“ธนาธร” จี้รัฐใช้เงินกู้ 4 แสนล้านล้าน เยียวยาถ้วนหน้า คนละ 3 พัน 3 เดือน ลั่น ประชาชนไม่ใช่ภาระประเทศ แนะแนวทางรับมือโควิด-19

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 5 ม.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 4 ม.ค. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จัดรายการเฟซบุ๊กไลฟ์พิเศษ ในหัวข้อ “ประเทศไทย 2021: ข้อเสนอจัดการโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจ” เพื่อนำเสนอทางเลือกในการจัดการกับวิกฤติโรคระบาดไวรัสโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากมาตรการต่างๆของรัฐ

โดยระบุว่า สถานการณ์ในขณะนี้มีความน่ากังวลเป็นอย่างมาก ถึงวันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ล่าสุดมากถึง 745 คน โอกาสนี้ ตนขอให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด และขอให้กำลังใจผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังทำหน้าที่เพื่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศต่อสู้กับไวรัสอยู่ขณะนี้

วิกฤติดังกล่าวทำให้ตนต้องมาพูดถึงข้อเสนอในการจัดการ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปทางไหนและจะใช้ชีวิตอย่างไรในปี 2564 นี้ ซึ่งในทางหลักการแล้ว การออกมาตรการต่างๆ ของภาครัฐจำเป็นจะต้องยึดหลักการที่สำคัญสองหลักการ นั่นคือ 1.ความได้สัดส่วน และ 2. การตั้งอยู่บนความเป็นธรรมและความเสมอภาค

“ความได้สัดส่วน หมายความว่ามาตรการที่ออกมาจะต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่รุนแรงจนเกินเหตุ หรือไม่อ่อนจนเกินเหตุ เช่น ถ้าเราขอให้ประชาชนหยุดงานเพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนและให้ค่าชดเชยเพียงวันละ 100 บาท สิ่งนี้ไม่ได้สัดส่วน เพราะการเสียเวลาและโอกาสทางเศรษฐกิจต่อวันทีค่าสูงกว่านั้น

ส่วนเรื่องของความเสมอภาคเท่าเทียม หมายถึงการไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ให้คุณหรือไม่ให้โทษกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ ยกตัวอย่าง ถ้าบริเวณเดียวกันมีสถานที่สองแห่ง ที่หนึ่งถูกสั่งปิด แต่อีกที่หนึ่งมีลักษณะการใช้พื้นที่แบบเดียวกันแต่ไม่ถูกสั่งปิด นี่คือความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม” นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวอีกว่า การจะฝ่าฟันวิกฤติโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจไปได้ด้วยกัน จะต้องรักษาความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นระหว่างรัฐบาลกับประชาชนให้เข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้สังคมไทยก้าวผ่านเรื่องนี้ไปได้ด้วยความสามัคคี จะยึดหลักเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดรัฐบาลต้องทำให้เห็น แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในปี 2563 นั้น มาตรการต่างที่รัฐบาลออกมาดูเหมือนจะยังไม่เคร่งครัดบนหลักความได้สัดส่วนและความเท่าเทียมเป็นธรรม

เช่น กรณีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการสินค้าดิวตี้ฟรีในสนามบิน มาตรการนี้ออกมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการสินค้าปลอดภาษีในสนามบินได้รับการชดเชย ซึ่งมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันกว่าที่ประชาชนจะได้รับเงินเยียวยา ก็ตกไปเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนเข้าไปแล้ว

นอกจากนี้ การออกมาตรการในช่วงที่ผ่านมายังทำให้เห็นถึงความไม่เสมอภาค เช่น ในเขตปทุมวัน เราเห็นห้างสรรพสินค้าหลายห้างที่ยังได้รับอนุญาตให้เปิดบริการ แต่เราเห็นสถานศึกษาหลายแห่งถูกสั่งให้ปิดการเรียนการสอน ทั้งๆ ที่สถานที่ต่างๆ เหล่านี้อยู่ในบริเวณเดียวกัน

นอกจากนี้ การปิดโรงเรียน 28 จังหวัดยังทำให้เกิดผลกระทบกับนักเรียนถึง 4.4 ล้านคน เป็นอย่างที่พวกเราทราบกันดี ว่ากลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดที่ได้รับผลกระทบจากการปิดการเรียนการสอนนี้ คือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่จะทำให้โอกาสได้รับการศึกษา ในช่วงการเรียนออนไลน์ รวมทั้งกรณีในจังหวัดนครนายก ที่โรงเรียนและสถานศึกษาอื่นๆถูกสั่งให้ปิด แต่โรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าไม่ถูกสั่งปิด

นี่คือตัวอย่างว่าการที่เราไม่เลือกใช้นโยบายที่เคร่งครัดในหลักการเสมอภาค จะทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างประชาชนกับรัฐขึ้น รัฐต้องแสดงให้เห็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ รัฐคือประชาชน ประชาชนไม่ใช่ภาระของรัฐ ต้องไม่เลือกปฏิบัติ แต่การแพร่ระบาดของไวรัสในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดเลย ว่าเกิดจากการเลือกปฏิบัติทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในสนามมวย กรณีที่เกิดขึ้นจาก VIP อียิปต์ กรณีลูกทูต กรณีบ่อนการพนัน กรณีแรงงานที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เราอยากเห็นการทำงานของรัฐบาลในปี 2564 ที่ยึดหลักการความได้สัดส่วน และความเสมอภาคอย่างเคร่งครัด หวังว่าเราจะได้เห็นนโยบายและมาตรการต่างๆในปี 2564 เช่นนี้” นายธนาธร กล่าว

*จี้รัฐแจงให้ชัด เกณฑ์การแจกวัคซีนจะเป็นอย่างไรและใช้งบเท่าไหร่ – หวั่นอภิสิทธิ์ชนได้รับก่อน

นายธนาธร กล่าวว่า ก้าวต่อไปของประเทศไทยในปี 2564 ตนเห็นว่ามีโจทย์หลักๆ 5 ข้อ ซึ่งมาจากชุดปัญหาสองชุดด้วยกัน ชุดปัญหาแรก คือชุดปัญหาที่เกิดก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 3 ปัญหา นั่นคือ 1.ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในชีวิต 2. ปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ 3. ปัญหาเรื่องประชาธิปไตย ปัญหาทั้งสามเรื่องนี้ไม่ได้หายไป แต่ถูกทำให้รุนแรงมากขึ้นจากการเข้ามาของโควิด

ส่วนชุดปัญหาอีกชุดหนึ่ง ประกอบไปด้วยสองส่วน คือ 1. การจัดการวัคซีนที่เป็นธรรม และ 2. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ฉับพลัน สองปัญหานี้มาพร้อมกับโควิด ซึ่งการจะพาประเทศไทยไปต่อในปี 2564 ได้นั้น จำเป็นจะต้องเข้าใจถึงโจทย์เดิมที่มีมาก่อนทั้ง 3 ข้อ และโจทย์ที่เกิดขึ้นหลังโควิด 2 ข้อ และมาตรการที่จะทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ได้ ต้องประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน 1) มาตรการในระยะที่ต้องทำทันที 2) มาตรการระยะสั้นที่ต้องทำในปีนี้ และ 3) มาตรการระยะยาวที่ต้องเริ่มทำในปีนี้แต่หวังผลได้ในอีก 2-3 ปีหน้า (Now-Near-Far)

“เริ่มที่ปัญหาวัคซีน ตอนนี้ที่เป็นข่าวอยู่คือทางรัฐบาลได้ร่วมมือกับ Siam Bioscience และบริษัท AstraZeneca ในการจัดหาวัคซีนสำหรับคนไทยจำนวน 26 ล้าน dose 1 คนใช้ 2 dose เพียงพอสำหรับคน 13 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แผนนี้เราไม่เคยได้รับรู้รายละเอียดเลยว่าคนที่เหลือจะทำอย่างไร จะจัดสรรด้วยงบประมาณอย่างไร ที่จะทำให้คนได้วัคซีนอย่างถ้วนหน้าและเป็นธรรม

เมื่อตอนโควิดแพร่ระบาดใหม่ๆในปีที่แล้ว ทั้งคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลได้นำเสนอประเด็นนี้ไปแล้ว ว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ควรจะต้องตั้งเอาไว้เลย 6.7 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดสรรวัคซีนให้กับคนไทย จนเพียงพอที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นในประเทศ เสียดายที่รัฐบาลไม่เคยกันงบประมาณส่วนนี้ไว้ จนถึงวันนี้เราจึงยังไม่เคยเห็นว่ารัฐบาลจะมีตัวเลขประชากรเป้าหมายที่จะต้องได้รับวัคซีนเท่าไหร่ ใช้งบประมาณเท่าไหร่ จะไปหาจากบริษัทไหน และจะแจกจ่ายให้ประชาชนเมื่อไหร่ ตราบใดที่เรายังจัดการโจทย์นี้ไม่ได้ ไม่มีทางที่ประเทศและเศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปได้ ไม่มีทางที่ประชาชนจะอยู่ด้วยความมั่นใจ จะใช้ชีวิตเป็นปกติด้วยความสบายใจ

ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำทันทีคือสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้ ว่าวัคซีนในประเทศไทยจะเข้าถึงคนทุกคน จนทำให้เกิดภูมิต้านทานหมู่ขึ้นในประเทศไทยได้ เพราะประชาชนไม่ใช่ภาระของประเทศ ประชาชนคือประเทศ” นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญคือการจัดสรรต้องเป็นธรรมด้วย ถ้าเราไม่ตั้งเงื่อนไขกติกาให้ชัดเจนว่ากลุ่มคนกลุ่มใดควรจะได้ก่อน ถ้าไม่ตั้งกติกาให้ชัดเจน ตนเกรงว่าวัคซีนจะไปถึงมือคนที่มีเงินและมีอำนาจก่อน ผลการศึกษาในหลายประเทศบ่งบอกชัดว่าถ้าจะให้วัคซีนเกิดผลดีแก่ระบบเศรษฐกิจมากที่สุด ต้องทำการกระจายอย่างมีระบบ เพราะคนที่ไม่สามารถใช้ชีวิต work from home ได้คือคนที่เปราะบางในสังคม ต้องสัมผัสกับผู้คน คนเหล่านี้ต่างหากที่ควรจะต้องได้รับการดูแล

ดังนั้น นอกจากต้องตั้งงบประมาณใช้ชัดเจนและแหล่งที่มาให้ชัดเจนแล้ว จะต้องระบุด้วยว่ากลุ่มคนที่จะได้มีลำดับกติกาอย่างไร สิ่งที่ควรจะเป็นคืออันดับแรก บุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดอยู่ ควรเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่จะต้องได้รับวัคซีน กลุ่มที่สองคือกลุ่มทีมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตจากไวรัสมากที่สุด และกลุ่มที่สาม คือกลุ่มคนที่เปราะบางที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ เช่น คนที่ต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะและสังคม เราต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้เท่านั้น ประเทศไทยจึงจะผ่านปี 2564 ไปได้อย่างมีพลัง

*แนะดึงงบ 4 แสนล้านบาท จากเงินกู้ 1 ล้านล้าน มาแจกถ้วนหน้า 3 พันบาท 3 เดือน – ระยะยาวต้องเริ่มสร้างรัฐสวัสดิการ

นายธนาธร กล่าวต่อไปว่า ประการต่อมาจำเป็นที่เราจะต้องดูแลเรื่องความมั่นคงในชีวิตของประชาชน ในขณะที่ประชาชนกำลังดูแลกันเองอย่างเต็มกำลัง เพื่อทำให้การแพร่ระบาดของไวรัสอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ การเสียสละของประชาชนเป็นไปเพื่อส่วนรวม แต่กลับเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบและได้รับผลกระทบมากที่สุด

ดังนั้น เราจึงเสนอว่าการเยียวยาจะต้องไม่เป็นไปแบบเฉพาะกลุ่ม เราเสนอให้การเยียวยาเป็นไปอย่างถ้วนหน้า นั่นคือการเป็นรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าชั่วคราว (Temporary Universal Basic Income) 3,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน คิดเป็นวงเงิน 4 แสนล้านบาท งบประมาณในส่วนนี้ จากข้อมูลล่าสุดที่เรามีอยู่ เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ได้รับการอนุมัติมาจากสภา มีการอนุมัติโครงการได้แล้ว 4.9 แสนล้านบาท เราเสนอว่าจำนวนเงินที่เหลือ 4 แสนล้านบาทเอามาตั้งเป็นรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ส่วนที่เหลือกันไว้เพื่อนำไปซื้อวัคซีนสำหรับทุกคน

“ถ้าเป็นตามนี้ จะทำให้งบประมาณ 1 ล้านล้านบาทถูกใช้เต็มจำนวน หลายประเทศใช้วิธีนี้ คือแจกเงินถ้วนหน้าเพื่อดูแลประชาชน ซึ่งมีข้อดีคือการให้โอกาสประชาชนในการแก้ปัญหาชีวิตตามความจำเป็นของตัวเอง บางครัวเรือนมีปัญหาค่าเล่าเรียนของลูกหลาน บางครัวเรือนมีปัญหาค่าเช่าบ้าน บางครัวเรือนมีปัญหาเงินกู้ การมีกรอบที่ชัดเจนจะทำให้ประชาชนนำเงินไปใช้ในสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตของแต่ละคนและวางแผนชีวิตของตัวเองได้” นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวอีกว่า ข้อเสนอระยะต่อมา สิ่งที่ต้องทำในปีนี้ คือการเริ่มสร้างรัฐสวัสดิการ งบประมาณปี 2565 กำลังจะเกิดขึ้น แต่สวัสดิการในประเทศไทยทุกวันนี้ดูเหมือนรัฐให้เสียไม่ได้ ข้อเสนอของเราก็คือจากกรอบในปีงบประมาณ 2564 ที่มีการใช้งบประมาณไปกับสวัสดิการทั้งหมด 4.04 แสนล้านบาท เราเสนอให้มีการจัดสรรในปี 2565 เสียใหม่ เรามีงบปะมาณที่สามารถนำไปออกแบบจัดสรรได้ประมาณ 9 แสนล้านบาทในงบประมาณปี 2564 ซึ่งตนเชื่อว่าในงบประมาณปี 2565 ก็มีขนาดใกล้เคียงกัน

ดังนั้น ถ้า พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทใช้หมดไป เรายังมีประมาณ 9 แสนล้านบาทนี้อยู่ในปีงบประมาณ 2565 ที่จะนำมาออกแบบฟื้นฟูและเยียวยาประชาชนได้ เรายังมีเงินอีกก้อนที่อยู่กับ พ.ร.ก. Soft loan ซึ่งถูกใช้ไปเพียง 1.22 แสนล้านบาท จาก 5.5 แสนล้านบาท หรือ 22% เท่านั้น

 

*มองไกลไปข้างหน้า แนะเปลี่ยนปัญหาสังคมให้เป็นอุปสงค์-สร้างอุตสาหกรรมใหม่ เตรียมสังคมรับ technology transformation

นายธนาธร กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ปี 2564 นี้ รัฐจะต้องเป็นหัวหอกในการพาประเทศฝ่าพันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของพฤติกรรมผู้คนและเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งทำได้ด้วยการออกแบบบริการภาครัฐทั้งหมดให้อยู่บนโลกออนไลน์ และออกแบบมาตรการที่จะจูงใจให้ประชาชนหันไปใช้บริการทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดภาระในการเดินทางไปสถานที่ราชการ เตรียมประชากรเพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ไม่ช้าก็เร็วจะต้องเกิดขึ้น

ซึ่งโควิดได้เข้ามาเร่งกระบวนการนี้ให้เกิดขึ้นภายในปีเดียว และสุดท้าย คือการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ในระยะยาว ต้องเริ่มทำในปีนี้เพื่อหวังผลในอนาคต ต้องนำปัญหาของสังคมมาสร้างเป็นอุปสงค์ นำมาสร้างเป็นอุตสาหกรรม นำมาสร้างเทคโนโลยีและงานใหม่ๆ ในประเทศ

“ตั้งแต่ ปี 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยพึ่งพิงกับสองอุตสาหกรรมมากเกินไป นั่นคือรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอิ่มตัวแล้วและไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่ได้อีก ไม่สามารถเพิ่มการจ้างงานได้อีก และมีแนวโน้มที่การจ้างงานจะลดลงด้วยซ้ำ ที่สำคัญ คือเราต้องเลิกพึ่งพิงเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศได้แล้ว จากประสบการณ์ของหลายๆ ชาติ เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าประเทศจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปได้ ต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง

ดังนั้น ถ้าเราเอาความต้องการที่จะแก้ปัญหาสังคมภายในประเทศมาสร้างเป็นอุตสาหกรรมใหม่ได้ เราก็จะสามารถเพิ่มการจ้างงานในระบบได้ คนก็จะมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งทุกวันนี้นำเข้าเป็นส่วนใหญ่ หรือจะเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการคมนาคม เรามีบุคลากรที่มีพื้นฐานอุตสาหกรรมเพียงพอที่จะสร้างได้

และสุดท้าย คือเรื่องของการเตรียมตัวเยาวชนของเราให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะและเรื่องค่านิยม โดย ด้านทักษะ เช่น coding, automation ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องเริ่มบ่มเพาะตั้งแต่วันนี้ ส่วนค่านิยมที่จะมารองรับ ก็คือค่านิยมที่เปิดรับความหลากหลาย ไม่เลือกปฏิบัติ และค่านิยมที่รักและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพ” นายธนาธร กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน