ย้อนปรากฎการณ์ พรรคไทยรักไทย ชนะเลือกตั้งเด็ดขาด “ทักษิณ ชินวัตร” ตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 377 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ประชาธิปไตยของไทย ผ่านการล้มลุกคลุกคลานมาอย่างตลอดต่อเนื่อง ทั้งห้วงเวลาที่ประชาชนได้ใช้สิทธิ์กำหนดอนาคตของตัวเองผ่านการเลือกตั้ง ห้วงเวลาที่ถูกยึดอำนาจอย่างการรัฐประหาร และ มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมากกว่า 10 ครั้ง/ฉบับ

และห้วงเวลาที่ภาคประชาชนต่อสู้และชุมนุมทางการเมือง เช่น 14 ตุลาคม 2516 , 6 ตุลาคม 2519 , พฤษภาทมิฬ และช่วงเวลาที่สำคัญ ที่เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตความขัดแย้งต่อเนื่องเกือบ 20 ปี คือการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร กลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่ม กปปส. รวมไปถึงกลุ่มราษฎรในปัจจุบัน เป็นต้น

หากย้อนไปเมื่อประมาณ 16 ปีที่แล้วในวันนี้ คืออีกวันหนึ่ง ที่เป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทย 6 กุมภาพันธ์ 2548 มีการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 21 ถือเป็นการลงสนามครั้งที่ 2 ของพรรคไทยรักไทย หลังบริหารประเทศเป็นรัฐบาลครบวาระ 4 ปีครั้งแรก หลังชนะการเลือกตั้งครั้งที่ 20 เมื่อ 6 มกราคม 2544 ด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 248 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง

โดยผลการเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้ง เป็นเสียงข้างมากในสภา ด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 377 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง เกินกึ่งหนึ่งคือ 250 ที่นั่ง คิดเป็นคะแนนเสียงกว่า 18,993,073 คะแนน ส่งผลให้สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวสำเร็จ เอาชนะคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพียง 96 ที่นั่ง 7,210,742 คะแนน และนี่คือ “ครั้งแรก” ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีพรรคการเมืองชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายขนาดนี้

พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ตั้งข้อสังเกตุถึงการชนะการเลือกตั้งดังกล่าวของ “ไทยรักไทย” ระบุ ความน่าสนใจของการเลือกตั้งครั้งนั้น ยังมีหลายมิติ อาทิ การได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง 2 ครั้งติดต่อกัน และเสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้น

แต่ถึงกระนั้น “ทักษิณ ชินวัตร” ก็ไม่สามารถรักษาชัยชนะในครั้งที่ 2 นี้ไว้ได้จนครบวาระ อย่างที่วาดหวังไว้ได้ และถึงแม้ว่าพรรคไทยรักไทย จะมีเสถียรภาพทางการเมืองจนฝ่ายค้านไม่สามารถยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับปี 2540) มาตรา 185

เขากลับพบกับแรงต้านในสภาและการชุมนุมนอกสภาจาก กรณีที่บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขายหุ้นให้กองทุนเทมาเส็กของรัฐบาลสิงคโปร์เป็นเงิน 73,300 ล้านบาท ในเดือนมกราคม 2559 ส่งผลให้รัฐบาลพรรคเดียวนี้ บริหารประเทศได้เพียง 11 เดือน และตัดสินใจยุบสภาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 จนมีการเลือกตั้งครั้งถัดไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการบอยคอตการเลือกตั้งจากฝ่ายค้าน มีการชุมนุมต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ซึ่งหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 แต่สุดท้ายทุกอย่างก็หยุดลง เมื่อมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และนำไปสู่การยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี โดยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ถือเป็นการปิดตำนานพรรคการเมืองแรกที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคมากที่สุดในประเทศไทย กว่า 14 ล้านคน ได้ในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน