบทบาทสินเชื่อช่วงโควิด อุดช่องแบงก์พาณิชย์ไม่พร้อมเสี่ยง

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในภาพใหญ่ มาตรการทางการเงินที่ใช้รับมือโควิด-19 แบ่งได้สองช่วง ช่วงแรก คือ ป้องกันภาวะตกใจเกินจริงของตลาดเงินทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ เพื่อให้ระบบการเงินสามารถทำงานเป็นแหล่งทุนต่อไปได้ในสภาวะที่ประชาชนอยากถือเงินสด

ช่วงที่สอง คือ การกระจายสภาพคล่องเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจริงให้เพียงพอให้ธุรกิจอยู่รอด ในส่วนที่สองนี้กำลังมีปัญหามาก สภาพคล่องที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้เพียงพอ แต่ปัญหาคือมันไม่ได้ถูกจัดสรรไปที่ภาคเศรษฐกิจจริงตามต้องการ ภาวะสภาพคล่องที่ล้นตลาดนี้ ไปหมกอยู่ที่ตลาดหุ้นและเงินฝากจนล้นธนาคาร แต่เป็นประชาชนหาเช้ากินค่ำ ผู้ประกอบหาบเร่แผงลอย ร้านอาหารริมทาง คนเหล่านี้กลับอยู่ในภาวะตะเกียกตะกายวิ่งหาสภาพคล่อง แต่เข้าไม่ถึง

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า ซอฟท์โลนในระดับหลักการนั้นดี แต่ความสำเร็จอยู่ที่ความใส่ใจในรายละเอียด ว่าจะผลักสภาพคล่องลงสู่ส่วนที่มีปัญหาจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่อนุมัติกรอบวงเงิน ตัวชี้วัดของธนาคารพาณิชย์ คือกำไรสูง เอ็นพีแอลต่ำ ความเสี่ยงต่ำ ผลคือธุรกิจความเสี่ยงสูงจากโควิด ขาดสภาพคล่อง แต่โดนปฏิเสธ

ทั้งนี้ เห็นความพยายามของธนาคารแห่งประเทศไทยในการกระตุ้นธนาคารพาณิชย์ให้ปล่อยกู้ แต่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล ประเทศไทยมีอีกหนึ่งเครื่องมือที่มีพลัง แต่ยังทำหน้าที่ได้ไม่ดีนัก คือ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่ทำหน้าที่เสมือนธนาคารพาณิชย์ แต่มีภารกิจเพื่อตอบสนองมาตรการของรัฐแม้จะต้องขาดทุน

ซึ่งสิ่งเร่งด่วนที่ต้องทำขณะนี้คือ จัดสรรสภาพคล่องไปถึงมือคนเดือดร้อนจริงให้ได้ เมื่อธนาคารพาณิชย์ไม่พร้อมเสี่ยง แบงก์รัฐจึงต้องเข้าสอดรับบทบาทตรงนี้ ยกระดับการช่วยเหลือประชาชน กล้าได้กล้าเสียกล้าเสี่ยมากขึ้น

พึงระลึกไว้ว่าตัวชี้วัดของแบงก์รัฐ ไม่ใช่กำไร ไม่ใช่เอ็นพีแอลต่ำๆ ไม่ใช่ BIS Ratio สูงๆ แต่หากเป็นประสิทธิภาพในการตอบสนองรัฐ และอุดช่องว่างสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ทำไม่ได้ หรือไม่อยากทำนั่นเอง เสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียบ้างในภาวะแบบนี้ ย่อมดีกว่ากอดเงินเอาไว้ แล้วปล่อยให้ธุรกิจค่อยๆ ตายลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน