ครูจุ๊ย เผย อีกกว่า 700 โรงเรียน ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์-อินเตอร์เน็ต แม้แต่ไฟฟ้า ก็ไม่มี ชี้ปัญหาที่แท้จริง มาจากประเด็นเรื่องที่ดิน จี้ กระทรวงศึกษาฯ-กระทรวงทรัพย์จัดการ

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด

เพิ่มเพื่อน

กรณีคลิปวิดิโอของยูทูบเบอร์ “พิมรี่พาย” ซึ่งเป็นที่พูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์จนขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์ โดยในคลิปพิมรี่พายนำเสนอว่าตนเดินทางไป บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อนำเงินส่วนตัวไปจัดทำแผงโซลาร์เซลล์และติดตั้งโทรทัศน์ในหมู่บ้าน จนผู้คนในโลกออนไลน์จำนวนมากต่างตกใจว่าในประเทศไทยยังมีพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้อยู่อีกหรือ? หลายคนยังตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบและการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลและในท้องถิ่นว่าเหตุใดไม่เคยดำเนินการ

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ “ครูจุ๊ย” กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า อธิบายหนึ่งในเหตุผลหลักและตอบคำถามที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมประเทศไทยยังมีโรงเรียนและหมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เป็นเพราะไฟฟ้าเข้าไม่ถึง-อยู่ในพื้นที่ห่างไกล-ไม่ได้รับการพัฒนา หรือเป็นเพราะเหตุใดกันแน่?

ครูจุ๊ย ชี้ว่าเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับ “ที่ดิน” ต่างหาก คือสิ่งที่สร้างปัญหาทางการศึกษารวมถึงเป็นตัวกำหนดสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะที่ประชาชนพึงได้รับด้วย เนื่องจากตลอดเวลาที่ได้เดินทางทำงาน เรียนรู้ปัญหา และพูดคุยกับผู้คนในแวดวงการศึกษามามากมาย พบว่าปัจจัยหนึ่งของการเข้าไม่ถึงการศึกษาคือปัญหาของตัวบทกฎหมายและระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน

สมมติว่า มีเด็กธรรมดาคนหนึ่งเกิดในชุมชนทางภาคเหนือของประเทศไทย แล้วอยู่มาวันหนึ่งเมื่อปี 2507 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ก็เกิดขึ้นจากคนออกกฎหมายของส่วนกลาง ส่งผลให้มีป่าสงวนแห่งชาติเกิดขึ้นใหม่ทั้งหมด 1,221 แห่ง

ส่วนพื้นที่อีกประเภทคือพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีประชาชนอยู่ในพื้นที่นี้ 4,265 หมู่บ้าน และชุมชนของครอบครัวของเด็กคนนั้นก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ประเภทนี้

กลายเป็นว่าทั้งชุมชน ครอบครัว และไม่ว่าใครก็ตาม จะไม่ได้รับอนุญาตให้ “เข้าทำประโยชน์” ใดๆ นั่นหมายรวมถึง “โรงเรียนและไฟฟ้า” บนพื้นที่เขตป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ในกำกับของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชด้วย

เด็กคนนั้นจึงไม่มีไฟฟ้าใช้และไม่มีโรงเรียน ต้องเดินทางไปโรงเรียนที่ใกล้ที่สุด ซึ่งบางครั้งอยู่ไกลออกไปกว่าหลายสิบกิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไปกลับวันละหลายชั่วโมง บนทางลูกรังที่จะกลายสภาพเป็นโคลนตมทันทีเมื่อฝนตก ยิ่งเพิ่มความลำบากในการเดินทางเข้าไปอีก เพราะเมื่อมีกฎหมายออกมา ก็ต้องมีการอนุญาตให้ “ใช้ประโยชน์” จากพื้นที่ได้ก่อน จึงจะทำได้ โรงเรียนของเด็กคนนั้นจึงต้องอยู่แบบตามมีตามเกิด ไฟที่ใช้จึงเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะติดตั้งง่าย ไม่ต้องขอไฟฟ้าตามระเบียบ

กระบวนการขออนุญาตมีขั้นตอนระบบรัฐราชการเยอะ ใช้เวลานาน ซับซ้อน และยากลำบาก ทั้งการตัดถนน เดินสายไฟฟ้า มีขั้นตอนทางกฎหมายและนโยบายมากมาย ด้วยอคติที่มองว่าคนในพื้นที่เหล่านั้นจ้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

แทนที่จะรับรองสิทธิการใช้ทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีชุมชน วัฒนธรรมประเพณี และส่งเสริมให้พวกเขาช่วยปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติรอบๆ ชุมชน กลับกลายเป็นทำให้เขาขาดแคลนทั้งอำนาจในการจัดการทรัพยากรและลดทอนโอกาสทางการศึกษาของเด็กๆ

แม้ว่าในปี 2536 มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติผ่อนผันให้ส่วนราชการที่ดำเนินการตามโครงการพระราชดำริและโครงการเพื่อความมั่นคง สามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าที่ขอ
อนุญาตได้เท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน จนกว่าจะได้รับอนุญาตตามระเบียบและกฎหมายที่ว่าด้วยป่าไม้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงและเป็นเพียงการอนุญาตชั่วคราวในบางพื้นที่เท่านั้น

น่าเศร้าที่เรื่องราวของเด็กคนนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องสมมติ แต่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับเด็กในกว่า 700 โรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศไทยที่ยังขาดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้ง ไฟฟ้า สัญญาณโทรศัพท์ และสัญญาณอินเตอร์เน็ต!

จากการสำรวจของ สพฐ. เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 พบว่ามีโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในเขตป่าสงวน :

14 โรงเรียน ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต
291 โรงเรียน ประสบปัญหาสัญญาณโทรศัพท์ (ในจำนวนนี้มี 160 โรงเรียน ไม่มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อได้เลย)
และอีก 415 โรงเรียน ไม่มีไฟฟ้าใช้ และในโรงเรียนเหล่านี้ เด็กๆ ใช้ชีวิตกันแบบไหน?

ครูจุ๊ย ยกตัวอย่างโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตรอยต่อจังหวัดสุพรรณบุรี และนครปฐมที่เคยเดินทางไป แม้ว่าจะห่างจากเมืองหลวงเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่สิ่งที่พบคือ…
.
-โครงสร้างโรงเรียนทำกันเองในหมู่บ้าน
– ซื้อน้ำมันเพื่อปั่นไฟใช้
– สัญญาณโทรศัพท์ต้องเดินออกไปหาตามจุดที่มีเสาสัญญาณ
– ใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ 3 ชั่วโมงเพื่อเข้าไปในตัวเมือง และถ้าเข้าช่วงฤดูฝนการเดินทางจะเลวร้ายกว่านี้มาก

ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐต้องจัดการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงปัจจัยการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ไม่ต้องรอรับบริจาค ไม่ต้องให้มีคนมาช่วยเหลือ ไม่ต้องใช้ชีวิตไปวันๆ แค่พอได้อาหารกินอิ่มท้องให้วันวันหนึ่งหมดไป เพราะนั่นไม่ใช่ชีวิตที่มีคุณภาพ

รัฐมีหน้าที่รับฟังประชาชนและแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ สภาผู้แทนราษฎรและหน่วยงานราชการต้องมีประสิทธิภาพกว่านี้ พื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่ป่าอนุรักษ์ย่อมมีชุมชนที่อยู่กับป่าอยู่แล้ว ปัจจุบันแค่การสำรวจข้อมูลพื้นฐานก็ยังไม่เพียงพอ และจนปัจจุบันก็ยังไม่มีการสำรวจเชิงคุณภาพใดๆ เลย

ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 อย่างนี้ มีการประกาศให้เรียนที่บ้าน ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าคุณภาพการศึกษาที่ต้องเรียนออนไลน์-เรียนผ่านทางไกลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้ายังมีโรงเรียนที่มีสภาพเช่นนี้อยู่? ถ้ายังไม่แก้กฎหมายและระเบียบต่างๆ อย่างจริงจังมากกว่าแค่การอนุญาตและยกเว้นเป็นกรณีๆ ไป?

กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถผลักดันให้เกิดการจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบโดยตั้งเป้าหมายชัดเจน อาทิ ภายในปี 2565 จะมีโรงเรียนกี่โรงเรียนที่มีไฟฟ้าใช้ ได้สัญญาณอินเตอร์เน็ต

การช่วยเหลือในฐานะปัจเจกชนเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าให้ดีไปกว่านั้นปัจเจกชนไม่จำเป็นต้องทำเอง เพราะหน่วยงานองค์กรทางการของรัฐสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ตั้งแต่ต้น ทั้งทางด้านการจัดสรรงบประมาณและข้อกฎหมายที่เป็นปัญหา

ถ้าไม่ผลักดัน การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรมจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเสียงของพวกเขายังดังไม่พอ พวกเราที่พอจะมีกำลังต้องช่วยกันสะท้อนเสียงของพวกเขาให้ดังขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน