รายงานปรองดอง – วันที่ 12 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 13 ส.ค.นี้มีวาระพิจารณารายงานของกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน พิจารณาเสร็จแล้ว

โดยมีการนำเสนอแนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ ซึ่งมีเนื้อหาและสาระสำคัญเป็นข้อเสนอแนะ รวม 9 ข้อ คือ

1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือกติกาที่ทำให้เกิดความเห็นต่าง เป็นกลไกสืบทอดอำนาจ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที

โดยนายกฯ ต้องระบุรายละเอียดให้ชัดเจนต่อกรอบเวลาของกระบวนการแก้ไข ไม่เตะถ่วงการแก้ไข เพราะหากใช้เวลานานจะทำให้ความขัดแย้งแก้ไขได้ยาก ส่วนกระบวนการแก้ไขต้องยึดหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด และไม่มีเจตนาแอบแฝงหรือทำประโยชน์เพื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล

พร้อมรับฟังความเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม และเมื่อแก้ไขแล้วเสร็จ ขอให้รัฐบาลเสียสละ ยุบสภาทันที และจัดการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ ทั้งนี้ เสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชนยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

2.นิรโทษกรรม แบ่งเป็น นิรโทษกรรมคดีการเมืองและคดีอาญาที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ยกเว้นคดีทุจริตและประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมีความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า การนิรโทษกรรมเพื่อสร้างความปรองดองต้องทำเป็นกระบวนการหลายระดับ โดยให้ความสำคัญกับการแสวงหาข้อตกลงระหว่างคู่ขัดแย้ง ระดับแกนนำ ผู้ชุมนุม และสร้างความเข้าใจของขอบเขตนิรโทษกรรม

ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมต้องมีเงื่อนไข คือ เฉพาะคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ที่แยกเป็น 2 กลุ่มคือ คดีที่รัฐกระทำต่อบุคคล และ คดีที่บุคคลละเมิดต่อบุคคล โดยการใช้กฎหมายพิเศษ เป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)

3.ต้องเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อรวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทุกฝ่าย โดยไม่จำกัดการเยียวยาเป็นตัวเงินเท่านั้น

4.การชุมนุมและสิทธิผู้ชุมนุม รัฐต้องรับรองและประกันเสรีภาพการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ ไม่แทรกแซงหรือก่อกวนหรือประทุษร้ายจากบุคคลที่สาม ขณะเดียวกันการชุมนุมต้องมีขอบเขตจำกัดตามรัฐธรรมนูญกำหนด

กองทัพต้องไม่รัฐประหาร

5. ให้ผู้นำทุกฝ่าย โดยเฉพาะนายกฯ ที่บริหารประเทศขณะเกิดเหตุการณ์รุนแรงและนายกฯ​ ที่บริหารประเทศปัจจุบัน แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์รุนแรงด้วยการขอโทษ

6.ใช้กระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายที่ยุติธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะกระบวนยุติธรรมขององค์กรอิสระ และศาล

7. รัฐบาล ผู้นำฝ่ายค้าน พรรคการเมือง กลุ่มการเมืองทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวกับความขัดแย้งต้องรักษาบรรยากาศของความปรองดอง สมานฉันท์ และร่วมบริหารประเทศภายใต้กรอบ เคารพความเห็นต่าง

8.ข้อสังเกตเกี่ยวกับสื่อมวลชน ต้องยึดการทำงานภายใต้กรอบความรับผิดชอบตามจริยธรรมและหลักวิชาชีพ ไม่บิดเบือน และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและรอบด้าน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม รวมถึงไม่นำเสนอข้อมูลหรือถ้อยคำที่ทำให้เกิดการยั่วยุ เกลียดชัง

9.ข้อสังเกตเกี่ยวกับกองทัพ เสนอเพิ่มคำถวายสัตย์ปฏิญาณของเหล่าทัพ ว่า “จะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะไม่ทำการปฏิวัติรัฐประหาร” เพราะการแทรกแซงการเมืองของกองทัพผ่านการรัฐประหาร ทำให้สังคมขาดการเรียนรู้ต่อการจัดการวิกฤตการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยและสร้างความไม่พอใจจากบุคคลที่ถูกคุกคาม และทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองซับซ้อนและบานปลาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน