ปธ.ศาลฎีกา แนะแยกแยะประเภทศาล ศาล รธน. คือการเมือง แตกต่างศาลยุติธรรม หนุนศาลเชื่อมโยงประชาชน รัฐสภา สามารถตรวจสอบได้

วันที่ 30 ก.ย. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักประธานศาลฎีกา สนามหลวง นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังการแถลงผลงาน ก่อนเกษียณครบวาระในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ซึ่งผู้สื่อข่าวถามเกี่ยวกับปัญหาความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม

โดยนายไสลเกษ กล่าวว่า ความรู้สึกของประชาชนกับกระบวนการยุติธรรมแยกกันลำบาก ประชาชนรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมต้องมีความสัมพันธ์กัน ถ้าข้อมูลเข้ามันผิดเพี้ยน ไม่ตรง ข้อมูลออกก็บิดเบี้ยว กระบวนการยุติธรรมต้องได้รับการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง หลายคนพูดถึงการตรวจสอบ แต่ไม่ได้ดูลำดับความสำคัญว่าควรทำอะไรก่อน จะตรวจสอบต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำก่อน

นายไสลเกษ กล่าวต่อไปว่า ตนไม่ปฏิเสธการตรวจสอบ แต่ออกแบบอย่างไรที่การตรวจสอบต้องไม่แทรกแซงอำนาจอิสระ การใช้ดุลพินิจ และความเป็นกลาง อย่างปัจจุบันเรามีศาลยุติธรรมที่พิจารณาข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนเป็นหลัก

ศาลปกครองพิจารณาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน ศาลรัฐธรรมนูญระงับข้อพิพาททางการเมือง น่าจะต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่าศาลแต่ละศาลมีภารกิจที่แตกต่างกัน ศาลที่วินิจฉัยทางการเมือง การเมืองคือเรื่องการหาข้อยุติในเรื่องความขัดแย้งของผลประโยชน์ทางการเมือง มันก็ต้องมีฝ่ายหนึ่งพอใจ อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ เป็นอย่างนี้

“เพราะฉะนั้นถ้าชี้ว่าตรงนี้ตัดสินตามทางการเมือง ธรรมชาติของศาลรัฐธรรมนูญก็คือการเมืองอยู่แล้ว ดังนั้นผมว่าต้องทำให้ประชาชนเข้าใจเหมือนกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญเขาก็ชี้ในบทบาทระงับความขัดแย้งทางการเมือง แต่บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่บทบาทของศาลปกครอง และก็ไม่ใช่บทบาทของศาลยุติธรรม

ซึ่งถ้าประชาชนเข้าใจจุดนี้จะแยกแยะออกแล้ว ที่บอกว่าศาลมีหลายมาตรฐาน ศาลการเมืองก็มีแนวทางของการระงับความขัดแย้งของผลประโยชน์ทางการเมือง ศาลยุติธรรมก็มีการระงับข้อขัดแย้งในเรื่องข้อกฎหมายระหว่างเอกชนกับเอกชน มันมีความแตกต่างในตัวเอง” ประธานศาลฎีกา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอเปลี่ยนแปลงระบบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ในปัจจุบัน นายไสลเกษ กล่าวว่า บทบาทหลักของ ก.ต.ดูแลเรื่องวินัย แต่งตั้งโยกย้าย เป็นหลักประกันไม่ให้อำนาจการเมืองเข้ามาแทรกแซง ก.ต.ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดี

แต่สามารถยกระดับ ก.ต.ให้สูงขึ้นได้ ระบบปัจจุบันเปลี่ยนแปลงหลังรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ใช้การเลือกตั้งเป็นหลัก โดยตำแหน่งมีประธานศาลฎีกาอย่างเดียว พอเป็นเลือกตั้งคือการแข่งขัน คนจะชนะต้องมีอะไรให้เห็นว่าผู้ที่ลงคะแนนเขาได้อะไร

นายไสลเกษ กล่าวต่อไปว่า ระบบที่เหมาะสมต้องถ่วงดุลระบบแข่งขันที่มาจากการเลือกตั้งให้ลดลง เอาระบบโดยตำแหน่งเข้ามา ก.ต. ตั้งเองจากอาวุโส ไม่มีประวัติเสื่อมเสีย มีประวัติการทำงานไม่ด่างพร้อย เป็นหลักประกันคนเข้าสู่ตำแหน่ง

เช่น ประธานศาลอุทธรณ์ มีหน้าที่รักษาการณ์ตามกฎหมายหลายฉบับ ไม่มีอะไรเสียหายที่จะให้ประธานศาลอุทธรณ์เข้ามาเป็น ก.ต. โดยตำแหน่ง มีทางเลือกที่จะช่วยกันคิดได้หลายทาง หลักการคือให้มี ก.ต.โดยตำแหน่งเข้ามาผสมผสานกับ ก.ต. ผู้แทนที่ผู้พิพากษาส่วนใหญ่มีความสุขที่จะเลือก สัดส่วนถ้าครึ่งๆ ไม่น่าจะมีอะไรขัดข้อง แต่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ หาจุดลงตัวที่เหมาะสมได้

เมื่อถามว่าการแต่งตั้งโดยตำแหน่งอยู่ใต้บังคับประธานศาลฎีกาเป็นหลัก ทำให้ประธานมีคะแนนเสียงข้างมากใน ก.ต. หรือไม่ นายไสลเกษ กล่าวว่า ตำแหน่งประธานศาลฎีกา 1 – 2 ปี ไม่รู้จะสร้างบารมีอิทธิพลไปทำอะไร

ถ้าไม่สร้างคุณูปการให้กับระบบของศาล ให้สังคม ให้ชาวบ้าน ไม่เกิดประโยชน์ ในที่สุดต้องลง อย่างตนก็ต้องลงไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ลงแล้วลงเลย ไม่มีบารมีอะไรเหมือนภาคส่วนอื่น ขึ้นสูงสุดแล้วกลับคืนสู่สามัญ เป็นธรรมชาติอย่างนี้มาโดยตลอด ไม่มีประโยชน์จะสร้างฐานทางการเมือง

ถามถึงข้อเสนอที่จะทำให้ศาลยึดโยงประชาชนมากขึ้น นายไสลเกษ กล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการเลือก สรรหา ตรวจสอบ การยึดโยงของแต่ละสังคมต้องดูบริบท อย่างศาลในอเมริกา ประธานาธิบดีเป็นคนเสนอชื่อ แต่งตั้งเสร็จโดยนัยของกฎหมาย

ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจอะไรอีก ถอดถอนไม่ได้ ในระบบอเมริกาจะคัดเลือกคนที่มีทัศนคติสอดคล้องกับตัวเอง จะตัดสินไปในแนวทางที่เขาต้องการเห็นทิศทางสังคมเป็นอย่างนั้น แต่อิทธิพลของคนแต่งตั้งไม่มี

ประธานศาลฎีกา กล่าวถึงกรณีประเทศไทยว่า ถ้ายึดโยงแล้วต้องมั่นใจว่าจะไม่ไปมีอิทธิพลหรือกำหนดทิศทาง เช่น ตั้งแล้วไปขออนุมัติจากสภา สภาตรวจสอบเบื้องต้น ถ้าเลือกคนของตัวเองที่วิ่งเต้นได้ มีสายสัมพันธ์ ตรงนี้เป็นอันตรายต่อระบบ จุดเชื่อมโยงตรงนี้

ต้องมั่นใจบริบทของสังคม ให้แต่งตั้งได้แต่ต้องปลอดอิทธิพล อำนาจเหนือ ทั้งนี้ ระบบศาลที่ต้องเชื่อมโยงกับประชาชนผ่านกระบวนการรัฐสภา ไม่ขัดข้องถ้าระบบศาลถูกตรวจสอบโดยบุคคลที่สภาเลือกมา เปลี่ยนแปลงแล้วต้องมั่นใจว่าศาลดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น มีอิสระมากขึ้น

ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของ นางเมทินี ชโลธร ว่าที่ประธานศาลฎีกา ที่จะเริ่มปฏิบัติงานในตำแหน่งต่อวันที่ 1 ต.ค. นี้ นั้น นายไสลเกษ กล่าวว่า การทำนโยบายที่ผ่านมา ตนชวนทายาทถึง 5 รุ่น มาร่วมทำนโยบาย นางเมทินีเป็นประธานคณะทำงานเกือบทุกชุด

เห็นหมดว่าสิ่งที่ตนทำ อะไรควรทำต่อหรือไม่ควรทำต่อ แม้ระยะเวลาสั้นๆ แต่นางเมทินีจะรู้ว่าโครงการไหนดีก็จะทำต่อไป ทำให้รุ่นต่อรุ่นได้เรียนรู้งาน ต่อไปประธานศาลฎีกาก็จะดึงทายาทมาส่งต่องานกัน ให้มีวิวัฒนาการในทางที่ดีขึ้น


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน