หมอมิ้ง อัดรัฐบริหารโควิดล้มเหลวซ้ำซาก ทำไทยเผชิญ 4 วิกฤต กิตติรัตน์ ฉะคลังทำหนี้สาธารณะสูงชนเพดาน จี้เยียวยาภาคธุรกิจ ลดภาษีเพิ่มกำลังซื้อ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 ม.ค. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการจัดงานเสวนาออนไลน์เรื่อง การบริหารวิกฤตโควิด-19 และสภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทย นำโดยนางนลินี ทวีสิน ประธานคณะทำงานต่างประเทศ โดยมีแกนนำพรรค อาทิ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ ร่วมเสวนาผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมชม และผู้สื่อข่าวต่างประเทศตั้งคำถามกับผู้ร่วมเสวนาด้วย

นางนลินี กล่าวเปิดเสวนาว่า ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และมีความกังวลอย่างมาก 3 ประเด็นคือ 1.การจัดลำดับความสำคัญและประสิทธิภาพในการจัดการกับโรคระบาด 2.วิธีการจัดสรรและกระจายทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาและฟื้นฟูประเทศชาติ และ 3.ความโปร่งใสในการทำงานของรัฐบาล จึงจัดเสวนาครั้งนี้ขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาการบริหารจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล

ด้าน นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดปรากฏการณ์วิกฤตสองต่อ คือวิกฤตโควิด-19 และต่อด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ หลายประเทศผ่านไปได้เมื่อรัฐสามารถจัดหาและกระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันเวลา ดังนั้นมาตรการดำเนินการของรัฐบาลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ว่าจะนำประเทศผ่านวิกฤตไปได้หรือไม่ แต่สำหรับประเทศไทยแล้วอาจไม่ได้เผชิญแค่วิกฤตสองต่อ แต่ต้องเผชิญวิกฤตต่อที่ 3 คือวิกฤตรัฐบาลบริหารผิดพลาด เพราะไม่สามารถวางแผนควบคุมโรค และกระจายวัคซีนเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งนี้จะนำสู่วิกฤตต่อที่ 4 คือวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ เพราะประชาชนหมดความไว้วางใจ และหมดความเชื่อมั่นในรัฐบาลจากความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน จีดีพีมีอัตราการเติบโตที่ช้ากว่าหนี้สาธารณะแม้ก่อนการระบาดการว่างงานสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด จุดอ่อนของการคลังคือหนี้สาธารณะที่สูงจนเกือบชนเพดาน ฐานะการคลังอ่อนแอจนเสี่ยงเข้าสู่วงจรอุบาทว์ หากรัฐยังไม่สามารถควบคุมโรคระบาด และยังไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง เศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาฟื้นตัวอย่างน้อย 4 ปี ซึ่งเป็นเวลาหลังจากมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป และมีรัฐบาลใหม่ที่เข้าใจวิธีแก้ปัญหา

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยเสนอให้รัฐบาลคิดนอกกรอบ ไม่ยึดติดกับขนบธรรมเนียมเดิม ๆ เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างได้ผลทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีนโยบายการเงินการคลังที่เกื้อหนุนกัน กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การแก้ไขกฎระเบียบ และการแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน และ ภาครัฐ-ประชาชน

ส่วนที่ผู้ประกอบการรายย่อยกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะรัฐบาลไม่ได้นำประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง ดังจะเห็นได้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านที่กำลังอภิปรายอยู่ในสภาฯ ไม่ได้ใช้งบประมาณเพื่อแก้วิกฤตโควิดที่รากเหง้า สำหรับมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจรัฐบาลควรพิจารณาให้เงินกู้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ย เมื่อถึงมือภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยผู้รับภาระคือธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์แทนมาตรการทางการคลังที่กำลังอ่อนแอและไม่มีประสิทธิภาพอย่างในปัจจุบัน พร้อมลดภาระภาษีเพื่อให้ประชาชนมีกำลังจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แม้รัฐจะมีรายได้รวมลดลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน