การเรียกร้องไล่เณรถนอมของ 2 พนักงานการไฟฟ้า จังหวัดนครปฐม สู่การฆาตกรรมและแขวนคออย่างโหดร้ายที่ “ประตูแดง” ชนวนสำคัญสู่โศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม 2519

เหตุการณ์นี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 วันประวัติศาสตร์ที่โค่นล้ม “3 ทรราช” ได้แก่ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ซึ่งปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการทหารและมีการสืบทอดอำนาจทางการเมืองอย่างยาวนานโดย 3 นายทหาร ถูกประชาชนขนานนามว่าเป็น “ทรราช” และถูกขับไล่ออกไปจากประเทศไทย

ต่อมาในต้นปี 2519 มีการคุกคามนักศึกษาที่รุนแรงมากขึ้น และเหตุการณ์มีความตึงเครียดขึ้น เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร พยายามเดินทางกลับเข้าประเทศไทย แบบสมถะในฐานะ “สามเณร” ในวัย 65 ปี

มีการอภิปรายที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อว่า เหตุใดจอมพลถนอมจะกลับเข้าประเทศ การอภิปรายได้ข้อสรุปว่า การกลับมาของจอมพลถนอมอาจเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่ต้องการก่อการรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้มีมติไม่ให้จอมพลถนอม กิตติขจร กลับเข้าประเทศ

แต่เมื่อถึงวันที่ 19 กันยายน 2519 เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ การปรากฏตัวของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ได้กลับเข้าสู่ประเทศไทยโดย “บวชเป็นสามเณร” มาจากประเทศสิงคโปร์ และอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และมี พระญาณสังวร (อดีตสมเด็จพระสังฆราช) เป็นองค์อุปัชฌาย์ ได้รับนามว่า สุกิตติขจโรภิกษุ

ขบวนการนักศึกษาในขณะนั้นจึงยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล เพื่อคัดค้านการที่จอมพลถนอมที่ใช้ศาสนาบังหน้า รวมถึงกลุ่มยุวสงฆ์ก็ออกคำแถลงคัดค้านสถานะภิกษุของจอมพลถนอม รวมถึงให้มีการตรวจสอบถึงความถูกต้องในการบวช เนื่องจากจอมพลถนอมเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา สมเด็จพระสังฆราชยอมรับว่าการบวชนั้นถูกต้อง ส่วนเรื่องขับไล่จอมพลถนอมจากประเทศนั้นเป็นเรื่องทางโลก มหาเถรสมาคมจึงไม่สามารถจัดการได้

ในเวลาต่อมา 23 กันยายน 2519 สมาชิกสภาได้ลงมติคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอมต่อรัฐบาลแต่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่สามารถจัดการเรื่องดังกล่าวได้

ต่อมาช่วงค่ำของวันที่ 24 กันยายน 2519 กลุ่มนักศึกษาได้ออกติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอมทั่วประเทศ โดยนิสิตจุฬาลงกรณ์ที่ออกติดโปสเตอร์ถูกชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งดักทำร้าย ได้รับบาดเจ็บ

นอกจากนี้ นายชุมพร ทุมไมย และนายวิชัย เกษศรีพงศา พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐม ซึ่งเป็นสมาชิกแนวร่วมประชาชน ออกติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม ได้ถูกคนร้ายฆาตกรรมแล้วนำไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรบริเวณหมู่บ้าน 2 ตำบลพระประโทน ประตูบานนั้นคือ “ประตูแดง”

จากการชันสูตรพบว่าทั้งสองคนถูกซ้อมและฆ่าอย่างทารุณก่อนที่จะนำศพไปแขวน สันนิษฐานว่าผู้ลงมือคือเจ้าหน้าที่ตำรวจนครปฐม กรณีนี้สร้างความสะเทือนใจอย่างมาก

ต่อมาวันที่ 28 กันยายน 2519 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการชุมนุมคัดค้านจอมพลถนอม และเรียกร้องให้รีบดำเนินการจับผู้กระทำผิดที่ลงมือฆาตกรรม 2 ช่างไฟฟ้านครปฐมมาลงโทษ โดยให้เวลารัฐบาล 3 วัน

1 ตุลาคม 2519 กลุ่มฝ่ายขวาในประเทศไทย แถลงการณ์ ว่า นักการเมือง กลุ่มนิสิตนักศึกษา และประชาชนฝ่ายซ้าย ถือเอาพระถนอมมาเป็นเงื่อนไขสร้างความไม่สงบขึ้นภายในประเทศชาติ ถึงขั้นจะก่อวินาศกรรมทำลายวัดบวรนิเวศวิหาร และล้มล้างรัฐบาล โดยจะร่วมกันปกป้องวัดบวรนิเวศทุกวิถีทาง (อ่านเพิ่มเติมที่นี่…)

เมื่อถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2519 ครบ 3 วัน รัฐบาลยังไม่มีความคืบหน้าต่อสิ่งที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาเรียกร้อง จึงมีการตกลงให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่บริเวณสนามหลวงในเย็นวันที่ 4 ตุลาคม 2519

ในวันที่ 4 ตุลาคม 2519 มีการรณรงค์ให้นักศึกษาธรรมศาสตร์งดเข้าสอบเพื่อไปชุมนุมขับไล่จอมพลถนอม โดยชมรมนาฏศิลป์และการละครได้มีการจัดแสดงละคร ซึ่งมีฉากหนึ่งที่สะท้อนถึงพนักงานการไฟฟ้า (นายชุมพร ทุมไมย และนายวิชัย เกษศรีพงศา) ที่ถูกสังหารที่นครปฐม

ในเช้าวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ชนวนแห่งโศกนาฏกรรมก่อตัวขึ้น หลังจากหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ เผยแพร่ภาพการแสดงละครแขวนคอของนักศึกษา โดยจากภาพถ่าย ใบหน้าของ “อภินันท์ บัวหภักดี” มีความละม้ายคล้ายองค์รัชทายาทโดยบังเอิญ

ทำให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดาวสยาม เลือกใช้รูปการแสดงละครของนายอภินันท์ ในมุมมองที่มีความคล้ายกับองค์รัชทายาทมากที่สุด ในการตีพิมพ์โจมตีขบวนการนักศึกษาว่าจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของคอมมิวนิสต์

สถานีวิทยุทหารทุกแห่งได้ออกข่าวเกี่ยวกับกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ และระดมผู้รักชาติจำนวนมากไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อต่อต้านกรณีดังกล่าว และย้ายสถานที่มายังท้องสนามหลวงตรงบริเวณฝั่งตรงข้ามธรรมศาสตร์ในเวลาดึก มีการยั่วยุประชาชนอย่างหนัก ให้เกลียดชังนักศึกษายิ่งขึ้น

เวลาประมาณ 5.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มยิงอาวุธสงครามใส่ผู้ชุมนุม จากนั้นต่อมาก็ได้ใช้กองกำลังตำรวจกองปราบและหน่วยตำรวจตระเวนชายแดนนำการกวาดล้างนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยอาวุธสงคราม พร้อมทั้งมีกลุ่มต่างที่เข้าร่วม คือ ลูกเสือชาวบ้าน และนวพลกระทิงแดง บุกเข้าใช้อาวุธหนักทำร้ายนักศึกษาอย่างทารุณกรรมจนถึงแก่ชีวิต

“นิตินัย คนุงเหตุ” เจ้าของที่ดินบริเวณประตูแดง เล่าว่า ที่แห่งนี้เป็นที่พักอาศัยของเขาในปัจจุบัน ประตูแดงบานนี้ เคยมีสีฟ้าอมเทาเพราะเป็นสีโปรดของพ่อของเขา เขารับรู้ว่าประตูแห่งนี้เป็นวัตถุแห่งประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ โดยเขาไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนประตูบานใหม่เลย

จนกระทั่ง โครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ ขออนุญาตนำประตูแดงไปจัดแสดงและเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ ทั้งยังเสนอว่าจะนำประตูใหม่มาเปลี่ยนให้ เขาจึงอนุญาต พร้อมกล่าวว่า เขาเต็มใจอย่างมากที่จะให้ประตูบานนี้ได้ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์

ส่วนของคดีฆาตรกรรมนายชุมพร ทุมไมย และนายวิชัย เกษศรีพงศา พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐม ศพถูกฝังทันทีหลังจากพบร่างโดยญาติไม่มีโอกาสได้ระบุตัวผู้เสียชีวิต แม้มีผู้ต้องสงสัยเป็นนายตำรวจชั้นผู้น้อย 5 นาย แต่ไม่มีหลักฐาน จึงไม่มีการสืบสวนต่อ ทั้งนี้ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ทำให้ในภายหลังมีการนิรโทษกรรมทุกฝ่ายในคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ธรรมศาสตร์ จนถึงปัจจุบันคดีนี้หมดอายุความ โดยไม่ได้ตัวผู้กระทำผิด

 

ปัจจุบันประตูแดง รวมทั้งวัตถุสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถูกจัดแสดงในนิทรรศการ “แขวน” 6 ตุลา Museum โดยมีการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง 3 มิติ (Augmented Reality) จัดตั้งโดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปี 6 ตุลาคม 2519 จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 11 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 10 นาฬิกา ถึง 19 นาฬิกา ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ชมคลิปต่อ

’42 ปี ประตูแดง 6 ตุลา 19′ จุดเริ่มเหตุนองเลือดประวัติศาสตร์

เปิดใจ เจ้าของบ้าน “ประตูแดง” จุดแขวนคอ 2 ชีวิต เปิดฉากความรุนแรงเหตุการณ์ 6 ตุลา

 


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน