ชัชชาติ ถาม เกิดอะไรขึ้น หลังเกมเมอร์ดัง ป่วยโควิดดับ ไร้รถพยาบาลมารับ จนวิกฤต ชงทางแก้ 5 ข้อเสนอ จัดการให้เป็นระบบ ให้กำลังใจบุคลากรแพทย์

จากกรณีชายหนุ่มคนหนึ่ง ไลฟ์เฟซบุ๊ก บอกเล่าอาการป่วยของตัวเอง และสงสัยว่าจะติดโควิด เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา เนื่องจากไปอยู่ใกล้กับคนป่วยรายหนึ่ง ก่อนที่เขาจะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ทว่าเขาได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ก่อนเสียชีวิต ชายหนุ่มรายนี้ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยว่าเขาไม่สามารถติดต่อโรงพยาบาลได้ สายด่วนก็ไม่รับสาย มีอาการแสบคอ ตัวร้อน เดินไปห้องน้ำยังไม่ไหว อยากให้คนที่รู้จักในเฟซบุ๊กที่พอรู้ช่องทางและสามารถพาไปตรวจได้ขอรบกวนหน่อย พยายามไหวมาหลายวันแล้ว

ต่อมา มีการเปิดเผยว่า ชายคนดังกล่าวคือ กุลทรัพย์ วัฒนผล เกมเมอร์ชื่อดัง ซึ่งอย่างไรก็ตาม วันที่ 23 เม.ย. เฟซบุ๊กของเขาได้แจ้งข่าวการเสียชีวิตของเจ้าตัว โดยมีผู้โพสต์แทน ระบุว่า พี่เขาไปสบายเเล้วนะคะ ก่อนไป ICU มันเพิ่งหันหน้ามาถามว่าอยู่คนเดียวเหงาไหม เดี๋ยวกูรีบกลับมา เเต่เขาก็ไม่มีโอกาสได้กลับมาเเล้ว เขาไม่อยากตาย เขาโทรหาหน่วยงานทุกหน่วยเพื่อให้ได้รอดชีวิต เพราะเหนื่อยมาก เเล้วก็ที่ตรวจโควิดเเถวบ้านไม่มี มีก็ไกลเลย

ล่าสุด ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นักการเมืองอิสระ อดีตแคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของ “พี่อัพ VGB” กุลทรัพย์ วัฒนผล ผมไม่ได้รู้จักคุณอัพเป็นการส่วนตัว แต่น้องในทีมงานมีความคุ้นเคยและเล่าเรื่องคุณอัพให้ฟัง อ่าน FB ของคุณอัพแล้วเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากๆ และเราได้ยินเรื่องราวที่ไม่น่าจะเกิดแบบนี้หลายๆครั้งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้

มันเกิดอะไรขึ้น?

สถานการณ์โควิดของ กทม.น่าเป็นห่วงมากกว่าทุกจังหวัด (จำนวนผู้ป่วยต่อวัน ย้อนหลัง 5 วัน: 350 365 446 740 1,582) รพ.ของในกรุงเทพ มีหลายหน่วยงาน เช่น รพ.กทม. รพ.โรงเรียนแพทย์ รพ.กระทรวงสาธารณสุข รพ.หน่วยราชการอื่นเช่น ทหาร ตำรวจ รพ.เอกชน เเต่การที่กรุงเทพมหานครไม่ได้มีระบบบัญชาการรวมศูนย์เหมือนระบบของกระทรวงสาธารณสุขในต่างจังหวัด (สาธารณสุขจังหวัด) ซึ่งอาจทำให้การบริหารจัดการไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ยิ่งตอนนี้ มีประกาศของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ว่าถ้า รพ.แห่งใดตรวจ ตรวจหาการติดเชื้อ COVID เมื่อผลการตรวจเป็น “บวก” รพ.นั้นๆต้องรับผู้ป่วยไว้ ทำให้ รพ.ต่างๆโดยเฉพาะภาคเอกชนไม่ต้องการทำการช่วยตรวจ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วย หาที่ตรวจ Swab ไม่ได้ ทำให้อาจมีการแพร่เชื้อ และเมื่อผู้อาการหนัก ถึงไปหาหมอ หรือเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน

จากการหารือกับทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในกลุ่ม Better Bangkok เราเห็นว่าควรจะต้องมีการประสานงานศูนย์บัญชาการร่วมเพื่อมีการทำงานร่วมกันระหว่าง กทม. กระทรวงสาธารณสุข รพ.สังกัดโรงเรียนแพทย์ รพ.ของส่วนราชการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึง รพ.เอกชน เพื่อดำเนินการ

– 1. รวบรวมทรัพยากรที่มีเพื่อบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
– 2. ตั้งศูนย์ตรวจกลาง เพื่อตรวจเชื้อให้มากที่สุด
– 3. จัดสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับรองรับผู้ป่วย ผู้ป่วยที่อาการน้อยและยังไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล อาจให้อยู่ที่บ้าน (ถ้ามีความพร้อม) หรือสถานที่อื่นที่จัดเตรียมไว้เพื่อลดการแพร่เชื้อและลดภาระโรงพยาบาลและมีมาตรการในการติดตามที่เข้มงวดและพร้อมจะรับกลับมารักษาที่ รพ.และให้ยาที่เหมาะสม
– 4. วางแผนในการจัดตั้ง รพ.เฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เพื่อเป็นการช่วยผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาตัวใน รพ.ได้
– 5. ขอความร่วมมือ รพ.โรงเรียนแพทย์ รพ.สังกัดอื่นๆ และ รพ.เอกชน เพื่อบริหารจัดการการดูแลรักษาส่งต่อผู้ป่วยร่วมกันอย่างเป็นระบบ

ในกรุงเทพฯ เรามีทรัพยากรและบุคลากรด้านการแพทย์ที่เก่งและมีศักยภาพสูงอยู่มาก ขอเพียงให้มีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบก็จะสามารถพาพวกเราผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ ตอนนี้ทุกๆท่านปฏิบัติงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย

อย่าให้ต้องมากังวลเรื่องการบริหารจัดการหรือการขาดแคลนอุปกรณ์อีก ผู้รับผิดชอบต้องทุ่มเททรัพยากรที่มีมาช่วยสนับสนุนและร่วมมือกันอย่างเต็มที่ อย่าเอากฎระเบียบมาเป็นอุปสรรคในการทำงาน ขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขทุกๆท่าน และขอให้ท่านที่ป่วย รักษาตัวหายจากอาการ ปลอดภัยแข็งแรงดีไวๆนะครับ

เราต้องอย่าให้การสูญเสียคุณอัพ อาม่า และคนอื่นๆจากโควิดเป็นเรื่องสูญเปล่า อย่าให้เราต้องใช้ Social Media ในการขอรถพยาบาลหรือหาเตียง เราต้องเรียนรู้ พัฒนา ปรับปรุง เพื่อไม่ให้เรื่องที่ไม่น่าเกิดนี้เกิดขึ้นกับคนอื่นๆอีกในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน