‘ทักษิณ’ ตอบกรณี เรือนจำคุมตัวแกนนำราษฎร ไปตรวจโควิดกลางดึก เป็นเรื่องไม่ปกติ ลั่น ระบบยุติธรรมไทยมีปัญหา ลั่น โลกนี้กว้างใหญ่กว่าค่ายทหาร

วานนี้ (16 มี.ค.) เมื่อเวลา 20.00 น. กลุ่ม CARE จัด Clubhouse โดยมีแขกรับเชิญพิเศษคือ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมตรี โดยการปรากฏตัวใน Clbehouse ของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ใช้ชื่อว่า Tony Woodsome ครั้งนี้นับเป็น ครั้งที่ 3 หลังจากครั้งแรกเมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา วันนี้เป็นการจัดรายการสัมภาษณ์สดในหัวข้อศิลปะการเจรจาระหว่างประเทศ เริ่มดำเนินรายการตั้งแต่เวลา 20.00 น.

ช่วงหนึ่งซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปซักถาม พชร ธรรมมล หรือ ฟลุ๊ค เดอะสตาร์ ยกมือตั้งคำถามถึงกรณีแกนนำกลุ่มราษฎรเปิดเผยว่าเกิดเหตุการณ์ผิดปกติหลายอย่างในกระบวนการคุมขัง เช่น มีการจะนำตัวผู้ถูกกล่าวหาไปตรวจโควิดยามวิกาล การไม่ให้ประกันตัวหลายครั้ง รวมถึงการใช้ความรุนแรงที่เกินสัดส่วนความจำเป็นต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง ถามว่าสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรงหรือไม่ และสิ่งเหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อความเชื่อมั่นของนานาชาติที่มองเข้ามายังประเทศไทย

ทักษิณ ตอบว่า การตรวจโควิดเที่ยงคืนเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะแดนนักโทษประหารชีวิต หกโมงเย็นเขาไม่ยุ่งแล้ว คนป่วยจะตายยังรอแปดโมงเช้า ต่อมาระบบสากลเขาใช้ระบบ adversary system (เรียกว่าระบบปฏิปักษ์) พยานทั้งสองฝ่ายต้องมาสู้กันหน้าศาลเพื่อดูว่าใครพูดอะไร และ “Presume innocence before proven guilty” (ต้องมีการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิด)

นายทักษิณ มองว่า หลังจากมีอำนาจเผด็จการ เราเริ่มหมุนตัวเองไปสู่ adjucatory system (ระบบกล่าวหา) คือ “Presume guilty before proven innocence” (ยอมรับผิดก่อนพิสูจน์ความบริสุทธ์) ซึ่งตามหลักสากลมันใช้ไม่ได้ ซึ่งหากเราไม่มีหลักสากล ใครจะมาคบและลงทุนกับเรา เราต้องคิดระยะยาว ต้องมีกติกาที่เป็นสากล เราเป็นประเทศศิวิไลซ์ ไม่ใช่ประเทศหลังเขา สิ่งที่ขึ้นเมื่อคืนจะไม่เกิดขึ้น

ถ้ายึดหลัก ควรได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่านี้ ได้ประกันตัว ต้องยึดหลักการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ภายใต้กฎหมายที่ยุติธรรม ยุคนี้คนมันคิดเป็น โซเชียลมีเดียมันมีหลักฐาน ผ่านไป 10 ปี ก็ค้นเจอ เมื่อค้นเจอแล้วถามว่า เราตายล่วงลับไปแล้ว สิ่งที่ทำไปมันถูกไหม ลูกหลานจะคิดอย่างไร? ต้องมองไกล อย่ามองใกล้ โลกทั้งโลกไม่ได้เท่าค่ายทหาร เพราะฉะนั้นทำอะไรก็ดูตามหลักสากลเขาด้วย ถ้าโลกเขาไม่ยอมรับ จะทำอะไร เจรจาอะไรมันก็ลำบาก

ต่อมา เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถามว่า ถ้ามีผู้นำจากต่างชาติสนใจเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญในไทย พรุ่งนี้มีพิจารณาวาระ 3 เห็นว่าอย่างไร

นายทักษิณ ได้ตอบว่า ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ที่กำลังเกิดขึ้น และกำลังจะมีวาระ 3 ไม่มีการแก้หมวด 1 หมวด 2 ไม่ได้แก้ทั้งฉบับ ตนถือว่าเป็น Judicial Overreach (ศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงในอำนาจของนิติบัญญัติ) ไปแล้ว ถ้าวาระ 3 ควรจะโหวตทำประชามติได้ เพราะไม่ได้มีการแตะหมวด 1-2 แต่วันนี้มีการให้นักกฎหมายมาตีความว่าโหวตไม่ได้ เหตุผลหนึ่ง ตีความตามเนื้อหากฎหมายที่แท้จริง สอง ตีความตามอคติของตัวเอง สาม ตีความตามธง ตามกฎหมายมันเป็น judicial overreach

ทักษิณ ยังตอบคำถามที่ว่าในปัจจุบันศาล อัยการ สิทธิเยาวชน ประชาชนถูกลิดรอน ไม่ได้สิทธิเท่าเทียมกัน จะเจรจาองค์กรประเทศมาช่วยตรงนี้อย่างไร ว่า มันเป็นหน้าที่ของเราเอง ในต่างประเทศเขาก็มีหน้าที่ของเขาที่หนักหนาอยู่ ประเทศเราโดยเฉพาะรัฐบาล องค์กรที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน ควรดูแลเยาวชน วันนี้เยาวชนยังมืดมน เด็กคิดแล้วว่าจะเอาอย่างไรกับอนาคตของตัวเอง และมีเรื่องสิทธิเสรีภาพอีก

ยังมีคำถามว่าประเทศเราเหมือน 2 ประเทศ ทักษิณ กล่าวว่า มันต้องมีใจเจรจา ถ้าไม่มีใจ ก็ตั้งแง่ใส่กัน มันเป็นไปไม่ได้ คือถ้าบอกเป็นคนไทยด้วยกัน เรารักคนไทย และหมดความขัดแย้งก็คุยกัน ใจมันต้องไป คือสำคัญที่ใจ ถ้าใจมันไม่ไปคุยกันไม่เป็นประโยชน์ ตนคิดว่าเรื่องราวจบไปกันได้ แต่ก็ยังยุแหย่กัน สมมติว่าร่างกาย มือซ้ายไม่ถูกกับมือขวา จะยกของได้หรือ ดังนั้นซ้ายกับขวาต้องสามัคคี มันถึงจะสู้เขาได้

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน