กมธ.สวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร จ่อแก้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ดันเพิ่มเบี้ยยังชีพ 1-3 พันบาท ต่อเดือน ชี้ช่องหาแหล่งเงินเพิ่ม ที่ไม่เป็นภาระต่อรัฐบาล

เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 16 ธ.ค. ที่รัฐสภา น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ แถลงว่าคณะกมธ.เห็นถึงความสำคัญของการวางรากฐานระบบบำนาญของประเทศให้มีความยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต

ซึ่งการมีหลักประกันทางสังคมด้านบำนาญที่เหมาะสม จะทำให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพเมื่อเข้าสู่วัยชรา ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้สูงอายุจะได้รับเบี้ยยังชีพในอัตรา 600 -1000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ทำให้ผู้สูงอายุไทยไม่มีความมั่นคงทางการเงิน เพราะมีแหล่งรายรับเพียงแหล่งเดียวหลังเกษียณคือเบี้ยยังชีพ

กมธ.จึงหยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาโดยตั้งคณะอนุกมธ. โดยมีตัวแทนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง กฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย และเห็นว่าควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ให้สอดคล้องเจตนารมณ์ของประชาชน โดยมุ่งหมายให้มีการจัดบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานแบบถ้วนหน้า โดยที่ประชากรไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับทุกคน

เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพหลังเกษียณ ช่วยลดภาระการพึ่งพิงวัยแรงงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อมอีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลจ่ายเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันได 12 ล้านคน ใช้งบประมาณปีละ 77,000 ล้านบาท

แต่หากรัฐบาลเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท ต่อเดือน จะใช้งบประมาณปีละ 144,000 ล้านบาท หากเดือนละ 3,000 จะใช้งบประมาณปีละ 432,000 ล้านบาท จึงเห็นควรให้บริหารงานรูปแบบกองทุนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณ และสามารถนำเงินไปลงทุนในรูปแบบต่างๆได้

น.ส.รังสิมา กล่าวอีกว่า การแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว จึงจะมีการเปลี่ยนชื่อเป็นพ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญแห่งชาติ พร้อมทั้งแก้ไขให้เบี้ยผู้สูงอายุเป็นบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ และแก้ไขที่มาของเงินในกองทุนผู้สูงอายุ เพื่อให้รับเงินได้มากขึ้น โดยเพิ่มเติมที่มาของเงินเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านงบประมาณ

นอกจากนี้ ต้องพิจารณาแนวทางความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบประมาณจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม เช่น รายได้จากการจัดเก็บภาษีทางอ้อม การจัดสรรงบประมาณบางส่วนจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตหรือภาษีบาป การจัดสรรงประมาณจากรายได้ในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล และรายได้จากการบริจาคเป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากนี้ทางกมธ.จะจัดทำเป็นเล่มรายงานผลการพิจารณาศึกษา เพื่อเสนอต่อสภาเพื่อดำเนินการต่อไป


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน