ผู้นำฝ่ายค้าน อัด จัดงบประมาณ ปี 65 เหมือนอยู่คนละโลกกับ ปชช. กลาโหม กลับมากกว่า สาธารณสุข ไร้วิสัยทัศน์ ไม่เป็นมืออาชีพ จี้ “บิ๊กตู่” ลาออก คืนความสุขให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 31 พ.ค.เวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1ล้านล้านบาท วาระแรก

จากนั้นเวลา 11.30 น. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายเป็นคนแรก ว่า การจัดทำงบประมาณจำเป็นต้องแก้ไขวิกฤตของประเทศและประชาชนให้ได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันเป็นภาวะวิกฤตด้านความมั่นคงทางสุขภาพ เชื่อมโยงกับสถานการณ์เศรษฐกิจ แรงงาน และสวัสดิการในภาวะฉุกเฉิน การจัดสรรงบประมาณเพื่อตอบสนองและจัดการปัญหาหลายมิติ

ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณจำเป็นต้องมีความละเอียดอ่อน ครอบคลุม กระจายทรัพยากรทั่วถึงและเหมาะสม ต้องอาศัยบุคคลที่มีศักยภาพ เข้าใจปัญหา แต่เมื่อได้เห็นงบประมาณที่รัฐบาลนำเสนอเหมือนอยู่กันคนละโลกกับประชาชน เพราะความเป็นจริงที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือยุทธศาสตร์การจัดการภาวะวิกฤตเป็นหลักประกันสำคัญในการกำหนดงบประมาณ

เมื่อยุทธศาสตร์มีลักษณะแยกส่วน หน่วยงานแยกกันแบบต่างหน่วยต่างทำ และแย่งกันทำงานอย่างไม่ประสานกัน สะท้อนความล้มเหลวและความหละหลวมในการบริหาร วันนี้ประชาชนกำลังลำบากแต่รัฐบาลกลับวางแผนจัดงบประมาณราวกับประเทศอยู่ในสถานการณ์ปกติ

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า การรับมือโควิด-19 ช่วงต้นปี 2563 รัฐบาลปลาบปลื้มความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดได้ดี แต่กลับมองไม่เห็นความเดือดร้อนจากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะด้านบริการ การท่องเที่ยว ธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่ใส่ใจรับฟังเสียงขอความช่วยเหลือ แก้ปัญหาล่าช้า จนเกิดการระบาดระลอก 2 และระลอก 3 และสิ่งที่ประชาชนได้รับรู้

คือความไม่พร้อมของรัฐบาลเรื่องการวางแผนจัดเตรียมวัคซีน ความผิดพลาดนี้ทำประเทศมีวัคซีนที่จำกัด การระบาดรุนแรงมากขึ้น เกิดปรากฏการณ์วัคซีนไม่พอ มาไม่ทันกำหนด ไม่มีคำอธิบายใดๆให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ เป็นความผิดพลาดที่เพิ่มความสับสน ความกลัวและความวิตกกังวลจากข้อมูลโดยรัฐ

นายสมพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า การกระจายวัคซีนที่ไม่หลากหลาย ไม่รวดเร็ว ไม่ทั่วถึง ไม่ทันการณ์ เป็นปัญหาที่สะท้อนถึงการไร้ศักยภาพการบริหารจัดการของผู้นำที่ขาดวิสัยทัศน์ ไม่มีแผนการรับมืออย่างเป็นระบบ ไม่เคยมี แผนทางเลือกเชิงอนาคต การบริหารเศรษฐกิจประเทศ ล้มเหลวไม่เป็นท่า การบริหารประเทศของรัฐบาล ภายใต้การนำของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้มีคนตกงานในระบบประกันสังคมสูงที่สุด อัตราการว่างงานทะยานขึ้นอย่างน่ากังวล คนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุด เศรษฐกิจเสียหายกว่า 1 ล้านล้านบาท และเศรษฐกิจประเทศมีแนวโน้มจะจมดิ่งต่อไป

นายสมพงษ์ กล่าวว่า สำหรับร่างงบฯที่รัฐบาลนำเสนอไม่อาจจะยอมรับให้ผ่านได้ใน 4 ประเด็น คือ 1.เป็นแผนงบประมาณที่ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ไม่ตรงเป้า ไม่บรรเทาความเดือดร้อน ไม่ลดความรุนแรงของปัญหา และที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือจัดงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหมมากที่สุด ซึ่งมากกว่าของกระทรวงสาธารณสุขเกือบ 5 หมื่นล้านบาท โดยงบ 65 กระทรวงสาธารณสุข ถูกปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ถึงกว่า 4 พันล้านบาท

2.ไม่คำนึงถึงปัญหาทุกข์ร้อนของประชาชน ไม่แยแสทุกข์ของประชาชน ไม่เห็นประชาชนอยู่ในสายตา ในสภาวะของประเทศที่ต้องการสวัสดิการเพื่อดูแลชีวิตของประชาชน แต่งบประมาณของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กลับถูกตัดลดลงไปอย่างมาก ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ใจดำกับประชาชน ไม่ได้วางแผนจัดงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาทุกข์ร้อนของประชาชนให้เหมาะสมกับสถานการณ์วิกฤตที่ ประชาชนทุกคนกำลังเผชิญอยู่

3.ไม่มีวิสัยทัศน์ ขาดการคิดวางแผนงบประมาณในการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเตรียมตัวให้ประเทศออกจากวิกฤต เช่น การเตรียมจัดงบที่สนับสนุนการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล การดูแลและฟื้นฟูงบประมาณให้ส่งเสริมกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี อีกทั้งการสนับสนุนการฟื้นฟูกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจภาคบริการต่างๆ ล้วนเป็นธุรกิจที่กระทบกระเทือนจาก การระบาดของโควิด

4.สะท้อนถึงความอ่อนด้อยด้านการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่น ไม่ทำให้เกิดความมั่นใจว่า จะก้าวพ้นวิกฤตในอนาคตได้ จัดงบประมาณ ปี 65 แบบชนเพดานทุกมิติ กระดิกตัวไม่ได้อีกแล้ว กู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มก็ไม่ได้อีกแล้ว เศรษฐกิจพัง ธุรกิจล่มสลาย เก็บภาษีได้น้อย ไม่รู้จักวิธีหาเงินเข้าประเทศ รู้จักแต่วิธีการกู้เพื่อนำมาใช้แบบไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ก่อให้เกิดการหมุนของวงรอบทางเศรษฐกิจ

“การจัดงบประมาณเช่นนี้ ด้วยวิธีคิดที่ขาดยุทธศาสตร์ จะทำให้จีดีพีของประเทศตกต่ำลง การจัดเก็บภาษีปี 65 จะพลาดเป้ารุนแรงเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่อง และจะเรื้อรังไปถึง ปี 66 จนไม่มีทางแก้ นอกจากจะออก พ.ร.ก.กู้เงินจำนวนมากอยู่ร่ำไป ภาวะดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นจนกระทั่งงบประมาณในอนาคตติดกับดัก ไม่มีทางออก แผนงบประมาณของประเทศที่ถูกจัดขึ้นอย่างไร้ยุทธศาสตร์ ผมไม่อาจยอมรับให้ผ่านสภาได้ ประเทศ ท่านต้องทำสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการและเรียกร้อง ต้องเสียสละตนเอง คืนความสุขกลับมาให้ประชาชนด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “นายสมพงษ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน