“ฮ่องกงโมเดล” หลายคนอาจคิดว่าคำนี้ มีที่มาจากฮ่องกง และถูกหยิบยืมมาใช้ในแนวทางการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย แต่ความจริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้น

บทความนี้จะชวนผู้อ่านมาสำรวจที่มาและย้อนไทม์ไลน์การเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงยุคใหม่แบบของแท้ ซึ่งไม่ใช่ความหมายเดียวกันกับ “ฮ่องกงโมเดล”

ที่มาของ “การเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงยุคใหม่”


ตั้งแต่ทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลกเต็มไปด้วยความยากลำบาก พร้อม ๆ กับการถือกำเนิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม อย่างไรก็ตามใน ปี พ.ศ.2557 ชาวเกาะเล็กๆ อย่างฮ่องกง คนหนุ่มสาวพากันลุกขึ้นสู้กับระบอบจีน ระบอบที่ได้ชื่อว่าเป็นอำนาจนิยมที่ใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งของโลก

ขบวนการประชาธิปไตยฮ่องกง หรือ ถูกเรียกขานว่า “ขบวนการปฏิวัติร่ม” เป็นการเรียกร้องที่ถูกจดจำไปทั่วโลกนี้ กลับเริ่มต้นขึ้นจากเด็กมัธยมปลายกลุ่มหนึ่งที่ก่อตั้งกลุ่มขึ้นในปี พ.ศ.2554 โดยต้องการผลักดันประเทศใน 3 ด้าน ได้แก่ นโยบายด้านเยาวชน นโยบายด้านการศึกษาของฮ่องกง และ การปฏิรูปทางการเมือง โดยจุดยืนสำคัญของพวกเขาคือ การต่อสู้เรียกร้องให้ปกป้องนโยบายการศึกษาของฮ่องกง ไม่ให้รัฐบาลจีนเข้ามาแทรกแซง ซึ่งนโยบายการศึกษาแบบจีน มีลักษณะวิชาที่เน้น ศีลธรรม และนโยบายแห่งชาติ ตามแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

Time

ในช่วงเวลานั้น การต่อสู้ดังกล่าวถูกเรียกว่าเป็น “ขบวนการต่อต้านการศึกษาแห่งชาติและศีลธรรม” ซึ่งเป็นการต่อสู้ปัญหาของหลักสูตรการเรียนการสอน จนกระทั่งเรื่องดังกล่าวก็ถูกยกระดับเป็นการต่อสู้กับรัฐบาลฮ่องกงโดยตรงและได้รับชัยชนะ แม้จะรับชัยชนะในเรื่องหลักสูตรฯแล้ว แต่นักเรียนกลุ่มดังกล่าวยังคงรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องและทำกิจกรรมทางการเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองอย่างเป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาในปี พ.ศ.2557 นักเรียนกลุ่มดังกล่าวได้ชูประเด็นการเรียกร้องที่สำคัญคือ การเสนอชื่อผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง (บุคคลที่จะถูกนำมาเลือกตั้งนั้นจะถูกคัดเลือกมาแล้วโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน) โดยฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกงเชื่อว่าการเลือกตั้ง(ด้วยเงื่อนไขที่กล่าวไว้ในข้างต้น) จะถือเป็นการยอมรับต่อหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ”

ความต้องการของฝ่ายประชาธิปไตยเชื่อว่า ผู้นำฮ่องกง ควรมาจากการเสนอชื่อจากประชาชนฮ่องกงเท่านั้น มีการเปิดการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจีนโดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าคนรุ่นใหม่และคนที่รักในประชาธิปไตย มีความรู้สึกต่อต้านระบบอำนาจนิยมของจีน

รัฐบาลจีน เริ่มใช้วิธีจับกุมกักขังและการกวาดล้างผู้เห็นต่าง ฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกงรับรู้ได้ว่า รัฐบาลจีนกำลังเอานำวิธีการที่ใช้ในแผ่นดินใหญ่มาปฏิบัติกับคนฮ่องกง โดยที่จีนพยายามใช้กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างจีนกับฮ่องกง แต่ชาวฮ่องกงไม่ยอมรับ เพราะนั่นหมายถึงการเปิดโอกาสให้มีการส่งตัวผู้กระทำผิดจากฮ่องกงไปจีนได้ และผู้กระทำผิดชาวฮ่องกงจะถูกลงโทษด้วยกฎหมายจีน

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักปีนเขา ได้ปีนไปยังยอดเขาที่สูงที่สุดในฮ่องกง เพื่อติดป้ายขนาดใหญ่ “เราต้องการสิทธิการเลือกตั้งแบบสากลที่แท้จริง” และข้อความดังกล่าวถูกติดไปทั่วเกาะฮ่องกง แต่ก็มีการเก็บป้ายเหล่านี้ทิ้งภายในคืนเดียว จนเกิดคำขวัญในการเคลื่อนไหวว่า “เก็บหนึ่ง แขวนสิบ”

 

ต่อมาเกิดการประท้วงที่ถูกเรียกว่า “ยึดพื้นที่เซนทรัล(พื้นที่ใจกลางเกาะฮ่องกง)ด้วยความรักและสันติภาพ”โดยกินเวลาถึงเกือบ 3 เดือน และมีผู้เข้าร่วมเกิน 5 แสนคน โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าพ่นสีและบุกทำลายเข้าไปใกล้บริเวณจัตุรัสซีวิค (ลานหน้าปีกตะวันออกของสำนักงานรัฐบาลกลาง) และเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งใช้สเปรย์พริกไทยและโล่กระบองต่อสู้กับผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมนั้นไม่มีอาวุธ มีเพียงร่มที่ใช้ป้องกันสเปรย์พริกไทยและแก๊สน้ำตา (ร่มจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องคุ้มครอง) ซึ่งมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก แต่ตำรวจไม่เปิดทางให้รถพยาบาลเข้าช่วยเหลือ

ในปี พ.ศ.2559 ฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกง ตัดสินใจตั้งพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มที่ไม่มีแกนนำใดเป็นแกนนำหลัก ได้แก่ กลุ่ม The Scholarism กลุ่มสมาพันธ์นักศึกษาฮ่องกง (HKFS) และกลุ่มยึดเซ็นทรัลด้วยความรักและสันติภาพ (OCLP) แม้จะมีจุดเน้นในการผลักดันที่ต่างกัน แต่กลุ่มเหล่านี้เชื่อในประชาธิปไตยร่วมกัน นี่เป็นจุดเริ่มต้นของปฏิวัติร่มของฮ่องกง

ทว่าการต่อสู้ถูกยกระดับขึ้นแล้ว วิธีการต่อสู้ของชาวฮ่องกงนั้นจึงถูกพัฒนาและหลากหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น การชุมนุมแบบไร้แกนนำ การสลายตัวแล้วรวมใหม่อย่างรวดเร็ว การรวมตัวกันเป็นก้อนเพื่อความปลอดภัย คอยระวังการใช้บริการต่าง ๆ โดยไม่ให้ถูกติดตามโดยรัฐได้ ใช้อุปกรณ์ในการป้องกันสารเคมี ประยุกต์สิ่งของในชีวิตประจำวันเป็นเกราะกำบัง ใช้แอปพลิเคชั่นสื่อสารแบบเครือข่าย เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ถูกพัฒนาได้ก็เพราะความระแวงว่าจะถูกใช้ความรุนแรงจากรัฐ รัฐที่ควรโอบกอดและปกป้องประชาชน ทำให้พวกเขาศึกษาหาความรู้ในการป้องกันตัวและประดิษฐ์เครื่องมือเพื่อต่อสู้กับรัฐ พวกเขาเป็นเพียงประชาชนตัวเล็ก ๆ ที่เชื่อและพร้อมจะแลกชีวิตกับสิ่งที่พวกเขารัก นั่นคือประชาธิปไตย

การเรียกร้องประชาธิปไตยในยุคใหม่จำเป็นต้องใช้แนวทางแบบฮ่องกงจริงหรือ

Black lives matter by LSE blog

การต่อสู้ในลักษณะที่กล่าวมานี้ สามารถเกิดขึ้นกับหลายประเทศในโลกปัจจุบันได้ ไม่ใช่เพราะมีตัวแบบเป็นฮ่องกง แต่เป็นเพราะคนรุ่นใหม่มีพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างแรงกล้า ทั้งยังเป็นเจนเนอเรชั่นที่คุ้นชินกับเทคโนโลยี พวกเขาและผู้ที่เชื่อในประชาธิปไตย ต่างตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ของมนุษยชาติ จึงเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและเกิดการชุมนุมขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน-รัฐ โดยตรง หรือประเด็นทางสังคมก็ตาม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลกโดยไม่จำเป็นต้องมีต้นแบบจากที่ใด มีเพียงการเรียนรู้ประสบการณ์จากกันและกัน

ที่มาของ “ฮ่องกงโมเดล”

อย่างไรก็ตาม คำว่า ฮ่องกงโมเดล ก็ถูกฉกฉวยมาใช้ในความหมายใหม่ครั้งแรก โดยชนชั้นนำไทยบางกลุ่มที่ต้องการสร้างความชอบธรรมในการด้อยค่า “การคิดได้ด้วยตนเอง” ของคนรุ่นใหม่

จากการสืบค้นที่มาของคำพบว่า ไม่มีการใช้คำว่า “ฮ่องกงโมเดล” ที่หมายถึงวิธีการประท้วงในภาษาอื่น โดยฮ่องกงโมเดลที่ถูกเข้าใจในภาษาอื่น มีความหมายว่า นางแบบ-นายแบบชาวฮ่องกง หรือ ตุ๊กตาหุ่นโมเดลของฮ่องกง แต่ ฮ่องกงโมเดล ที่หมายถึงแนวทางการเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นคำที่มีใช้เฉพาะในไทยเท่านั้น

โดยคำว่า ฮ่องกงโมเดล ปรากฏในสื่อสาธาณะครั้งแรก โดย พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ซึ่งพูดในการบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ณ หอประชุมกิตติขจร กองบัญชาการกองทัพบก วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2562

นอกจากนี้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ.​ได้พูดถ้อยคำใหม่ ๆ มาใช้​อย่างต่อเนื่อง เช่น”ซ้ายจัดดัดจริต “ฮ่องกงโมเดล”และ “ฮ่องเต้ซินโดรม” ซึ่งมีหลายฝ่าย แสดงความคิดเห็นว่า คำเหล่านี้​สะท้อนความคิดเห็นทางการเมืองที่แฝงการด้อยค่าฝั่งตรงข้ามทางการเมืองอย่างไม่มีหลักฐานมารองรับ เช่น ฮ่องเต้ซินโดรม ซึ่งไม่มีโรคนี้อยู่บนโลกจริง ๆ เช่นกัน

คำเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำในการแสดงความคิดเห็นเชิงการเมืองอยู่บ่อยครั้ง และมักจะใช้ในกรณี​ที่ “เชื่อว่า” การที่ฝ่ายประชาธิปไตยไทยใช้แนวทางแบบฮ่องกงโมเดลนั้นจะพบกับจุดจบที่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนแบบที่ชาวฮ่องกงยังไม่ชนะในการต่อสู้กับรัฐบาลจีน ​​

​ข่าวที่เกี่ยวข้อง

https://www.khaosod.co.th/politics/news_2965146

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน