สุทิน ถาม ส.ว.กลัวอะไร หลังบอกรับแต่ร่าง พปชร. ชี้ไม่ให้เกียรติประชาชน ไม่ยึดหลักการ แต่ยึดหน้าคน แนะควรรับหลักการวาระแรก ก่อนลงประชามติ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 17 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีส.ว.บางคนออกมาระบุว่าจะรับพิจารณาเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมของพรรคพลังประชารัฐว่า ตนต้องถามกลับไปที่ส.ว.ว่าคิดทบทวนดีหรือยัง และเหตุผลคืออะไรช่วยอธิบายสังคมด้วย เพราะร่างของพรรคพลังประชารัฐและร่างของฝ่ายค้านมีข้อเหมือนกันเกือบทุกอย่าง

โดยเฉพาะระบบเลือกตั้ง รวมถึงหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็มีเหมือนกัน ถามว่าเมื่อเหมือนกันแล้วแยกไปรับร่างของพรรคพลังประชารัฐมีเหตุผลอะไร แสดงว่าไม่ได้ยึดหลักการแต่ยึดหน้าคนและยึดฝ่าย เพราะเป็นเรื่องเดียวกันแต่เลือกที่จะรับ

ส่วนร่างหนึ่งของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่แตกต่างจากพรรคพลังประชารัฐคือเสนอการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. และร่างนี้เป็นร่างเดิมจากที่เคยยื่นครั้งที่ผ่านมา ซึ่งส.ว. และส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็เคยรับหลักการร่างนี้ที่เราร่วมคิดกันมา คือเมื่อรับหลักการแล้วในชั้นแปรญัตติทางส.ว.ก็ร่วมแปรญัตติและเห็นชอบในวาระที่ 2 เรียบร้อย วันนี้พรรคฝ่ายค้านจึงนำสาระของวาระที่ 2 นั้นมายื่นอกีครั้ง ซึ่งท่านเคยเห็นชอบมาก่อนแล้ววันนี้ไม่เห็นชอบ ขอให้ตอบสังคมด้วยว่าเพราะอะไร

นายสุทิน กล่าวต่อว่า วันนั้นส.ว.บอกเองว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ต้องไปทำประชามติและตำหนิเราว่าไม่ถามประชาชนก่อน ดังนั้นวันนี้เรากำลังเข้าสู่กระบวนการถามประชาชนนั้นคือการเสนอร่างเข้าสภาฯในชั้นรับหลักการวาระที่ 1 จากนั้นก็จะไปทำประชามติตามที่ส.ว. รัฐบาล และศาลแนะนำ ดังนั้นจะมาปฏิเสธก่อนถามประชาชนได้อย่างไร ทำไมไม่ปล่อยให้ร่างนี้ให้ประชาชนได้ลงประชามติว่าจะแก้ไขหรือไม่ ถ้าท่านไม่รับหลักการก็ถือว่าปิดโอกาสประชาชน

ซึ่งขอให้รับหลักการก่อนแล้วส่งไปให้ประชาชนตัดสิน หรือส.ว.กลัวเสียงประชาธิปไตย เพราะถ้าประชาชนไม่ให้ผ่านมันก็ไม่ได้แก้ แสดงว่าท่านกลัวประชาชน แต่ถ้าไม่กลัวก็ขอให้รับและทำประชามติ ส่วนร่างอื่นๆที่เสนอก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจส.ว. และมีดีกับประชาชนทั้งนั้น ยืนยันว่าเราไม่ได้แก้เพื่อตัวเอง หากส.ว.มีธงในใจแล้วก็บอกมาตรงๆ และการพูดแบบนี้เกรงใจไม่ให้เกียรติประชาชน คนเราต้องมีความอายระดับหนึ่ง

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เข้าใจว่าคนที่พูดเป็นส.ว.คนหนึ่งที่มีวิธีคิดแบบนั้น ไม่ใช่แนวคิดของส.ว.ทั้งหมด 250 คน ส่วนเขาจะมีอำนาจบารมีหรือไม่ตนไม่รู้ แต่ส่วนตัวยังมั่นใจลึกๆว่า ส.ว.หลายคนที่มาจากการสรรหา จะตัดสินใจอะไรต้องยึดความต้องการของประชาชนเป็นหลัก เพราะพวกท่านถือเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเหมือนกัน

ดังนั้น โอกาสที่จะผ่านความเห็นชอบทั้ง 14 ร่าง คงต้องดูข้อเท็จจริงว่าเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองหรือไม่ ทั้งนี้ตนยังมั่นใจด้วยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 จะได้รับโอกาส ขอแค่รัฐสภามีมติเห็นควรให้เอาไปทำประชามติถามประชาชนก่อน เท่านี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

“หลายเรื่องที่เราเสนอไม่กระทบส.ว. และการที่เราจะเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามภายใต้รัฐธรรมนูญเดิม เราจะยังหนีวงจรอุบาทว์ไม่พ้น ดังนั้นอะไรที่ไม่ดีในรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าแก้ได้ก็ควรต้องแก้” นพ.ชลน่าน กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน