‘หมอเลี้ยบ-บรรยง’ ร่วมอาลัย ‘ฐากูร บุนปาน’ ผู้ยึดมั่น การรับใช้เพื่อนมนุษย์ คือความรื่นรมย์ ยกเป็นนักกวีที่คมคาย พร้อมแต่งบทกลอนร่วมอาลัย

วันนี้ (13 ม.ค.) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้ก่อตั้งกลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ร่วมอาลัยการจากไปของ “ฐากูร บุนปาน” รองประธานเครือมติชน ซึ่งเสียชีวิตอย่างสงบ เมื่อเวลา 13.55 น.วันที่ 12 ม.ค. ที่บ้านพัก ด้วยวัย 59 ปี หลังจากล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่ปี 2562 โดยระบุว่า

ฐากูร ฐากูร

ผู้น่านับถือชื่อ ฐากูร

……………………….

เมื่อฉันนอนหลับ ฉันฝันว่าชีวิตคือความรื่นรมย์

เมื่อฉันตื่นขึ้น ฉันพบว่าชีวิตคือการรับใช้

เมื่อฉันลงมือทำ ฉันประจักษ์ว่าการรับใช้คือความรื่นรมย์

– รพินทรนาถ ฐากูร

ผมไม่ค่อยได้พบเห็นคนชื่อ ฐากูร

ฐากูรแรกที่ผมรู้จักคือ รพินทรนาถ ฐากูร นักคิด นักเขียน กวี ชาวอินเดีย ผู้รจนาหนังสือ “คีตาญชลี” ที่ได้รับรางวัลโนเบล

ผมเคยสงสัยว่า ฐากูร แปลว่า อะไร

เมื่อค้นคว้า พบว่า ฐากูร หมายถึง “รูปเคารพ ผู้ที่น่านับถือ หรือใช้เสริมท้ายคนที่มีชื่อเสียง”

ผมจึงขอใช้คำ “ฐากูร” เสริมท้ายชื่อ คุณฐากูร บุนปาน เพราะคุณฐากูรเป็นผู้ที่น่านับถือ

คุณฐากูร บุนปาน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 เวลา 13.55 น.

กว่า 60 ปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสพบปะพูดคุยกับคุณโต้ง ฐากูร บุนปานเพียง 6 ครั้งในช่วง 3 ปี หลังนี้เอง แต่ผมได้อ่านความคิดของคุณฐากูรผ่านข้อเขียนและบทกวีมาตลอด 3 ทศวรรษ

จากร้อยแก้วร้อยกรองที่ได้อ่าน ทำให้ผมนับถือในความงดงามของจิตใจ ความเฉลียวฉลาดที่ก้าวทันโลก และเจตจำนงประชาธิปไตยของคุณฐากูร

ผมนับถือยิ่งขึ้นอีกเมื่อได้ฟังคำบอกเล่าจากมิตรสหายที่รู้จักตัวตนของคุณฐากูรผ่านการทำงานร่วมกันมาเกือบ 40 ปีว่า สิ่งที่คุณฐากูรเขียนและสิ่งที่คุณฐากูรทำไม่แตกต่างผิดเพี้ยนกันเลยแม้แต่น้อย

จริยธรรมแห่งวิชาชีพและวัตรปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ของคุณฐากูรไม่มีอะไรด่างพร้อย ซึ่งหาได้ยากยิ่ง

แม้แต่ช่วงสุดท้ายก่อนจากไกล คุณฐากูรยังเตรียมตัวเดินทางอย่างมีสติและสงบสว่าง

ผมภูมิใจที่ได้อยู่ร่วมยุคสมัยกับ “ฐากูร ฐากูร” ผู้ยึดมั่นว่า การรับใช้เพื่อนมนุษย์คือความรื่นรมย์

ต่อมา นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร และ อดีตคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความอาลัยเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า อาลัยฐากูร บุนปาน…น้องชายที่น่านับถือ ………12มกราคม 2564

ผมรู้จักโต้งมาตั้งแต่เขายังเป็นนักข่าวหนุ่มน้อยไฟแรง เมื่อกว่าสามสิบห้าปีก่อน เพราะผมได้รับมอบหมายให้ก่อร่างสร้างฝ่ายและธุรกิจ Investment Banking (วานิชธนกิจ) ของ บงล.ภัทรธนกิจ ในปี 2529 ขณะที่โต้งที่ถึงจะจบรัฐศาสตร์แต่ได้รับมอบหมายให้ทำข่าวการเงิน และเศรษฐกิจให้กับประชาชาติ

ด้วยความที่เป็นผู้ใฝ่รู้และรับผิดชอบของโต้ง ทำให้โต้งมีแหล่งข่าวที่กว้างขวางมาก โต้งรู้จักคุ้นเคยกับนักการเมือง ข้าราชการและนักธุรกิจที่สำคัญแทบทุกคนในประเทศไทย เขาจะตระเวนไปพบปะพูดคุยกับผู้คนในวงการอย่างทั่วถ้วนสมทำเสมอ มีผลงานข่าวเศรษฐกิจที่โดดเด่น เรียกได้ว่าเป็นนักข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้นก็ว่าได้

การได้รู้จักคุ้นเคยกับโต้ง นอกจากจะเป็นปมเขื่องสำหรับนักการเงินตัวเล็กๆอย่างผมในเวลานั้นแล้ว ยังสร้างประโยชน์ให้กับผมเป็นอย่างมากเพราะนอกจากจะได้รู้ถึงข่าวสารความเคลื่อนไหวในวงการ(เท่าที่เขาจะเล่าให้ฟังได้โดยไม่ผิดหลักการ…เพราะถ้าเรื่องอะไรเขาบอกว่าบอกไม่ได้ ผมก็จะไม่เซ้าซี้) ยังทำให้เข้าใจถึงโครงสร้างและโครงข่ายความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจและธุรกิจไทย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยทีเดียว ในระบบทุนนิยมพรรคพวกของไทย

ประโยชน์สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ได้จากความสนิทสนมกับโต้ง ก็คือ ถ้าใครรู้จักโต้งวัยหนุ่ม จะจำได้ว่าเจอโต้งที่ไหนก็ต้องเห็นเขามีนิตยสาร”ดิอีโคโนมิสต์”ติดตัวอยู่ตลอด ผมยังเคยแซวโต้งเลยว่า”เอ็งถือไว้เป็นพร็อพให้ดูเท่เหรอวะ” ซึ่งโต้งก็บอกว่า “เปล่าพี่ ผมอ่านจริงๆ มันเป็นนิตยสารที่ดีที่สุดในโลก อ่านแล้วเปิดโลกทัศน์ เล่มเดียวพอ รู้ทุกอย่างในโลก”

ซึ่งนั่นก็เลยทำให้ผมเป็นสมาชิดนิตยสารนี้ไปด้วย เปิดโลกมหาศาล ผมยังเคยพูดเล่นกับโต้งเลยว่าน่าจะบังคับในรัฐธรรมนูญให้นายกทุกคนต้องอ่านดิอีโคโนมิสต์ (ถ้าจำไม่ผิด โต้งเล่าว่าคุณธารินทร์ นิมมานเหมินทร์เป็นคนแนะนำให้โต้งอ่าน) โต้งเป็นมิตรที่ดียิ่งกับผมมาตลอด ถึงแม้จะมีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง ถึงกับเคยต้องโต้เถียงกันก็มี แต่ต่างก็เคารพในจุดยืนในความแตกต่าง และเชื่อมั่นในเจตนาที่ดีของอีกฝ่ายตลอดมา

เหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อ บริษัท GMM GRAMMY ที่ผมเป็นกรรมการอยู่ได้พยายามเข้าครอบงำกิจการ ของเครือมติชนอย่างไม่เป็นมิตร (ด้วยความเข้าใจผิด) แล้วเกิดเหตุวิวาทกันใหญ่โต ผมถูกขอให้เป็นคนกลางจัดให้มีการเจรจาที่ห้องทำงานผม โดยโต้งเป็นตัวแทนของเครือมติชน และมีคุณถั่ว สุเมธ ดำรงชัยธรรม CFO ของแกรมมี่ เป็นตัวแทนอีกฝ่าย ซึ่งเหตุการณ์ก็จบลงด้วยดี แกรมมี่ยอมถอยลดสัดส่วนการถือหุ้นลง เป็นมิตรกันเหมือนเดิม

ตอนต้นปี 2562 ผมป่วยหนักนอนอยู่โรงพยาบาลเดือนครึ่ง โต้งโทรเข้ามาเยี่ยม แล้วบอกว่า”ผมก็ป่วยเหมือนกัน เจอมะเร็งในหลอดอาหาร กำลังให้คีโมอยู่ คงต้องเยี่ยมทางโทรศัพท์นะพี่” หลังจากนั้นทราบว่าโต้งดีขึ้น มาทำงานได้ ผมเลยนัดทานข้าวกันครั้งหนึ่งพูดคุยถึงเรื่องเก่ากัน โต้งเป็นกวีที่คมคายมาก เขียนโคลงกลอนได้อย่างเฉียบคม ใช้คำได้ดีมากๆ ได้เคยเขียน ให้ผมถึงสองครั้ง เมื่อคราวแซยิดและปีใหม่ครั้งหนึ่ง

ในวาระนี้ ผมจึงขอแต่งโคลงให้โต้งสักบทหนึ่งเพื่อเป็นการระลึกถึงมิตรภาพที่ดีที่มีมายาวนานของเรา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน