ยันป่วยโควิดรักษา รพ.เอกชน ห้ามคิดเงิน ให้เรียกเก็บจาก สปสช. พร้อมเผย 4 สาเหตุที่ทำให้มีการเรียกเก็บ เร่งแก้ไขหมดแล้ว ย้ำไม่ต้องแจ้งค่าใช้จ่าย

วันที่ 10 พ.ค.64 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวในงานแถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ กรณีป่วยโควิด -19 รักษาฟรี แม้ไปโรงพยาบาลเอกชน ห้ามเรียกเก็บจากผู้ป่วย จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า สบส.ออกประกาศโรคโควิด 19 เป็นโรคฉุกเฉิน ตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 คล้ายกับโครงการยูเซป ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาล สถานพยาบาลทุกแห่งต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน

ส่วนค่าใช้จ่ายมีการประกาศ นำเข้า ครม. โดยให้เก็บจากหน่วยงานของรัฐ และกำหนดให้ สปสช.เป็นเคลียริงเฮาส์ประสานเรื่องนี้ ทำให้ผู้ป่วยรักษาโควิดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน และครอบคลุมค่าตรวจแล็บ นอนโรงพยาบาล การส่งต่อผู้ป่วย ไปจนถึงเรื่องอาการหลังฉีดวัคซีน หากมีภาวะแทรกซ้อนให้นอนรักษาในโรงพยาบาล โดยไม่คิดมูลค่า

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า โรคโควิดเป็นเหตุฉุกเฉิน ค่ารักษาพยาบาลจะไม่เรียกเก็บจากประชาชน ให้มาเก็บที่ สปสช. ซึ่งทำหน้าที่เป็นเคลียริงเฮาส์ โดยกรณีตรวจคัดกรองจะจ่ายจาก สปสช.โดยตรง ส่วนค่ารักษาพยาบาล สปสช.จะไปเรียกเก็บกับกองทุนต่างๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายได้ตกลงกับทางโรงพยาบาลแล้ว และได้ผ่าน ครม. จึงขอให้มั่นใจว่ารายการครอบคลุมทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง หากรายการใดไม่เกี่ยวข้อง ขอให้ทางโรงพยาบาลชี้แจงมาได้

สำหรับเหตุที่มีการเรียกเก็บจากประชาชนมีอยู่ 3-4 ประเด็น เท่าที่ตรวจสอบ คือ

1.โรงพยาบาลบอกว่า สปสช.จ่ายเงินช้า ขณะนี้ได้แก้ไขแล้ว โดยจากเดิมจ่ายเป็นเดือน ขณะนี้เหลือ 15 วัน

2.เบิกเกินกว่าราคาที่กำหนด ซึ่งจริงๆ มีการประกาศไว้ถึง 4 พันกว่ารายการ แต่บางครั้งที่โรงพยาบาลเรียกเก็บมา เรียกเก็บมาเกินกำหนด จึงต้องขอให้ทำตรงตามที่กำหนดไว้

3.เรียกเก็บเกินรายการที่ไม่มีในประกาศ ตรงนี้จะต้องพิจารณาขยายเพิ่มเติม โดยให้แจ้งมายังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

4.กติกาจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ แต่โรงพยาบาลอาจตามไม่ทัน เช่น การตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิดในกลุ่มเสี่ยง ในอดีตต้องเป็นกลุ่มที่มีอาการ แต่ปัจจุบันไม่ต้อง โดยระบุว่าให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ หมายความว่าหากแพทย์สั่งตรวจก็มีสิทธิเบิกกับ สปสช.ได้

ทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าว จึงคิดว่าเป็นเหตุให้มีการเรียกเก็บจากประชาชน แต่เมื่อแก้ไขแล้วน่าจะดีขึ้น

เมื่อถามว่ากรณีผู้ป่วยชายน้ำหนักมาก ใช้สิทธิบัตรทองโดยมีอาการเหนื่อย หอบไอ แต่ไม่มีโรคประจำตัว ไปตรวจโควิดครั้งที่ 2 ที่โรงพยาบาลเอกชน ปรากฏว่าติดเชื้อและต้องอยู่ไอซียู ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนแจ้งว่า มีค่าใช้จ่ายห้องไอซียู 5 หมื่นบาท ต้องทำอย่างไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตรงนี้อยู่ในเงื่อนไขรายการ เมื่อคนไข้ต้องเข้าไอซียู ไม่ต้องถูกเรียกเก็บ แต่โรงพยาบาลอาจแจ้งรายการค่าใช้จ่ายให้ทราบ แต่ยืนยันว่าไม่ต้องจ่าย เพราะท่านเป็นโควิด แม้อยู่ไอซียูก็ไม่ต้องจ่าย

ขณะที่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้ สบส.จะแจ้งไปยังโรงพยาบาลว่า ในกรณีผู้ป่วยโควิดไม่ต้องแจ้งค่าใช้จ่าย เพราะอาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าต้องจ่ายเงินเอง

เมื่อถามถึงกรณีที่ทำงานให้ไปตรวจโควิดก่อนเข้าทำงาน จะครอบคลุมการตรวจโควิดหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจกับบริษัทก่อน และต้องหารือกับแพทย์ว่า เงื่อนไขแบบนี้ต้องตรวจหรือไม่ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หากไม่ใช่ ก็ขอใบรับรองไปยื่นกับทางบริษัท จริงๆ ต้องเน้นว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่มากกว่า

เมื่อถามถึงกรณีโรงพยาบาลเอกชน บอกว่าค่าใช้จ่ายบางรายการ สปสช.จ่ายไม่เต็ม ทำให้ต้องเรียกเก็บประชาชน นพ.จเด็จ กล่าวว่า กรณีนี้คล้ายกับข่าวที่มีการเรียกเก็บจากผู้ป่วยกว่า 9 แสนบาท ซึ่งล่าสุด โรงพยาบาลชี้แจงว่าไม่ได้เรียกเก็บ แต่ส่วนหนึ่งไปเรียกเก็บกับประกันที่ผู้ป่วยมี อีกส่วนเรียกเก็บกับ สปสช.

ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลหนึ่งเรียกเก็บ สปสช.ประมาณกว่า 7 แสนบาท ซึ่งเป็นรายการที่กำหนดตรงตามรายการ 490 รายการ ซึ่งเบิกได้กว่า 5 แสนบาท จึงต้องมีการเจรจาตามที่ตกลง ซึ่งทำตามกติกา ส่วนอีกกลุ่มมีแสนกว่าบาท ไม่ได้มีในรายการที่เบิก ทาง สบส.จะพิจารณาและขยายรายการนี้เพื่อคืนให้รโรงพยาบาลหรือไม่

“ดังนั้น ที่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งบอกว่า สปสช.เบิกได้น้อย ได้ไม่เต็ม เพราะตามรายการไม่มี เป็นไปตามกติกาที่ตกลงกัน เราไม่ได้ไม่จ่ายหรือจ่ายน้อย แต่เนื่องจากเป็นราคาที่ตกลงกัน ซึ่งเคสนี้โรงพยาบาลยอมรับ และเข้าใจกติกา ขอย้ำว่าเราไม่ได้จ่ายในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เราจ่ายตามที่ตกลงกัน” เลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า หากท่านใดมีประกันสุขภาพจากเอกชน ทางโรงพยาบาลจะเรียกเก็บก่อน ที่เหลือจึงมาเรียกเก็บจาก สปสช. ซึ่งเป็นไปตาม ครม.

ด้านนพ.ธเรศ กล่าวว่า ในขั้นตอนทางกฎหมายเราพิจารณารายการที่จำเป็น หากมีรายการที่จำเป็นเพิ่ม เราก็จะทำเรื่องเสนอครม.อนุมัติ ยกตัวอย่าง สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเสนอเพิ่มรายการ 7-8 รายการ ก็จะเสนอให้ครม.พิจารณาต่อไป

เมื่อถามว่าผู้ป่วยที่ถูกเรียกเก็บเงินไปแล้วจะทำอย่างไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า สามารถร้องเรียนมาได้ ทาง สบส. สายด่วน 1426 ซึ่งทางอธิบดีจะดูแลให้ และดำเนินการให้โรงพยาบาลคืนเงินให้ผู้ป่วย ส่วน สปสช.ได้ประสานให้โรงพยาบาลคืนเงินและมาเก็บที่ สปสช. ดังนั้น ร้องเรียนได้ที่สายด่วน สบส. 1426 หรือสายด่วน สปสช. 1330 ต่อ 12 ตลอด 24 ชั่วโมง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน