คนรุ่นใหม่ รับกลางวงเสวนา “ออกมาสู้ในวันนี้ คือการชดใช้กรรม” เคยพลาดหนุนรัฐประหาร ยินดีกับการสลายการชุมนุมปี 53 ชี้กะลาแตกออกมาแล้ว ไม่มีทางหยุดยั้งได้

เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2563 มีการจัดวงเสวนาในเวที “พลเมืองประชาธิปไตยและพลังขับเคลื่อนสังคมของเยาวชน (Democratic Citizens and Civic Engagement of the Youth)” ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.ดร.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ, ศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ครูทวิช ลักษณ์สง่า ครูเครือข่าย Thai Civic Edcation, ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ (มายด์มิ้นต์) นิสิตครุศาสตร์ จุฬาฯ จากคณะประชาชนปลดแอก และ ธญานี เจริญกูล กลุ่มนักเรียนเลว

อะไรคือนิยาม ความเป็นธรรมในสังคม

ธญานี กล่าวว่า ความเป็นธรรมในสังคมนั้น ยังมีอยู่จริง เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนไม่ว่าแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม แต่ว่า ได้รับสิทธิเสมอกัน ไม่มีใครมากกว่าน้อยกว่า เพราะเป็นพลเมืองเหมือนกัน

ด้าน ศุกรียา กล่าวว่า ความเป็นธรรมในสังคมคือการที่ ทุกคนได้รับการคุ้มครองศักดิ์และศรีในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน รวมถึงสิทธิเสรีภาพ การบังคับใช้กฎหมาย การที่ไม่มีอำนาจรัฐหรืออำนาจอันไร้ชอบธรรมมาบิดเบือนคุณค่าแต่ละคน ถามว่าความเท่าเทียมมีอยู่จริงไหม แม้มีความต่างแต่ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน และทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐภายใต้ระบบกฎหมายอย่างเป็นธรรม

อะไรคือ ประชาธิปไตยที่แท้จริง?

ผศ.ดร.อรรถพล กล่าวว่า ตลอดช่วงชีวิต 48 ปีของผม สัมพันธ์กับช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่กับประชาธิปไตยน้อยมาก ผมโตมาก็เจอเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เข้าวัยรุ่นในช่วงเวลาแห่งความเงียบ จนมาอยู่มหาวิทยาลัยก็ช่วงเบ่งบานสั้นๆ ก็เจอพฤษภาทมิฬ 2535 พอมาเป็นอาจารย์ก็เจอการรัฐประหารหลายรอบ

คำถามในฐานะครูสอนสังคมศึกษาคือ ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า ประชาธิปไตยที่สังคมไทยต้องการคืออะไร ผมคิดว่า ในสังคมเรามองไม่เหมือนกัน แต่ก็ต้องมีหลักพื้นฐานเหมือนกันภายใต้ความแตกต่างหลากหลายโดยที่มองเห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องระบอบปกครองแต่เป็นชุดคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน มีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งเราใช้เวลาในการร่วมสร้าง

ศ.ดร.นงเยาว์ กล่าวว่า ในปี 2519 บรรยกาศห้องเรียนในคณะรัฐศาสตร์ เป็นของเรียนวิชาพื้นฐาน 103 วิชาการเมืองการปกครอง ซึ่งเสน่ห์ จามริก เป็นคนสอน ตัวเองนั่งอยู่หลังห้อง สิ่งที่จำได้คือไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่เข้าใจเรื่องระบบชุมชนการเมืองการปกครองของเรา ทั้งๆที่เราสนใจการเมือง แต่พอมาเจอ ทฤษฎีแนวคิด นั้นกลับเป็นเรื่องยาก

พลเมืองในฐานะผู้ตื่นตัวทางการเมือง อันนี้เห็นด้วย เป็นสิ่งที่เราไม่ใช่ความเชื่อโดยปกติแต่ต้องทำให้เกิดขึ้น เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนมีโอกาสพัฒนาได้มาถึงจุดนี้ ประเด็นต่อมา เวลาพูดถึงพลเมือง และประชาธิปไตย ตนเองคิดว่า เป็นความเชื่อ และเราเชื่อว่ามีจริง

นอกจากความเป็นธรรมทางสังคม ชุดความเชื่ออย่างความเสมอภาค ภราดรภาพ เสรีภาพ ความยุติธรรมเป็นชุดความเชื่อที่เกาะเกี่ยว เป็นบรรทัดฐานที่ให้เราอยู่ร่วมกัน เมื่อเราพูดถึงรูปแบบการปกครอง มีจริงหรือไม่ ตนคิดว่าดูแค่ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ก็ให้คำตอบแล้วว่าไม่มี ถ้าสมมติว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงของเราคืออะไร เราดูจากอุดมการณ์เสรีนิยม

พอมาดูข้อเท็จจริงตั้งแต่ปี 2557 มาถึงทุกวันนี้ ตนคิดว่า การโลกคู่ขนาน คือเรามีรัฐสภาที่ไม่ทำอะไรเลย กับเวทีดีเบตที่ขับเคลื่อนตั้งคำถามทุกวัน ทำให้เราเห็นว่า เป็นของจริงในรัฐสภาปัจจุบัน เราของที่เราฝันอยู่ที่เวทีการเมืองบนท้องถนน ที่พูดแบบนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร?

“ถ้าสิ่งที่เราคิดว่า 3+1 คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยก็มีจริง แต่ถ้ายังไม่มี ก็แสดงว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงก็ยังไม่มี”

ศ.ดร.นงเยาว์ กล่าวต่อว่า ประเด็นต่อมา เวลาเราพูดถึง ประชาธิปไตยมีจริงหรือไม่ นอกจากเราชัดเจนว่ายังไม่มี ในฐานะทำงานเกี่ยวกับผู้หญิง ไม่ว่าจะมีหรือไม่ เราตั้งคำถามพลเมืองเข้มแข็ง อุดมการณ์ความเสมอภาค นี่เป็นสิ่งเบื้องต้นที่นำไปสู่ความเป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ ตนคิดว่ามีน้อยมาก และในการสอนหนังสือ การทำให้อุดมการณ์ความเสมอภาคปรากฎเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องยาก

การที่เด็กลุกขึ้นมาประท้วงจนมีคดีจำนวนมาก สะท้อนให้ว่า พลเมืองเข้มแข็งต้องปรากฎ แต่ชุมชนต่างๆยังอยู่ในลักษณะไม่เอื้อต่ออุดมการณ์แบบนี้

วิชา “หน้าที่พลเมือง” สูตรสำเร็จของรัฐเพื่อการเป็น พลเมืองเข้มแข็ง?

นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 คสช.ได้ผลักดันให้มีการสอนวิชา “หน้าที่พลเมือง” รวมถึงชุดความคิดว่าอย่าง ค่านิยม 12 ประการ ขึ้นในระบบการศึกษาจนถึงวันนี้ ได้ส่งผลอย่างไรต่อนักเรียน ครูและสังคม

ทวิชกล่าวว่า ในฐานะที่สอนมาถึง 2 ปี สังเกตไหมว่า วิชาหน้าที่พลเมือง คำว่า “หน้าที่” ตั้งแต่เด็กจนโต มักได้ยินว่า ลูกต้องมีหน้าที่อะไรต่อพ่อแม่ เข้าโรงเรียนมีหน้าที่ เป็นประชากรในสังคมต้องทำหน้าที่อะไร แต่ว่าจริงๆแล้ว คำว่า “หน้าที่” ที่ระบุว่าเราต้องทำ แม้แต่ในเพลงที่เปิดทุกวันเด็กอย่าง “เด็กเอ๋ยเด็กดี” ก็พูดถึงหน้าที่ที่ต้องทำ

ดังนั้น วิชาหน้าที่พลเมือง เราได้เรียนว่ามีหน้าที่อะไร แต่น่าแปลกใจว่า ทุกที่เราไป ทุกที่ที่เราทำงาน จะมีคำว่า “หน้าที่” แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ “สิทธิ” จริงๆควรใช้ชื่อวิชาว่า “สิทธิและหน้าที่ของพลเมือง” เพราะว่า ผมสังเกตว่า รัฐบาลหรือสิ่งที่สังคมมอบให้กับเรา บอกว่ามีหน้าที่ต้องทำ แต่ไม่ได้บอกว่ามีสิทธิอะไรบ้าง ถ้ามองกลับกัน เราเติบโตมาว่า นอกจากเป็นลูกที่ดี มีหน้าที่ไรบ้าง เราก็มีสิทธิทำอะไรได้บ้างในครอบครัว หรือแม้แต่การเข้าโรงเรียน ปฐมนิเทศมีคู่มือ

เด็กที่ดีต้องแต่งกายแบบไหน มีแต่หน้าที่ แต่ไม่มีหน้าไหนในคู่มือบอกว่าเรามีสิทธิอะไรบ้างในโรงเรียน เช่น มีสิทธิเขียนคำร้องหากเราไม่พอใจอะไรต่อผู้บริหาร มีสิทธิขอวิชาใหม่ และพอจบมาจากวิชาหน้าที่พลเมือง ก็เจอความรับผิดชอบ ซึ่งจริงๆรัฐเป็นคนกำกับรับรองสิทธิพลเมือง ว่าพลเมืองมีสิทธิอะไรบ้าง

พอเรามีสิทธิ เราก็ทำหน้าที่ เพราะรัฐได้คุ้มครองสิทธิของเรา เราก็ทำหน้าที่เพื่อสนอง แต่รัฐต้องสนับสนุนสิทธิเราโดยตีกรอบประโยชน์ให้เราและปกป้องเรา ถึงจะเป็นการเอื้ออำนวยระหว่างคนในรัฐและรัฐด้วยกัน รัฐจะไปด้วยกัน เมื่อพลเมืองทำหน้าที่ ประเทศจะเจริญได้ เพราะประเทศจะเจริญได้เพราะประชาชนมีสิทธิเป็นตัวขับเคลื่อน

ดังนั้น คำถามก็คือ วิชาหน้าที่พลเมือง ยังจำเป็นอยู่หรือไม่? จำเป็นแต่อาจถูกตีกรอบกับ “หน้าที่” จนเกินไป หรือขัดต่อสิทธิ จึงทำให้พอเยาวชนเรียกร้องสิทธิ จะมีอารมณ์แปลกๆของผู้ใหญ่ประมาณว่า ทำไมเรียกร้องกันเยอะจัง เอะอะก็เรียกร้องสิทธิ ทำไมมีแต่สิทธิ ไม่ทำหน้าที่ก่อน จริงๆแล้ว “สิทธิ” กับ “หน้าที่” ไปด้วยกัน พร้อมเรียนรู้ไปด้วยกัน การที่เยาวชนออกมาเรียกร้องเพราะถูกกดทับจนไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้างตั้งแต่เด็ก พอโตมาก็ได้เรียนรู้ว่า ตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง ก็จะพยายามเรียกร้องทวงสิ่งที่หายไปในช่วงชีวิตเขา

ดังนั้นก็ไม่ต้องแปลกใจ ที่จะเห็นเทรนด์ทวิตเตอร์ต่างๆ การออกมาตั้งคำถามสิ่งที่เราอยากรู้ว่าสิทธิที่หายไปมีอะไร แล้วผู้ใหญ่ไม่สามารถตอบได้ ก็ทำให้เด็กๆรู้สึกไม่พอใจ เพราะรู้สึกว่า เหตุผลง่ายๆแค่นี้ทำไมถึงตอบไม่ได้

ทวิชกล่าวอีกว่า การสร้างพลเมือง ควรสร้างให้เด็กเห็นถึงความไม่เป็นธรรมทางสังคม จะต้องมีแนวคิดอะไรบ้างชวนคุยกับเด็ก เรามองว่าเริ่มเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย สื่อ เพศ หรืออะไรต่างๆในการเอามาพูดคุย กลับมาที่หลักสูตร ถูกแล้วล่ะที่รัฐเป็นคนกำหนดหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดในการเรียนรู้ เราก็ยึดมาตรฐานนี้ ในวิชาประวัติศาสตร์ ก็ว่าเราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงสังคมเอเชีย

ถ้ามองว่า เราจะสอนวิชานี้ ด้วยแนวคิดการสร้างพลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรม ก็อาจเน้นประวัติศาสตร์เอเชียโดยหยิบเรื่องสิทธิมนุษยชนมาอธิบายก็ได้ ความไม่เป็นธรรมในสังคมก็ได้

ด้าน ผศ.ดร.อรรถพล กล่าวว่า เราต้องมองอย่างนี้ว่า หลักสูตร เป็นหลักสูตร 2 ระดับคือเป็นตัวเอกสาร แต่เรื่องใหญ่คือเอาหลักสูตรมีตีความแล้วทำเอกสารการสอนในโรงเรียน หลักสูตรรายวิชาในห้องเรียน ซึ่งอันนี้เป็นปัญหา ใช่คำว่าอะไรดี ในความหมาย ตัวหนังสือมาเปิดโอกาสให้ครู ใช้ความเป็นนักวิชาการเข้าไปคุย ในการออกแบบหลักสูตรโรงเรียน กิจกรรมการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นเรื่องใหญ่ จึงไม่ใช่แค่เปลี่ยนหลักสูตรแล้วทุกอย่างจะดีหมด แต่ตัวหลักสูตรเป็นสิ่งเกี่ยวกับ ความคาดหวังว่าโรงเรียนควรมีเป้าหมายอะไร เป็นเรื่องสำคัญในการเตรียมความพร้อมของครู เอาตัวสิ่งที่จะเกิดขึ้น มาเกิดขึ้นในบริบทของโรงเรียนบนความเข้าใจที่ถูกต้อง

“ถ้าท่านอ่านหลักสูตรบางเล่มว่าทำไมเป็นของเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เล่มใหม่ใช้แบบเดิม ตัวหนังสือที่มีในหลักสูตรเป็นคำใหม่ ตัวเองคิดว่าเป็นเรื่องยากและท้าทาย พอเราคุยเรื่องนิเวศในการเรียนรู้ อันนี้ก็สำคัญ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นแค่หนังสือหรือในห้องเรียน

แต่เรากำลังคุยกับนักเรียนในประเด็นทางสังคมที่พวกเขาสนใจ นอกห้องเรียนเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรม ถ้าครูที่มีความชำนาญในการสอน ก็จะมีโอกาสพลิก เพราะโลกไม่พึงเห็น ก็มาชวนคุยกันในห้องเรียนว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายและโจทย์คือจะทำอย่างไร วิธีการที่เป็นอยู่และเราไม่อยากให้เป็นแบบนี้ เราจะทำอย่างไร ไปสู่โลกที่ดีกว่า ต้องมีหลักคิดอะไรบ้าง”

ศ.ดร.นงเยาว์ กล่าวด้วยว่า ต่อไปถ้าเราจะสอนเรื่องความเป็นพลเมือง วิชาคุณธรรมอะไรบ้าง ก็ต้อง 5 ฐานคิดวิเคราะห์และให้นักเรียนตั้งคำถาม ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และเกิดฐานคิดอื่นๆ แต่ที่ผ่านมา เราไม่ได้สอนให้คิด ไม่สอนให้คนตั้งคำถาม กระบวนการแบบนี้ ทำให้วิชาแบบนี้ เป็นเรื่องว่าด้วยหน้าที่และความรักชาติ ความจริง ความรักชาติไม่ได้เป็นสิ่งที่ประหลาดอะไร ทุกคนสังคมต้องสอน แต่เรานี่ยิ่งสอนเยาวชนยิ่งตั้งคำถาม และผลตีกลับ เพราะฉะนั้น ถ้าจะไปพูดแค่ตำราก่อนเป็นส่วนหนึ่ง วิธีสอนก็เป็นส่วนหนึ่ง

ถ้าเรามองว่า ห้องเรียนไม่ได้เป็นโลกสมมติอีกต่อไป เราอยู่ในโลกคู่ขนาน ปรากฎการณ์เกิดจริงในสังคม แต่การสอนที่หยุดนิ่งในห้องเรียน กลับทำให้เกิดกระแสการตั้งคำถามมโหฬาร มีโอกาสได้คุยกับนักเรียนก็ถามว่า ภาษาแบบนี้ ความคิดแบบนี้ไปเอามาจากไหน ก็ทำให้เห็นว่า นอกจากสิ่งที่มีในห้องเรียนก็มีสื่อนอกห้องเรียนด้วย

ขณะที่มุมมองนักศึกษานั้น ศุกรียา กล่าวว่า วิชาหน้าที่พลเมืองในความทรงจำ เป็นความคับข้องใจแต่พอย้อนนึกกลับไปอย่างเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี ก็นึกถึงค่านิยม 12 ประการ ที่ถูกบรรจุในวิชา นั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านการศึกษาระบบการเมืองของนักเรียนรุ่นนี้ ทุกคนต่อต้านเลย เจอมาบอกว่านักเรียนต้องทำอะไร ทุกคนไม่ร้อง ไม่ท่อง เหมือนเป็นลักษณะของคนรุ่นนี้ เราไม่ต้องการให้ใครมาบอกว่าเราต้องทำอะไร แต่เราเริ่มตั้งคำถาม จำเป็นที่เราต้องทำจริงๆหรือ เราทำแบบนี้สังคมดีขึ้นหรือ ทำแบบนี้ถ้าดีขึ้น ทำไมคนรุ่นก่อนที่มีการชี้หน้าว่าต้องทำอะไร ถึงมาได้แค่นี้ นั้นคือสิ่งที่คนรุ่นเรามองเห็นตรงกัน

พอมีการกดทับ แทนที่เราจะยอมจำนน ความต้องการและอยากรู้กลับเพิ่มไป พอมีกระแสอินเตอร์เน็ตเข้ามา ทุกอย่างไม่จำเป็นต้องรอให้ครูมาบอก เราหาเองได้และต่อยอด พอเจอคนที่คิดเหมือนกัน สร้างสังคมขึ้นมา เรื่องเหล่าๆนี้ค่อยแพร่กระจาย ซึ่งทุกอย่างเริ่มขึ้นจากรัฐที่กดทับตลอดเวลา คำถามที่ไม่ได้รับคำตอบอย่างมีเหตุผล คำตอบที่เราไม่ยอมรับเพราะไม่มีเหตุผลมากพอ

จึงเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น และต้องยกเครดิตกับอินเตอร์เน็ตและข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่ในนั้น เมื่อปีแล้ว ข้อมูลเนื้อหาที่อัพโหลดกว่า 3 หมื่นชิ้นต่อวัน แต่ในปัจจุบันมีถึง 7 แสน ถือว่ารวดเร็วมาก แรงกดทับที่ได้จากวิชาหน้าที่พลเมืองก็เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้หลายคนมาอยู่ตรงนี้ ออกมาตั้งคำถาม

ศุกรียายังกล่าวอีกว่า เอาจริงๆคือ คณะรัฐประหารนั้นตลก คือเราไม่กลัวในสิ่งที่เขาพยายามจะสร้างให้เรา เรากลับมองว่าพวกเขาตลกที่ออกมาทำแบบนี้ และสิ่งที่พูดออกมาย้อนแย้งกับการกระทำ จึงไม่น่าเคารพและไม่เกรงกลัว เมื่อความกลัวหายไป ทำให้เกิดมิติคู่ขนานที่เราไม่สยบยอม เพราะสำหรับเรา สิ่งที่พวกเขาสร้างไม่มีค่าอะไรเลย

เพราะ “การศึกษาไทย” ที่ทำให้เราออกมาในวันนี้

ธญานี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ 3-4 ปีก่อน เราคือนักเรียนต้นแบบในฝันของรัฐที่เชื่อฟังและสมยอมกับทุกอย่าง จนวันหนึ่ง พูดให้ง่ายๆ เหมือนเวลารดน้ำต้นไม้ เอานิ้วโป้งอุดสายยางไว้ น้ำค่อยๆหยดออกมา แต่มีช่องนิดเดียวในนิ้วโป้งหลุดออกมาจากสายยาง น้ำพุ่งแรงและเร็ว เราคือน้ำที่พุ่งแรงแบบนั้น

เราโดนปิดหูปิดตามาตลอด วัยเด็กที่ผ่านมาเราอยู่กับรัฐประหารถึง 2 ครั้ง สงครามสีเสื้อ วาทกรรมล้มเจ้า ผีทักษิณ อยู่กับทีวีไม่กี่ช่องที่นำเสนอไม่กี่อย่าง ทำให้เราถูกปิดหูปิดตามาตลอด จนมีแสงเล็กๆเล็ดรอด เรารู้จักทวิตเตอร์ รู้จักอาจารย์และนักวิชาการบางท่าน รู้จักบางเพจ หนังสือบางเล่ม สิ่งที่เข้ามานั้นเหมือนแสงที่เล็ดรอดในกะลา จนรอยร้าวในกะลาค่อยๆมากขึ้น แล้วแตกออกมา เราจึงเป็นต้นไม้ที่เติบโตและผลิบานเสียที

อาจเรียกว่าเป็นความโกรธก็ได้ ที่ถูกปิดหูปิดตา โกรธเหมือนว่ามีใครเอาถุงดำครอบหัวเราไว้ แล้ววันนั้นได้แหวกออกและสูดอากาศเต็มปอด เราโกรธตัวเองที่ทนมองเห็นเหตุการณ์เหล่านั้นโดยที่ไม่ทำอะไรเลย นั่งดู ปี 53 แล้วเราก็ยิ้มว่าในที่สุดการชุมนุมได้ถูกสลาย ด้วยสังคมที่หล่อหลอมเรา ปี 57 เราผูกริบบิ้นธงชาติแล้วก็นั่งดูช่องทีวีช่องหนึ่ง

และเราก็ยินดีเมื่อคณะรัฐประหารออกมา ว่าในที่สุดครอบครัวนั้นก็ถูกขับไล่ออกจากประเทศ พอเป็นตัวเราที่ยืนอยู่ในวันนี้ ย้อนมองกลับไป เรารู้สึกตัวเองผิดมาก จนต้องออกมาชดใช้กรรมจากความเพิกเฉย และสนับสนุนความอยุติธรรมของตัวเองในอดีต สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกสอนในวิชาหน้าที่พลเมืองแม้แต่ครั้งเดียว

วิชานี้เหมือนโลกคู่ขนานที่กางสิ่งนั้นทับซ้อนกับโลกจริง แทบไม่เหมือนอะไรกันซักอย่าง สิ่งที่มีหนังสือกลับเป็นนิทานหลอกเด็ก ที่พอเราเงยออกจากหนังสือแล้วมองโลกภายนอก ไม่มีอะไรเหมือนในหนังสือเลย ความยุติธรรมในหนังสือก็ไม่มีให้เห็น ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ ก็ไม่เห็นมีใครเคารพ จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่า เรากำลังเรียนอะไรกันอยู่

วิชานี้กำลังสอนให้เราเป็นอะไร ว่าสิ่งนี้คือดี สิ่งนี้ไม่ดี แบ่งขาว-ดำ มีชุดความดีสำเร็จรูป ว่านักเรียนต้องเป็นแบบนี้ถึงจะดี ถ้าหลุดจากกรอบความดีแบบนี้ไป ก็จะกลายเป็นคนเลวทันที สิ่งนี้รัฐหรือระบบการศึกษา กำลังพยายามปลูกฝังเราทุกๆวัน ทำให้คนหลายคนถูกผูกขาดความดีไว้เป็นประโยชน์กับตัวเองและผลักคนอื่นออกไปและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

วิชาหน้าที่พลเมือง แทนที่จะสอนพลเมืองรู้สึกสิทธิและหน้าที่ มีไปพร้อมๆกัน ให้รู้จักว่าเรากำลังอยู่ในประเทศแบบไหน ประเทศเราเป็นอย่างไร ทำยังไงให้พัฒนาหรืออยู่ประเทศนี้ได้อย่างเจริญรุ่งเรือง แต่กลับกลายเป็นว่าสอนให้เรารักบางคน รักบางอย่าง เทิดทูนไว้เหนือหัวและกดเหยียบ กระทืบซ้ำคนบางกลุ่มออกไป

เมื่อกะลาของนักเรียนได้แตกออก น้ำที่พุ่งออกจากสายยางอย่างแรงและเร็ว จึงทำให้ความเคลื่อนไหวที่ผู้ใหญ่อาจมองว่าเป็นความก้าวร้าว แต่เขาถูกกดทับ ถูกบีบมานาน นานมาพอจนแรงดันพุ่งออกมา สิ่งนั้นที่ผู้ใหญ่ไม่คุ้นเคย ไม่เคยสอนในหนังสือ ไม่เคยสอนในสื่อหลัก

ทำให้ปฏิกิริยาตอบกลับจากผู้ใหญ่คือเกลียดชังไว้ก่อน อันเป็นผลจากการสอนแบบแบ่งขาว-ดำนั้นเอง มีคนดี-คนไม่ดี ทั้งที่จริงไม่มีใครดีผุดผ่อง หรือคนเลวดำมืด มีแค่สีเทา เพราะฉะนั้น เรารู้สึกว่าการเปลี่ยนวิชาหน้าที่พลเมืองใหม่ คือสิ่งที่จะขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาได้ต่อไป


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน