ส่องแนวคิด ชัชชาติ ที่ถูกพูดถึงซ้ำๆมา 7 ปี สมัยนั่งเก้าอี้ รมว.คมนาคม ในการสร้างอนาคตไทย แต่คำพิพากษาจากศาลรัฐธรรมนูญ ได้ดับฝันนโยบายดังกล่าว

อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศ กรณีวันที่ 12 มี.ค.2557 ศาลรัฐธรรมนูญ มติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าร่างกฎหมายตราขึ้นไม่ถูกต้อง ขัดวินัยการเงินการคลัง และไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกู้

คำพิพากษาดังกล่าว ดับฝันนโยบายพรรคเพื่อไทย ที่เป็นรัฐบาลขณะนั้น จากความฝันที่จะผลักดันให้ภายในปี 2020 ไทยจะมีรถไฟความเร็วสูงทุกภาค รถไฟฟ้าครอบคลุม มีรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ในขณะนั้น ได้โพสต์ข้อความสรุปประเด็นนโยบายที่รัฐบาลเตรียมผลักดันจากการใช้เงิน 2 ล้านล้าน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด แม้จะถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าโครงการดังกล่าวขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่ในทุกวันที่ 11 มี.ค.จะมีการระลึกถึงความเห็นดังกล่าว พร้อมกับแชร์สเตตัสของ นายชัชชาติ ซ้ำๆ จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว

สำหรับโครงการของ นายชัชชาติ เล่ารายระเอียดไว้ดังนี้

สร้างอนาคตไทย 2020 พลิกโฉมประเทศอย่างไร ผมขออธิบายรายละเอียดโครงการต่างๆ ในแต่ละยุทธศาสตร์ที่กระทรวงคมนาคมเตรียมไว้ ซึ่งมีดังนี้ครับ

– รถไฟความเร็วสูง 783,553 ล้านบาท คิดเป็น 39.2%
– รถไฟฟ้า 456,662 ล้านบาท คิดเป็น 22.8%
– ถนนทางหลวง 241,080 ล้านบาท คิดเป็น 12.1%
– ถนนทางหลวงชนบท 34,309 ล้านบาท คิดเป็น 1.7%
– สถานีขนส่งสินค้า 14,093 ล้านบาท คิดเป็น 0.7%
– ท่าเรือ 29,581 ล้านบาท คิดเป็น 1.5%
– ด่านศุลกากร 12,545 ล้านบาท คิดเป็น 0.6%
– ปรับปรุงระบบรถไฟ (เพิ่มเครื่องกั้น ซ่อมบำรุงรางที่เสียหาย) 23,236 ล้านบาท คิดเป็น 1.2%
– รถไฟทางคู่และทางคู่เส้นทางใหม่ 383,891 ล้านบาท คิดเป็น 19.2%
– ค่าสำรองเผื่อฉุกเฉิน (ความผันผวนราคาวัสดุ การติดตามและประเมินผล) 21,050 ล้านบาท คิดเป็น 1.0%

จะเห็นได้ว่าโครงการในพ.ร.บ.สร้างอนาคตประเทศนี้ ไม่ได้มีแต่เรื่องรถไฟความเร็วสูง แต่มีทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในกทม. ถนนสี่เลน ด่านศุลกากร ศูนย์กระจายสินค้า มอเตอร์เวย์ บูรณะถนนสายหลัก ถนนเชื่อมประตูการค้า ท่าเรือ สะพานข้ามทางรถไฟ โดยกระจายอยู่ในทุกๆ ด้าน และ อยู่ในทั่วทุกภูมิภาค ตามความจำเป็นและยุทธศาสตร์ของประเทศ

โครงการเหล่านี้ ไม่ได้คิดขึ้นมาลอยๆ แต่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) หัวข้อ 5.3.4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ในการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การพัฒนาระบบขนส่งทางรถไฟ การปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมขนส่งในเมือง

และเป็นไปตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ทั้งในส่วนของโครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้าในกทมและปริมณฑล โครงการท่าเรือฝั่งทะเลอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซึ่งการเสนอโครงการต่างๆ ในพ.ร.บ.นี้ เป็นการปฏิบัติตามนโยบายโครงสร้างพื้นฐานที่ได้แถลงเป็นพันธสัญญากับรัฐสภา อย่างครบถ้วน

สำหรับสิ่งที่จะได้จากโครงการนี้ ที่รัฐบาลคาดหวังไว้คือ

1.ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ลดลงจากปัจจุบัน (ที่ 15.2%) ไม่น้อยกว่า 2%
2.สัดส่วนผู้เดินทางระหว่างจังหวัดโดยรถยนต์ส่วนบุคคล ลดลงจาก 59% เหลือ 40%
3.ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟขนส่งสินค้า เพิ่มขึ้นจาก 39 กม./ชม. เป็น 60 กม./ชม. และขบวนรถโดยสาร เพิ่มขึ้นจาก 60 กม./ชม. เป็น 100 กม./ชม.
4.สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางราง เพิ่มขึ้นจาก 2.5% เป็น 5%
5.สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำ เพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 18%
6.ความสูญเสียจากน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท/ปี
7.สัดส่วนการเดินทางโดยรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 30%
8.ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านเข้า-ออก ณ ด่านการค้าชายแดนที่สำคัญ เพิ่มขึ้น 5%
9.ปริมาณผู้โดยสารรถไฟ เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคน/เที่ยว/ปี เป็น 75 ล้านคน/เที่ยว/ปี
10.ลดระยะเวลาการเดินทางจาก กทม.ไปยังเมืองภูมิภาค ด้วยรถไฟความเร็วสูงภายในรัศมี 300 กม. รอบกรุงเทพมหานคร ในระยะเวลาไม่เกิน 90 นาที จากเดิมที่ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 3 ชั่วโมง

ปัจจุบัน นายชัชชาติ ยังคงมีบทบาททางการเมืองจากการประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โดยลงพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อเตียมรับการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นช่วงปลายปีนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน