ก้าวไกล กระตุก ส.ส. อย่าหนุนแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับ พปชร. ต่ออายุระบอบ คสช.-ส.ว. ยันทางออกวิกฤต ต้องทำประชามติ-ปิดสวิตซ์ ส.ว. มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2564 ที่พรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าวถึงท่าทีต่อการแก้รัฐธรรมนูญ นายชัยธวัช กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคพลังประชารัฐ คือการต่ออายุระบอบ คสช. ซึ่งวิกฤตของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 คือฉบับของคสช.ที่ออกแบบระบบการเมืองให้มีการเลือกตั้งบังหน้า แล้วสร้างกลไกต่างๆ โดยเฉพาะการให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ที่มาจากการคัดสรรของคสช.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อสืบทอดอำนาจของการรัฐประหารส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ของการเลือกตั้งได้ โดยขัดแย้งกับเสียงและเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการกลับสู่ประชาธิปไตย

“วิกฤตรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำให้สังคมเรียกร้องต้องการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน แต่ที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาลของระบอบประยุทธ์ได้เตะถ่วง และขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) และการแก้ไขประเด็นอื่นๆ ทั้งที่เสนอโดย ส.ส.และประชาชนมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันกลับมาแสดงบทบาทนำในการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเสียเอง ”

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า พรรคก้าวไกลมีความเห็นต่อข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐดังนี้ 1. การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งครอบคลุมหลายประเด็น หลายมาตรา แม้จะมีเนื้อหาปีกย่อยบางส่วนดูเหมือนจะดี เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน

แต่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นเพียงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราให้เกิดความสับสน ปะผุให้แก่รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. แล้วเบี่ยงประเด็นออกจากปัญหาใจกลางของวิกฤตรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้แก่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 60 ให้ประชาชนจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เอง และการยกเลิกอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร

2.ท่ามกลางข้อเสนอแก้ไขรายมาตราเป้าหมายที่แท้จริงของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับพลังประชารัฐมีเพียงมี 2 ประการ คือประการแรกแก้ไขระบบเลือกตั้งซึ่งคสช. เชื่อมั่นว่าการเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งจะเป็นขนมล่อให้นักเลือกตั้งสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ และหากเปลี่ยนไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนานได้ดี โดยมีส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 400 คน และลดส.ส.บัญชีรายชื่อลงเหลือ 100 คนนั้น จะทำให้พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบในการเลือกตั้ง ซึ่งง่ายต่อการเอาชนะโดยอาศัยอำนาจรัฐ และเครือข่ายอิทธิพล รวมถึงอำนาจทุน ประกอบกับไม่ต้องนำเสียงของประชาชนทุกเสียงมาคำนวณจำนวนส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค นั่นเท่ากับเสียงของประชาชนตกน้ำ และเป็นเสียงที่ไม่มีความหมาย

ส่วนประการที่สอง คือการเสนอแก้บทบัญญัติมาตรา 144 โดยยกเลิกเนื้อหาความรับผิดชอบของส.ส. และส.ว.ที่พยายามแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขรายการพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย และการเสนอบทบัญญัติมาตรา 185 โดยกเลิกเหตุแห่งความรับผิดของส.ส. และส.ว.ที่กระทำการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของเจ้าหน้าที่รัฐและการเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณยังเปิดช่องให้ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลสามารถเข้าไปเบียดบังงบประมานจากภาษีของประชาชนนำมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนได้

3.การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีเป้าหมายที่แท้จริงอยู่ที่การเบี่ยงเบนประเด็นออกจากการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ยกเลิกอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกฯ และเปิดช่องให้ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเข้าไปเบียดบังนำงบประมาณของประเทศมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองได้นั้น จึงเป็นเพียงการต่ออายุให้แก่ระบอบคสช. ด้วยเหตุนี้พรรคก้าวไกลจึงขอเรียกร้องไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพรรคการเมืองทั้งหลายอย่าได้ร่วมสังฆกรรมกับละครแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งไม่ได้นำประเทศออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญ และไม่ได้นำไปสู่การคืนอำนาจให้ประชาชน

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคนั้นเราขอเรียกร้องให้ส.ส.และพรรคการเมืองทั้งหลายหันกลับมาสู่แนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยเริ่มต้นจากการผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติผ่านการพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็ว จากนั้นก็ผลักดันให้เกิดการลงประชามติขอความเห็นชอบของประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับคสช. และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ไม่มีการจำกัดอำนาจสูงสุดของประชาชน

ดังนั้น พรรคก้าวไกลขอคัดค้านหากจะมีการตกลงกันให้เตะถ่วงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติที่ค้างอยู่แล้วเลื่อนวาระการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรามาพิจารณาในการประชุมร่วมของรัฐสภา ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนนี้ การเปิดทางไปสู่การทำประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องมาก่อนการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ในการแก้ไขในรายมาตราพรรคก้าวไกลมุ่งเน้นไปสู่การปิดสวิตช์ส.ว.ยกเลิกอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกฯเป็นอันดับแรก การไปร่วมเล่นเกมที่ส.ส.พรรคพลังประชารัฐนำมาล่อโดยไม่สามารถยกเลิกอำนาจของส.ว.ในการเลือกนายกฯย่อมมีความหมายเพียงการต่ออายุพล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า การยกเลิกอำนาจของส.ว.เป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้การผลักดันให้มีการทำประชามติไป และการผลักดันให้เกิดการลงประชามติก่อนที่จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้มีการจัดตั้งส.ส.ร.นั้นจะเป็นหลักประกัน แต่หากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นภายในเร็วๆ นี้ อย่าลืมว่าถ้าเราผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีส.ส.ร.ก่อน โดยที่ยังไม่มีการจัดทำประชามติอันดับแรกก็ต้องถูกทักท้วง หรือถูกคว่ำโดยอ้างว่าต้องไปทำประชามติก่อน และต่อให้ผ่านไปได้ก็จะใช้กระบวนการ หรือใช้เวลาพอสมควรซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็อาจจะคว่ำไป

แต่ถ้ามีการผลักดันให้ทำประชามติก่อนแล้วมีกฎหมายรองรับไปแล้วเสนอให้รัฐบาลทำประชามติได้สำเร็จ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นยุบสภาเราก็อาจจะลงประชามติพร้อมกับการจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้ หรือหากรัฐบาลลาออก ก็จะมีรัฐบาลที่มาทำหน้าที่ชั่วคราวก็สามารถจัดทำประชามติได้

“ตอนนี้มีกระแสข่าวว่าอาจจะมีการเสนอให้การประชุมร่วมของรัฐสภาที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นวันที่ 22 มิ.ย. หรือวันที่ 29 มิ.ย.เป็นการประชุมวาระพิเศษ โดยยกเอาวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายมาตราขึ้นมาพิจารณาก่อนแทนที่จะพิจารณาวาระที่ค้างอยู่คือร่างพ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งเรื่องนี้พรรคเรายอมรับไม่ได้ ถือว่าเป็นการสมคบคิดกันหากพรรคการเมืองฝ่ายไหนก็แล้วแต่ไปยอมตกลงที่จะเปลี่ยนวาระการประชุมถือว่าเป็นการสมคบคิดเพื่อหลอกลวงประชาชน ทั้งนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีการประชุมกันในวันพรุ่งนี้พรรคก้าวไกลก็จะนำเรื่องดังกล่าวนี้เข้าสู่ที่ประชุมด้วย” นายชัยธวัช กล่าว

ด้านนายรังสิมันต์ กล่าวว่า เรื่องที่เราจะยื่นร่างในวาระที่หนึ่งนั้นจะต้องใช้เสียงของส.ส. 1 ใน 3 เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะเพียงทางฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาลต่อให้ยื่นไปก็ต้องใช้เสียงของส.ว.นี่ก็จะยิ่งเป็นจุดสะท้อนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา และทำไมเราจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงและแก้ไขเฉพาะจุด และยังกลับไปยังการเลือกตั้งที่ประชาชนไม่ได้มีสิทธิเลือกส.ว.เลยสักคน นั่นมันยิ่งสะท้อนของปัญหาของรัฐธรรมนูญ นั่นคือความจำเป็นว่าทำไมพรรคเราพยายามหาทางออกได้ซึ่งการกลับไปสู่ทางออกคือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญ

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า พรรคเราไม่คิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่ทำอยู่เป็นการแก้วิกฤตที่เกิดขึ้น ซึ่งวิกฤตของเรามีหลายอย่างทั้งที่มาของส.ว. ปัญหาองค์กรอิสระ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้เรามาสู่วิกฤตปัจจุบัน เช่น การแก้รัฐธรรมนูญเพียงเพื่อแก้ระบบเลือกตั้งมันไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

ดังนั้น แบบนี้เป็นแค่การแก้เป็นเพียงการสมคบคิดกันเพื่อทำลายเสียงของประชาชน ทำให้เสียงของประชาชนตกน้ำ ก็หวังว่ากระบวนการดังกล่าวจะถูกหยุดเราในฐานะผู้แทนราษฎร และพรรคการเมืองที่ยืนหยัดมาโดยตลอดในการต่อสู้เพื่อประชาชนเรามีหน้าที่ที่จะหยุดกระบวนการนี้ และหวังว่าเราจะใช้กระบวนการของรัฐสภาเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน