เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบข้อเสนอแนะต่อร่างมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. … ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเสนอ ที่มีการพิจารณาร่วมกับกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อปรับแก้หลักการและถ้อยคำในร่างดังกล่าวที่เคยเสนอต่อครม.ก่อนหน้านี้ เนื่องจากร่างเดิมจะทำให้ตีความได้กว้างเกินไป จนอาจเกิดปัญหาในการบังคับใช้กับสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการบริหารพรรคการเมือง และครม.ในอนาคต เช่น ประเด็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอิสระเป็นกลางไม่หวั่นไหวต่อกระแสสังคม เพราะโดยธรรมชาติจะนำมาใช้กับองค์กรทางการเมืองไม่ได้ จึงมีการให้พิจารณาถ้อยคำที่ผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น เช่น ใช้คำว่าตามความเหมาะสมแห่งสถานภาพ เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอแนะให้เพิ่มข้อความบางอย่าง เช่น เรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลชนอย่างถูกต้องครบถ้วน และไม่บิดเบือน ซึ่งจะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาปรับแก้ร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไป

ด้านพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการเขียนร่างดังกล่าว เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 219 ได้กำหนดไว้ และเมื่อแต่ละองค์กรได้ร่างมาตรฐานจริยธรรมของตัวเองเสร็จแล้ว ต้องส่งให้หน่วยงานต่างๆที่จะถูกบังคับใช้ในอนาคตว่ามีข้อเสนอแนะและความคิดเห็นอย่างไร โดยหน่วยงานที่ถูกบังคับใช้สามารถกำหนดความเข้มข้นของจริยธรรมให้เพิ่มขึ้นจากที่ร่างมาได้ แต่จะเสนอแนะให้มาตรฐานทางจริยธรรมน้อยกว่าหรือขัดแย้งกับร่างดังกล่าวไม่ได้

ครม.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าสถานภาพและปัจจัยในการทำงานของศาลร่วมถึงองค์กรอิสระ ส.ส. ส.ว.และครม.ล้วนมีปัจจัยแตกต่างกัน เช่น ร่างดังกล่าวกำหนดไม่ให้รับของที่มีผู้ให้โดยธรรมจรรยา ซึ่งให้ในงานสำคัญตามประเพณี เช่น วันเกิดหรือวันครบรอบแต่งงาน แต่กฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดเรื่องนี้ว่ารับได้แต่มูลค่าต้องไม่เกิน 3,000 บาท
ดังนั้นเวลาครม.ลงพื้นที่มีคนเอาผ้าขาวม้ามาผูกเอว หรือนำกระเช้ามาให้แม้ราคาไม่ถึง 3,000 บาท ถือว่าขัดกับร่างดังกล่าว จึงเกรงว่าในวันข้างหน้าถ้าปล่อยไปแบบนี้อาจทำให้มีการร้องเพื่อให้พ้นสภาพ นายกฯจึงมอบให้นายวิษณุไปพิจารณาศึกษาและนำข้อสรุปเสนอต่อครม.จนมีการเห็นชอบว่ามีอะไรบ้างที่สามารถปฏิบัติได้หรือครม.ควรมีข้อสังเกตอย่างไร เพื่อส่งให้ศาลและองค์กรอิสระไปพิจารณาปรับแก้ไขร่างดังกล่าวต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน